“ถ้าบูรณภาพแห่งดินแดนของเราตกอยู่ในอันตราย แน่นอนว่า เราจะใช้เครื่องมือทุกวิถีทางที่อยู่ในมือ เพื่อปกป้องรัสเซียและประชาชนของเรา นี่ไม่ใช่การบลัฟ และใครก็ตามที่พยายามแบล็กเมล์เราด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ก็ควรรับรู้ไว้ด้วยว่า กระแสลมอาจจะไหลย้อน และเวียนกลับไปหาพวกเขาได้เช่นกัน” ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าว
เวลาล่วงเลยมาเกินครึ่งปี โลกอยู่กับสงครามในยูเครนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่แม้ยุทโธปกรณ์จะมีความล้ำหน้าเพียงใด เราก็น่าจะยังพอบอกได้ว่า ‘สงครามนิวเคลียร์’ ยังคงเป็นเพียงความไปได้หนึ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น – แต่ความเป็นไปได้นั้นก็ไม่เคยหายไปไหน
“มนุษยชาติ อยู่ใกล้กับการทำลายล้างด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพียงแค่ความเข้าใจผิดครั้งเดียว การคำนวณที่ผิดพลาดครั้งเดียวเท่านั้น” อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกโรงเตือน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในขณะที่สงครามในยูเครนยังร้อนระอุ และอาวุธนิวเคลียร์ยังถูกเก็บสะสมอย่างแพร่หลายในคลังแสงของหลายประเทศ
และความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ในยูเครน ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงหนักขึ้นอีกครั้ง ภายหลังพัฒนาการระลอกล่าสุดของสงคราม ถึงขนาดที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องออกมาตอกย้ำว่า “เราไม่เคยต้องเผชิญกับโอกาสที่จะเกิดวันโลกาวินาศ (Armageddon) มาตั้งแต่สมัยของ [จอห์น เอฟ.] เคนเนดี และวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) แล้ว”
หรือปุ่มกดสั่งยิงนิวเคลียร์จะเข้าใกล้หยิบมือปูตินขึ้นอีกหนึ่งคืบ?
The MATTER พูดคุยกับ จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สหรัฐฯ เพื่อทำความเข้าใจถึงนิยามและเงื่อนไขของ ‘สงครามนิวเคลียร์’ พร้อมทั้งเจาะลึกถึงบริบทของสงครามยูเครนปัจจุบัน เพื่อตอบคำถามว่า ความเป็นไปได้อันน่าสะพรึงนี้ จะมีโอกาสเกิดได้มากน้อยแค่ไหนกัน
‘สงครามนิวเคลียร์’ คืออะไรกันแน่
จริงๆ มันก็ไม่มีคำนิยามตรงๆ ว่าคำว่าสงครามนิวเคลียร์หมายถึงอะไร แต่โดยทั่วไป คำนี้มักใช้เรียกความขัดแย้งที่รัฐคู่ขัดแย้ง หรือตัวแสดงคู่ขัดแย้ง ยิงอาวุธนิวเคลียร์ปะทะกันหรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อสู้กันโดยตรง
หากมองจากความหมายนี้ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะไม่ใช่สงครามนิวเคลียร์ และก็อาจจะเรียกได้ว่าโลกเรายังไม่เคยมีสงครามนิวเคลียร์จริงๆ เรายังไม่เคยเจอการปะทะระหว่างรัฐที่ยิงอาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้กัน แม้ว่าเราเคยอยู่ในสงครามที่มีความตึงเครียดมากที่อาจนำไปสู่กับการแลกเปลี่ยนอาวุธนิวเคลียร์กัน อย่างเช่นช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา
เงื่อนไขหรือปัจจัยอะไร จะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ได้บ้าง
เริ่มง่ายๆ ว่าสงครามนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยก็ต้องมีการเริ่มยิงนิวเคลียร์ก่อน เราอาจจะแบ่งสาเหตุในการเกิดการยิงอาวุธนิวเคลียร์แบบง่ายๆ เป็น 2 แบบ แบบแรกคือการยิงอาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดจากความตั้งใจ อีกแบบคือเกิดจากอุบัติเหตุหรือความผิดพลาด
เริ่มด้วยการยิงนิวเคลียร์ที่เกิดจากความตั้งใจ งานวิชาการส่วนใหญ่จะโฟกัสศึกษาในแบบนี้ เรามักจะมองว่าสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ใช้อาวุธตามแบบทั่วไปหรือสงครามนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่รัฐหรือตัวแสดงทำเพื่อบรรลุเป้าประสงค์บางอย่าง
หากมองผ่านมุมมองนี้ สงครามนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นก็คือเมื่อรัฐนั้นๆ มองว่าการยิงอาวุธนิวเคลียร์คุ้มค่ากับสิ่งที่รัฐต้องการ ความยากของการเกิดสงครามนิวเคลียร์ก็คือ ราคาของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่รัฐจะต้องจ่ายนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะสำหรับรัฐที่เริ่มต้นใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน เพราะเป็นพฤติกรรมที่ประเทศต่างๆ ไม่ยอมรับและผิดศีลธรรม
ดังนั้น สงครามนิวเคลียร์ โดยเฉพาะหากมองความเป็นไปได้จากฝ่ายที่เริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน มักเกิดขึ้นจากการที่รัฐไม่สามารถใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐได้แล้ว และเป้าหมายที่รัฐต้องการบรรลุนั้นอาจคุ้มกับราคาความเสี่ยงที่รัฐต้องจ่ายกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ การโต้กลับจากอีกรัฐนึงก็ตั้งอยู่บนตรรกะเดียวกัน
นอกจากนี้ นักวิชาการบางคนก็มองว่าการเริ่มยิงนิวเคลียร์อาจเกิดจากอุบัติเหตุเช่นเกิดจากระบบผิดพลาด และยกระดับความตึงเครียดและนำไปสู่การโต้กลับนิวเคลียร์จากรัฐอื่น อย่างไรก็ดี เรามองว่า scenario นี้ยังเป็นไปได้ต่ำอยู่ รัฐต่างๆ ก็พยายามดูแลระบบบัญชาการและควบคุม (command and control) ของระบบอาวุธนิวเคลียร์เพราะกลัวการเกิดอุบัติเหตุแบบนี้
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของปูติน เช่น การระดมพล 300,000 นาย, การผนวก 4 ดินแดน และการยิงขีปนาวุธเพื่อตอบโต้เหตุระเบิดสะพานเชื่อมไครเมีย-รัสเซีย สะท้อนข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของรัสเซียในตอนนี้อย่างไร
การผนวก 4 ดินแดนอาจทำให้คนที่สนับสนุนปูตินและสงครามอยู่แล้วในประเทศได้กำลังใจขึ้นมาบ้าง จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวรัสเซียในช่วงสงคราม พบว่าคนรัสเซียจำนวนมากหดหู่ (depressed) กับการที่ต้องอยู่ในประเทศที่กำลังทำสงครามยาวนาน ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นแม้กระทั่งกับคนที่สนับสนุนปูตินและสนับสนุนสงครามด้วย
อย่างไรก็ดี คนที่สนับสนุนปูตินและสนับสนุนสงครามเหล่านี้มักเป็นคนอายุมาก และมักไม่ได้มีผลโดยตรงกับการสู้รบหรือทหารในพื้นที่สงคราม ปัญหาเรื่องการไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มรุ่นใหม่นี้ ยังส่งผลต่อการระดมพลเพิ่ม 300,000 คนของรัสเซีย คนที่จะเป็นกองกำลังส่วนใหญ่กลับไม่ได้สนับสนุนหรือมีจิตใจจะทำสงครามด้วยตั้งแต่ต้น ซึ่งท้ายสุดแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดการระดมคนได้อย่างจำกัดหรือกองกำลังพลที่ได้มาอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรบ
หากมองในแง่การหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ การระดมกองกำลังทหารอาจถือว่าเป็นสัญญาณดี การที่ปูตินระดมพลทหารเพิ่มเติมหรือกระทั่งล่าสุดที่ปูตินยิงขีปนาวุธโต้กลับการระเบิดสะพานเชื่อมไครเมีย-รัสเซียสะท้อนให้เห็นว่าปูตินยังเน้นการใช้การรบตามแบบด้วยกองกำลังทางทหารเป็นวิธีหลักเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน แทนที่จะหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจนักว่าการรบตามรูปแบบจะสามารถเกิดขึ้นได้อีกนานแค่ไหน เนื่องจากกองกำลังของรัสเซียในการสมรภูมิยูเครนมีปัญหาทั้งในแง่ขวัญกำลังใจในการรบของทหาร ระบบการขนส่ง และยุทธวิธีในการรบ
รัสเซียจะกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงหรือ
ในกรณีความขัดแย้งในยูเครน เราพบว่าทั้งชาติตะวันตกและรัสเซียก็พยายามไม่ทำอะไรที่จะอาจมองได้ว่าจะข้ามเส้นกันและกัน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งยกระดับ ยกตัวอย่างเช่น รัสเซียสามารถสั่งโจมตีเส้นทางการขนส่งของช่วยเหลือหรืออาวุธต่างๆ จาก NATO สู่ยูเครนได้ไม่ยาก แต่รัสเซียก็ยังไม่ทำ หรือชาติตะวันตกก็ยังจำกัดความช่วยเหลือทางอ้อมเท่านั้นและยังไม่ส่งทหารมาช่วยในการรบ
ปรากฎการณ์นี้นักวิชาการเรียกว่า stability-instability paradox ที่รัฐที่มีนิวเคลียร์ในครอบครองพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำใดที่อาจจะเพิ่มความตึงเครียดระหว่างกัน เพราะเกรงว่าความขัดแย้งอาจยกระดับไปสู่สงครามนิวเคลียร์ ผลของความกลัวที่จะเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทำให้รัฐเหล่านี้ไม่เผชิญหน้ากันโดยตรง แต่ยังคงข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งในระดับความตึงเครียดต่ำ
อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่จะรัสเซียอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์มีเพิ่มขึ้นในเดือนที่แล้ว เมื่อปูตินประกาศย้ำอีกครั้งเรื่องการไม่ลังเลที่จะใช้นิวเคลียร์หลังจากที่กองกำลังของรัสเซียอ่อนแอถอยร่นจากการโจมตีกลับของยูเครน
นักวิชาการความมั่นคงหลายคนวิเคราะห์ว่า หากปูตินไม่สามารถชนะด้วยการสู้รบตามแบบได้ และปูตินก็ยอมแพ้ไม่ได้ด้วยเหตุผลเรื่องการอยู่รอดทางการเมือง ปูตินอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อบีบให้ประเทศตะวันตกบีบยูเครนตกลงในข้อเจรจาที่รัสเซียต้องการ
แม้ว่าเราเองคิดว่ายังเป็นไปได้ยาก แต่หากมีการใช้จริง ประเภทอาวุธนิวเคลียร์ที่ปูตินอาจจะใช้น่าจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) ซึ่งไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธศาสตร์ (strategic nuclear weapons) ที่ถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว อาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธีจะมีอานุภาพระเบิดน้อยกว่า มีความทำลายล้างอยู่ในวงจำกัด ยิงได้ในพิสัยสั้นกว่า และมีผลจากสารกัมมันตภาพรังสีที่คงค้างอยู่หลังระเบิดน้อยกว่า
ถ้ารัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ฝั่งรัสเซียต้องกังวลบ้าง
หากรัสเซียพิจารณาจะใช้อาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธีจริง ตัวอย่างของประเด็นที่รัสเซียอาจจะต้องกังวลเพิ่มเติม ก็คือ
- เป้าหมายของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ จะส่งผลต่อทั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและมีผลกับอำนาจเจรจาต่อรองที่รัสเซียคาดหวัง ยกตัวอย่างเช่น หากรัสเซียยิงอาวุธนิวเคลียร์เหนือทะเลดำ ในแง่นี้รัสเซียสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่อาจได้อำนาจในการเจรจาต่อรองจากชาติตะวันตกไม่มากนักเพราะอาจถูกมองว่ารัสเซียไม่ได้ ‘กล้าจริง’ แต่ถ้าเป้าหมายคือเมืองหนึ่งในยูเครนที่มีผู้คนอาศัยจำนวนมาก ประเทศต่างๆ อาจเชื่อว่ารัสเซีย ‘เอาจริง’ แต่ผลเสียหายต่อพลเรือนจำนวนมากอาจเป็นที่รับไม่ได้และถูกตอบโต้อย่างหนักจากนานาชาติ
- ความขัดแย้งอาจยกระดับความตึงเครียดหลังการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แทนที่การใช้อาวุธนิวเคลียร์จะสามารถบีบบังคับตะวันตกให้บีบยูเครนยอมรับข้อเสนอของปูติน นานาชาติโดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันตกอาจตอบโต้ด้วยการเข้าสงครามกับปูตินเต็มตัวเนื่องจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าจะเป็นประเภทยุทธวิธี ก็ถือว่าเป็นการละเมิดข้อต้องห้ามระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ (nuclear taboo) อยู่ดี
- แนวโน้มที่รัสเซียจะสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แม้ว่าถ้าปูตินเกิดเปิดไฟเขียวให้ยิงอาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธีได้ แต่เป็นไปได้สูงที่ประเทศตะวันตกสามารถรู้ก่อนล่วงหน้า และอาจช่วยสกัดกั้นการยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ก่อนที่รัสเซียจะใช้อาวุธได้สำเร็จ ไม่ว่าจะผ่านการเปิดเผยข้อมูลให้นานาชาติช่วยกดดัน หรือจะผ่านการสกัดกั้นทางทหาร
ถ้ามีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ ความเสียหายจะเป็นอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง
ในแง่ความเสียหาย เราคิดว่าเป็นการยากที่จะคาดเดาได้ในตอนนี้ เพราะความเสียหายจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการโจมตีและพลังระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ที่เลือกใช้ ในแง่เป้าหมายของการโจมตีเรายังไม่รู้ว่าปูตินจะเลือกทางเลือกใด หากโจมตีเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนก็จะเสียหายหนักต่อพลเรือน ในขณะที่ถ้าเลือกยิงเหนือทะเลดำก็อาจไม่เกิดความเสียหายใดๆ ในเชิงกายภาพอย่างมีนัยสำคัญ
ในแง่พลังระเบิด เราก็ยังไม่รู้ว่าปูตินจะเลือกพลังระเบิดในระดับไหน พลังระเบิดส่งผลกับวงกว้างของความเสียหายโดยตรง รวมถึงยังส่งผลต่อการตกค้างของสารกัมมันตภาพรังสีหลังมีการยิงเกิดขึ้น
ความ tricky ของคำว่าอาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธีก็คือ คำดังกล่าวเป็นการใช้เรียกอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้ยิงในระยะพิสัยสั้น ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสนามรบ แต่คำนี้ไม่ได้ระบุอะไรเกี่ยวกับพลังทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ จริงๆ แล้ว หัวรบอาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกพัฒนาในการยิงพิสัยใกล้ในปัจจุบันนั้น สามารถมีขนาดตั้งแต่ 0.1 ถึง 50 กิโลตัน อาจกล่าวได้ว่า พลังทำลายล้างอาจมากกว่านิวเคลียร์แบบยุทธศาสตร์ที่เราใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิน 2 เท่าเสียอีก
ในแง่ผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ เราคิดว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดในสงคราม และในความระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปมากขึ้น การใช้อาวุธนิวเคลียร์มีแนวโน้มที่จะดึงชาติ NATO เข้ารบโดยตรงในสงคราม และยังทำให้สมาชิก NATO กลับมาแน่นแฟ้นขึ้นมาอีกครั้ง
เทรนด์นี้เกิดตั้งแต่การเริ่มสงครามในยูเครน ก่อนหน้าการเกิดสงคราม NATO มีปัญหาหลายอย่าง หลายประเทศเริ่มมองว่า NATO ไม่สำคัญเท่าไหร่นัก และตัดงบสนับสนุน แต่หลังจากเกิดสงครามในยูเครน หลายประเทศ NATO กลับมาให้ความสำคัญกับ NATO อีกครั้งรวมถึงเพิ่มงบประมาณให้ด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิก NATO แน่นแฟ้นขึ้นไปอีกถ้ารัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง
อย่างไรก็ดี ผลของการละเมิดปทัสถานเรื่องการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นอาจยังไม่แน่นอนนัก การใช้อาวุธนิวเคลียร์นำมาสู่กระแสเรียกร้องให้เกิดการปลดและการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น หรืออาจทำให้หลายประเทศที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตนมากขึ้น ทั้งนี้ คงขึ้นอยู่กับผลของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียว่าสำเร็จมากน้อยเพียงใด
เหตุใดโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ถึงสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง ผลประโยชน์ของประเทศเหล่านี้คืออะไรในการให้ความช่วยเหลือยูเครน
เราอาจเริ่มจากการดูข้อความที่ประธานาธิบดีไบเดนออกมาประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ในสถานการณ์ยูเครนผ่านงานเขียนของเขาลง The New York Times จากข้อความหลักนั้น ไบเดนกล่าวว่าเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ ก็คือต้องการสนับสนุนการป้องกันเขตแดน สนับสนุนประชาธิปไตย และสนับสนุนโลกเสรี (Free World)
นักนโยบายด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็ให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางคล้ายกันโดยมีข้อกังวลหลักอยู่ที่เรื่องการไม่รุกรานอาณาเขต (norms against territorial conquest) ที่รัสเซียละเมิด พวกเขามองว่าหากรัสเซียชนะศึกในครั้งนี้และไม่ได้รับการลงโทษใดๆ อาจทำให้การรุกรานอาณาเขตระหว่างรัฐเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
ในช่วงหลังๆ มานี้ ผู้นำตะวันตกเริ่มอธิบายว่าการช่วยยูเครนคือภารกิจที่ช่วย ‘ปลดปล่อยอาณานิคม’ ของรัสเซีย พวกเขาไม่เพียงต้องการหยุดรัสเซียจากการบุกยูเครน หรือกดดันให้ปูตินออกจากอำนาจ แต่พวกเขายังเสนอให้ชนกลุ่มน้อยในรัสเซียได้รับการยอมรับเป็นรัฐอิสระ
ซึ่งหากเรื่องการสนับสนุนประชาธิปไตย โลกเสรี และการ ‘ปลดปล่อยอาณานิคม’ ของรัสเซีย เป็นเหตุผลหลักๆ ของการช่วยเหลือยูเครนจริง นักวิชาการหลายคนต่างเป็นกังวลกับนโยบายสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกในอนาคต
ทั้งนี้ งานวิชาการจำนวนมากชี้ไปในทางเดียวกันว่าการแทรกแซงทางการทหารเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองของรัฐอื่นโดยตรงมักไม่ได้ผล หรือกระทั่งส่งผลแย่ ส่วนการรับรองให้ชนกลุ่มน้อยกลายเป็นรัฐอิสระนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบัน แต่อาจจะยังเพิ่มความขัดแย้งในอนาคต เพราะชนกลุ่มน้อยในรัสเซียหลายกลุ่มไม่ได้ต้องการแยกการปกครอง เพียงแค่ต้องการมีอิสระมากขึ้นในเชิงภาษาและวัฒนธรรมเท่านั้น
นอกจากเหตุผลในเชิงอุดมการณ์ข้างต้นแล้ว นักนโยบายด้านความมั่นคงบางคนก็ยอมรับอย่างชัดเจนว่าสำหรับสหรัฐฯ และ NATO แล้ว รัสเซียคือเป็นภัยคุกคามที่น่าเกรงขาม (“a formidable threat”) ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการบุกยูเครน หากมองในมุมนี้ก็ไม่น่าตกใจเท่าใดนักที่สหรัฐฯ และตะวันตกจะสนับสนุนยูเครนซึ่งเป็นรัฐที่ทำสงครามกับภัยคุกคามของพวกเขา
อีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิชาการพูดถึงกันโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของสงครามก็คือ การช่วยเหลือยูเครนเป็นการส่งสัญญาณให้จีนรู้ว่า ถ้าบุกไต้หวันแล้ว โลกตะวันตกจะไม่นิ่งดูดายและจะช่วยเหลือรัฐพันธมิตรอย่างไต้หวันเช่นกัน
ถ้ามีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ปฏิกิริยาของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร การตอบโต้แบบไหนถึงจะมีความเสียหายน้อยที่สุด ทั้งกับสหรัฐฯ และรัสเซีย
แหล่งอ้างอิงหนึ่ง ที่น่าสนใจในการตอบคำถามนี้ก็คือ ผลของ war games ที่นักนโยบายของสหรัฐฯ เคยเล่นไว้ในอดีต war games ในที่นี้ คือการใช้โปรแกรมจำลองสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นและให้นักนโยบายจริงลอง ‘เล่น’ ตัดสินใจตอบโต้ในเหตุการณ์ หลังจากนั้นโปรแกรมจะแสดงผลลัพธ์ท้ายสุดออกมา ผลของ war games ที่เล่นจริงโดยนักนโยบายส่วนใหญ่มักปกปิดเป็นความลับ
อย่างไรก็ดี ในหนังสือชื่อ The Bomb ได้เปิดเผยการตัดสินใจของทีมความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโอบามา จากการเล่น war game หนึ่งในปี 2016 เกมนั้นคือการจำลองสถานการณ์ที่รัสเซียบุกหนึ่งในประเทศสมาชิก NATO ในบอลติก และรัสเซียได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุทธวิธีโจมตีทหารของ NATO เพื่อกดดันให้เกิดการจบสงครามโดยที่รัสเซียมีอำนาจต่อรองมากกว่า ทีมความมั่นคงถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม และที่น่าสนใจคือผลการตัดสินใจของแต่ละกลุ่มนั้นต่างกันมาก
กลุ่มแรก ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากคณะรัฐมนตรีและคณะเสนาธิการร่วม เห็นพ้องต้องกันว่าสหรัฐฯ ควรตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และมองว่าการตอบโต้แบบอื่นจะทำให้สหรัฐฯ ดูว่าไม่ได้ ‘เอาจริง’ เท่าที่ควร ซึ่งจะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลดลงและยังทำให้ความเข้มแข็งของพันธมิตรใน NATO ลดลงด้วย
สำหรับเป้าหมายในการโจมตี นักความมั่นคงในทีมนี้โหวตให้เบลารุส ซึ่งไม่ใช่ประเทศสมาชิก NATO และไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียในพันธมิตร NATO แต่แค่เป็นพันธมิตรกับรัสเซียเท่านั้น พวกเขามองว่าทางเลือกนี้คือทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในเขตของรัสเซียโดยตรง อาจทำให้ความขัดแย้งยกระดับไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้ และการโจมตีกองกำลังของรัสเซียในประเทศสมาชิกของ NATO ก็เสี่ยงที่จะคร่าชีวิตพลเรือนของประเทศของประเทศพันธมิตร
แต่นักความมั่นคงอีกทีมหนึ่ง มองว่าการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงของสหรัฐฯ เพราะนั่นหมายถึงสหรัฐฯ ยอมสละหลักการสูงสุดที่สหรัฐฯ ควรจะยึดถือไว้ พวกเขามองว่าสหรัฐฯ ควรเลือกใช้วิธีอื่นในการโต้ตอบเช่นการทำสงครามตามแบบ และพยายามสนับสนุนให้นานาชาติร่วมประณามรัสเซียในยอมใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการละเมิดปทัสถานข้อต้องห้ามในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (nuclear taboo)
กลับมาที่คำถาม เราคิดว่าการตอบโต้แบบกลุ่มที่สองน่าจะเป็นการตอบโต้ที่พยายามลดระดับความตึงเครียดได้ดีที่สุด คือพยายามหาวิธีการโต้ตอบที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าจริงๆ แล้วเราเห็นตรรกะแนวคิดแบบกลุ่มแรกในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หลายครั้ง เช่น ในช่วงสงครามเวียดนาม
อย่างไรก็ดี เราคิดว่าเรายังพอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะผู้เล่นในกลุ่มที่สอง บางคนก็มีตำแหน่งหลักด้านความมั่นคงภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน อย่างเช่น แอฟริล เฮนส์ (Avril Haines) ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ
ระเบียบโลกตอนนี้ ในระหว่างที่เกิดสงครามในยูเครน ถือว่ากลับสู่ระเบียบแบบสองขั้วอำนาจ (bipolarity เช่นการแบ่งโลกเสรี-โลกคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น) หรือยัง
เราคิดว่าเวลาที่เราจะคุยกันเรื่องระเบียบโลกและขั้วอำนาจในระเบียบโลกนั้นๆ เราอาจจะต้องคุยกันก่อนว่าระเบียบโลกที่เราพูดถึงกันคือระเบียบโลกในด้านไหน แบ่งแบบง่ายๆ อาจจะเป็นระเบียบโลกในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง วัฒนธรรม เป็นต้น เพราะการที่เป็นผู้นำในระเบียบโลกในด้านหนึ่งอาจไม่ได้เป็นผู้นำอีกด้านก็ได้
แต่ถ้าในแง่ด้านความมั่นคงหรืออำนาจทางการทหาร เราคิดว่าระเบียบโลกก็ยังไม่ใช่สองขั้วอำนาจ (bipolar) ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก แม้ว่าพันธมิตรประเทศตะวันตกจะแน่นแฟ้นมากขึ้นหลักการบุกของรัสเซียอย่างที่เราพูดไปแล้ว
เพราะจีนก็อาจถือได้ว่าเป็นอีกประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางทหารเช่นกัน อย่าลืมว่าเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ไต้หวัน หรือช่วงที่มีประเด็น AUKUS [สนธิสัญญาสามฝ่าย ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ] เพื่อปรามจีนเมื่อปีที่แล้ว หลายคนก็พยายามหาคำตอบว่าโลกของเรากำลังอยู่ในระเบียบสองขั้วอำนาจอีกครั้งรึเปล่า ทั้งนี้ เราคิดว่าจีนเองก็ยังไม่ได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายใดอย่างชัดเจนในด้านความมั่นคง รวมถึงในวิกฤตการณ์ยูเครนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอินเดียที่มีความเข้มแข็งทางด้านทหารและยังมีนิวเคลียร์ในครอบครอง เราคิดว่า ในแง่ความมั่นคงทั่วไป อินเดียมีปัญหากับจีนในเรื่องเขตแดนหลายส่วน แต่ก็ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายไหนอย่างชัดเจน
จริงอยู่ที่อินเดียได้รับความช่วยเหลือทางการทหารทางอ้อมหลายครั้งจากสหรัฐฯ และยังเป็นสมาชิกของ Quad ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย แต่ Quad เป็นเวทีเจรจาและไม่ใช่พันธมิตรทางทหารเหมือน NATO และอินเดียเองก็พึ่งพาเรื่องอาวุธจากรัสเซียอย่างมากเช่นกัน แม้ว่าล่าสุด ผู้นำอินเดียพูดอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนสงครามในประเด็นยูเครน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอินเดียจะสนับสนุนทางการทหารต่อประเทศตะวันตกเพียงใดหากความขัดแย้งยกระดับไปมากกว่านี้
‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ สำหรับตอนนี้ มีความเป็นไปได้ไหม
ถ้าสงครามโลกหมายถึงสงครามที่มีรัฐมหาอำนาจเป็นคู่ขัดแย้งหลักและต่อสู้เผชิญหน้ากันโดยตรงแบบที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 เรามองว่าคงยังไม่เป็นแบบนั้น
เรายังเชื่อว่าอาวุธนิวเคลียร์ยังคงจะช่วยป้องปรามให้รัฐมหาอำนาจ ซึ่งต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง พยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามโดยตรง หรือหากต้องมีการปะทะกันจริงๆ รัฐนิวเคลียร์ก็คงพยายามหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงของความขัดแย้ง