หลังจากที่ฟินแลนด์และสวีเดนประกาศเจตนาเดินหน้าเข้าร่วม NATO อย่างเป็นทางการ โดยได้ผ่านมติรัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศแล้ว หลายฝ่ายก็จับตาว่ารัสเซียจะตอบโต้อย่างไร เพราะถ้าการสมัครสมาชิกได้รับการอนุมัติ ก็จะทำให้ NATO มีขอบเขตประชิดถึงพรมแดนรัสเซียเลยทีเดียว
เมื่อวานนี้ (16 พ.ค. 2565) ก็ปรากฏว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO) ซึ่งมีหน้าที่คล้ายๆ กับ NATO และประกอบไปด้วยสมาชิกประเทศสมาชิกที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต 6 ประเทศ
น่าสังเกตว่า ท่าทีของปูตินมีความแข็งกร้าวที่ลดลง ถึงขั้นบอกว่า ‘ไม่มีปัญหา’ หากฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วม NATO “สำหรับการขยายตัว [ของ NATO] รวมถึงการที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วม รัสเซียไม่มีปัญหากับประเทศเหล่านั้น ไม่มีเลย ในแง่นี้ การขยายตัวโดยรับประเทศเหล่านั้นเข้าเป็นสมาชิก ไม่ถือว่าเป็นภัยโดยตรงกับเรา”
อย่างไรก็ดี แม้การเข้าเป็นสมาชิกเพียงอย่างเดียวจะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเริ่มมีการขยาย ‘โครงสร้างทางทหาร’ เข้าไปในประเทศเหล่านั้น ปูตินถือว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียทันที “ถ้ามีการขยายโครงสร้างทางทหารเข้าไปในดินแดนเหล่านั้น แน่นอนว่าเราต้องตอบสนอง จะเป็นการตอบสนองอะไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเห็นถึงภัยคุกคามอะไรบ้างที่ถูกสร้างมาให้กับเรา”
อันที่จริง เรื่องการไม่ขยายโครงสร้างทางทหารนี้ก็สอดคล้องกับความต้องการของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Socialdemokraterna) ของสวีเดน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ที่เผยว่า จะพยายามไม่ให้มีการตั้งฐานทัพหรือเคลื่อนอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาในดินแดนของสวีเดน รวมถึงฟินแลนด์ก็คาดกันว่าต้องการในแบบเดียวกันด้วย
ในที่ประชุม CSTO ปูตินยังวิพากษ์วิจารณ์การขยายตัวของ NATO ว่าเป็นปัญหาหลอกๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ “โดยทั่วไป NATO กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือการต่างประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่ง”
เขายังย้ำว่า “ทั้งหมดนี้จะทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงของโลกที่ยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก”
หนังสือพิมพ์ The Financial Times ชี้ว่า การขยายตัวของ NATO มายังฟินแลนด์และสวีเดน เป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ในแง่นี้ถือว่าปูตินเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หลังจากที่เคยอ้างว่าจะบุกยูเครนเพื่อป้องกันการขยายตัวของ NATO มาทางตะวันออก
การบอกว่ารัสเซีย ‘ไม่มีปัญหา’ กับกรณีฟินแลนด์และสวีเดน ยกเว้นว่าจะมีการขยายโครงสร้างทางทหารนั้น จึงถือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัสเซียทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เสียเปรียบไปมากกว่านี้
เพราะรัสเซียไม่ได้อยู่ตำแหน่งที่จะ ‘ก่อสงครามเพิ่มอีกที่’ ได้อีกต่อไป ในความเห็นของซามูเอล ชารัป นักรัฐศาสตร์อาวุโสจาก Rand Corporation
อ้างอิงจาก
https://www.ft.com/content/b3f29756-06e1-443d-8364-bd98c7cd19d4