นับจากวันที่เครื่องบินโจมตีทางอากาศของรัสเซียทิ้งระเบิดลงมายังใจกลางเมืองใหญ่ในยูเครน ก็ถือเป็นการเปิดฉาก ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง
“เราอยู่ในปี 2022 แล้ว เราได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ จากสงครามโลกครั้งที่ 2 .. มันยากที่จะเข้าใจได้ว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษของเรา” เสียงของหนึ่งในผู้ประท้วงที่มาร่วมการชุมนุมต่อต้านรัสเซีย ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ นับตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียรุกรานยูเครน ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี
แต่การรุกรานไม่ได้จบลงแค่ในวันสองวัน ตลอด 6 เดือนมานี้ เราได้ยินทั้งข่าวครอบครัวต้องพลักพรากจากกัน การฆ่าสังหารหมู่พลเรือน การประท้วงของผู้ที่ต่อต้านสงครามและการรุกรานของรัสเซีย การแย่งชิงพื้นที่ต่างๆ ในยูเครน การระเบิดคลังแสง ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ไปจนถึงการเจรจาสันติภาพ
The MATTER เลยอยากพาทุกคนมาร่วมย้อนดูไทม์ไลน์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อให้เห็นว่าตลอดครึ่งปีที่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิรบนี้ มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง
24 กุมภาพันธ์ จุดเริ่มต้นของสงคราม เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน
เวลา 06.00 น. ตามเวลารัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียได้ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ ในพื้นที่ดอนบาสของยูเครน ถือเป็นการเปิดฉากบุกโจมตียูเครนที่นำมาสู่สงครามยาวนาน 6 เดือน ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากประเทศ ขณะที่อีกส่วนก็ต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้
หลังการบุกโจมตีนี้ ทำให้นานาชาติออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของดังกล่าว สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินเลือกสงครามที่จะนำมาสู่ความสูญเสียและความทุกข์ทรมานของผู้คน จะมีเพียงรัสเซียเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบต่อความตายและหายนะที่มาจากการโจมตี
ขณะเดียวกัน จีน ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกจับตามองว่าจะมีทีท่าอย่างไรกับสงครามนี้ ซึ่งในวันเดียวกันนี้เอง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ออกมากล่าวว่า จีนจับตามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และจีนขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นและป้องกันไม่ให้สถานการณ์นี้ลุกลามออกไปจนเกินควบคุม
ส่วนไทยนั้น สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของไทย ประจำสหประชาชาติ ออกมาแถลงว่า ไทยสนับสนุนจุดยืนในการหาทางออกที่สันติ ผ่านกรอบเจรจาที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลต่อผลลัพธ์ด้านมนุษยธรรมที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ด้วย
28 กุมภาพันธ์ รัสเซีย-ยูเครน เจรจาสันติภาพครั้งแรก
คณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนได้มาเจรจากัน ในภูมิภาคโกเมลของเบลารุส บริเวณชายแดนเบลารุสและยูเครน แต่การพูดคุยนี้ก็จบลงโดยปราศจากข้อสรุป แม้จะมีการประกาศหยุดยิงชั่วคราว และรัสเซียเปิดทางให้ประชาชนลี้ภัยออกไปได้ แต่พอการเจรจายังไม่เป็นผล ก็ทำให้สงครามครั้งนี้ไม่สิ้นสุดลงเสียที
2 มีนาคม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติรับร่างประณามรัสเซีย
ประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ร่วมใจกันลงมติรับร่างประณามรัสเซียในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 ด้วยมติเห็นด้วย 141 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 35 เสียง จากทั้งหมด 193 ประเทศ โดยไทยเป็น 1 ใน 141 ที่เห็นด้วย ซึ่งการลงมติในสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งนี้ ใช้หลักการออกเสียง 2 ใน 3 และไม่มีประเทศใดมีสิทธิยับยั้ง ขณะที่ 5 ประเทศที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทรีย และรัสเซีย
4 มีนาคม รัสเซียออกกฎหมายเฟคนิวส์
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ลงนามบังคับใช้กฎหมายห้ามการนำเสนอข่าวปลอม หรือข่าวที่มีเนื้อหา ‘ผิดๆ’ เกี่ยวกับกองทัพรัสเซียและปฏิบัติการทางทหารในยูเครน มีโทษจำคุก 5-10 ปี และถ้าข่าวปลอมดังกล่าว ‘ส่งผลกระทบร้ายแรง’ จะมีโทษจำคุกถึง 10-15 ปี การออกกฎหมายนี้ทำให้สื่อตะวันตกหลายเจ้าในรัสเซียต้องระงับการออกอากาศในรัสเซีย โดยบอกว่า กฎหมายดังกล่าวขัดขวางการทำงานของสื่อ ขณะเดียวกัน รัสเซียยังปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่ผู้ใช้บางคนก็ไม่สามารถเข้าถึงทวิตเตอร์ได้
เหตุการณ์นี้ทำให้ มารินา ออฟไซยานิโควา บรรณาธิการและโปรดิวเซอร์ของช่อง Channel One ช่องทีวีของรัฐบาลรัสเซีย ชูป้ายข้อความระหว่างออกอากาศเพื่อประท้วงต่อการทำสงครามในยูเครน โดยป้ายนี้มีข้อความเขียนเอาไว้ว่า “หยุดสงคราม อย่าเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อ ที่ตรงนี้พวกเขากำลังโกหกคุณ”
9 มีนาคม รัสเซียทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลเด็กในเมืองมาริอูโปล
นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนเริ่มต้นขึ้น กองทัพรัสเซียก็พยายามบุกโจมตีเมืองมาริอูโปลมาตลอด เมืองแห่งนี้ถูกตัดน้ำตัดไฟและผู้คนเริ่มขาดอาหาร จนสถานการณ์น่าเป็นกังวล ท่ามกลางการเจรจาสงบศึกครั้งที่ 3 ของสองประเทศในวันที่ 5 มีนาคม
แต่แล้ว ในวันที่ 9 มีนาคม หลังจากการเจรจาสันติภาพไม่เป็นผล กองทัพอากาศรัสเซียก็ได้ทิ้งระเบิดลงมาใส่โรงพยาบาลเด็กในเมืองแห่งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นระบุว่า มีผู้คนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 3 ราย หนึ่งในนั้นมีหญิงตั้งครรภ์ที่สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้องด้วย (ภาพของเธอก่อนสิ้นใจ ถูกเผยแพร่ให้เห็นว่า เธอได้รับบาดเจ็บหนัก และเจ้าหน้าที่ช่วยกันหามเปลพาเธอไปยังที่ปลอดภัย) แม้ทางการรัสเซียจะออกมาบอกว่า โรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีคนอยู่ แต่ฟุตเทจจากสื่อก็สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำกล่าวของรัสเซีย
12 มีนาคม สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ตัดธนาคารของรัสเซียออกจาก SWIFT
เพื่อเพิ่มแรงกกดดันต่อรัฐเสีย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ประกาศตัดธนาคาร 7 แห่งของรัสเซียออกตากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12มีนาคมที่ผ่านมา และผลของการตัดรัสเซียออกจากระบบนี้ ก็ทำให้บริษัทต่างๆ ของรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างทันทีทันใดอย่างที่เคยเป็น อีกทั้ง การจ่ายเงินในผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรและพลังงานของรัสเซียก็จะเจอผลกระทบหนักไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและเสียเวลาไปกับการติดต่อธนาคารแต่ละแห่งโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียมีรายได้ลดลง
19 มีนาคม รัสเซียประกาศใช้ขีปนาวุธเหนือเสียง โจมตียูเครนเป็นครั้งแรก
ขีปนาวุธเหนือเสียง หรือ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกช์ เป็นอีกหนึ่งยุทโธปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ในสงครามนี้ ชื่อของอาวุธดังกล่าว คือ ‘Kinzhal’ ซึ่งมีความหมายว่า กริช และถูกออกแบบมาเพื่อให้บินด้วยความเร็วที่มากกว่าความเร็วเสียงถึง 5 เท่า อาวุธนี้ถูกใช้ไปแล้วในการโจมตีคลังแสงทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครน โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียได้ใช้ขีปนาวุธเหนือเสียงนิดใหม่ในการโจมตียูเครน ถือเป็นครั้งแรกที่อาวุธนี้ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้
1 เมษายน ยูเครนยึดคืนพื้นที่ในเขต Bucha พบศพพลเรือนถูกสังหาร 410 ศพ
ยูเครนประกาศว่ายึดคืนพื้นที่ในเขตบูชา (Bucha) ใกล้เคียงกับกรุงเคียฟ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกกองทัพรัสเซียยึดพื้นที่เอาไว้ และเมื่อกองทัพยูเครนยึดพื้นที่ได้ ก็เริ่มมีภาพหลักฐานการสังหารพลเรือนปรากฏให้เห็น โดยอัยการสูงสุดของยูเครน ซึ่งเข้าไปตรวจสอบกรณีอาชญากรรมสงคราม เปิดเผยว่า พบศพในเมืองรอบๆ กรุงเคียฟเป็นจำนวน 410 ศพ ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองบูชาระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 300 คน พร้อมกับภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นร่างของประชาชนในเมืองที่นอนเรียงรายสิ้นใจอยู่กลางถนน นำมาสู่คำประณามจากทั่วโลกว่า นี่คืออาชญากรรมสงครามที่ไม่อาจให้อภัยได้
16 เมษายน รัสเซียประกาศห้าม บอริส จอห์นสัน เข้าประเทศ
ท่ามกลางการสนับสนุนยูเครนของชาติยุโรป สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในชาติที่เรียกได้ว่าออกเด่นกว่าหลายๆ ประเทศ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร เป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนยูเครนมาโดยตลอด ทั้งการแสดงออกด้วยการไปพบปะโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน และการจัดฝึกอบรมให้กับกองกำลังทหารยูเครน สร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซีย จนทำให้กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียสั่งห้ามนายกฯ อังกฤษและนักการเมืองอาวุโสอีก 13 คน เข้าประเทศรัสเซีย
23 มิถุนายน ยูเครนได้สถานะ ‘ผู้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป’ แล้ว
ก่อนจะเกิดการรุกราน ยูเครนต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิสหภาพยุโรปมาตลอด ซึ่งหลังจากสงครามดำเนินมาได้เกือบ 3 เดือน ในที่สุดยูเครนก็ได้สถานะ ‘ผู้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป’ แล้ว แม้จะยังต้องใช้เวลาตามกระบวนการอีกหลายปี และยังไม่การันตีว่าจะได้เป็นสมาชิกตามที่ยูเครนหวัง แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการเข้าร่วมสมาชิสหภาพยุโรปแล้ว
2 กรกฎาคม ยูเครนระบุว่ารัสเซียทิ้งระเบิดฟอสฟอรัส อาวุธต้องห้ามต่อพลเรือน ลงบนเกาะงู
ผู้บัญชาการกองทัพยูเครน เปิดเผยว่า เครื่องบินขับไล่ SU-30 ของรัสเซีย 2 ลำ ทิ้งระเบิดฟอสฟอรัส ลงมาบนเกาะงู ทะเลดำ ในระหว่างที่บินข้ามจากคาบสมุทรไครเมีย พร้อมแนบคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาตามที่อ้างว่ามีการทิ้งระเบิดด้วย ซึ่งระเบิดฟอสฟอรัสถือเป็นอาวุธที่ห้ามใช้กับพลเรือนตามอนุสัญญาเจนีวา
ขณะเดียวกัน การระเบิดครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่รัสเซียถอนกำลังรักษาการณ์ออกจากเกาะงูไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเกาะงู ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหาร และเป็นสถานที่ที่ยูเครนใช้อ้างอิงในการกำหนดอาณาเขตทางทะเล
27 กรกฎาคม รัสเซียตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป
วิกฤตค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ล้วนมีส่วนเกี่ยวเนื่องมาจากสงครามนี้เช่นกัน ซึ่งหลังจากที่รัสเซียถูกหลายๆ ชาติประณามและร่วมกันคว่ำบาตรแล้ว รัสเซียก็ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติยุโรปด้วยการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป ทำให้ยุโรปเผชิญวิกฤตพลังงานและทำให้ราคาพลังงานสำหรับภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ขณะที่ คลอส มัวเลอร์ (Nord Stream) หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลเครือข่ายของเยอรมนี กล่าวว่า ก๊าซเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของรัสเซียและอาจเป็นกลยุทธ์ในการทำสงครามของรัสเซีย
8 สิงหาคม รัสเซียตั้งฐานทัพที่โรงงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
อีกหนึ่งสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เมื่อรัสเซียเข้ายึดซาโปริเซีย (Zaporizhzhia) โรงงานนิวเคลียร์ในยูเครน และเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป การสู้รบในครั้งนี้ทำให้หลายคนกังวลว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างโรงไฟฟ้าอาจปะทุเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ และอาจเลวร้ายกว่าเมื่อครั้งที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 1986
นอกจากนี้ ยังมีรายงานเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาด้วยว่า รัสเซียได้สั่งห้ามพนักงานของโรงงานนิวเคลียร์แห่งนี้ มาทำงานในวันที่ 19 สิงหาคม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า รัสเซียอาจจะก่อเหตุบางอย่างที่โรงงานซาโปริเซียก็เป็นได้
9 สิงหาคม เกิดเหตุระเบิดฐานทัพอากาศของรัสเซียบนคาบสมุทรไครเมีย
แม้ตอนแรกกระทรวงกลาโหมของรัสเซียจะออกมายืนยันว่า ฐานทัพอากาศของรัสเซียที่คาบสมุทรไครเมียไม่ได้ถูกโจมตี แต่หลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างหนัก โดยกองทัพอากาศรัสเซียสูญเสียเครื่องบินรบไปอย่างน้อย 9ลำ รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของกองทัพอากาศรัสเซีย นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
สถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงน่าเป็นกังวล ซึ่งตอนนี้ มีชาวยูเครนที่ถูกทำให้พลัดจากถิ่นไปแล้วอย่างน้อย 12 ล้านคน ตามการคาดการณ์ของ UN โดย 6.2 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยออกนอกยูเครนไปแล้ว ขณะที่อีก 6.3 ล้านคน ต้องจากบ้านตัวเอง แล้วไปหาที่หลบภัยในบริเวณอื่น ในประเทศยูเครน
ขณะเดียวกัน ที่รัสเซียเองก็มีการปราบปรามคนเห็นต่างอย่างหนัก ประชาชนหลายคนที่ออกมาประท้วงต้านสงครามและปูตินถูกจับกุมไปอย่างน้อย 2,000 กว่าคน พร้อมกับที่การปิดกั้นสื่อยังคงดำเนินต่อไปในรัสเซีย
และเมื่อการเจรจาสันติภาพยังไม่สำเร็จ ภาวะสงครามนี้ก็คงไม่อาจจะสงบลงในเร็ววัน
อ้างอิงจาก