การประท้วงหยุดงานโดยสมาคมนักเขียน นักแสดง และศิลปินที่ทำงานด้านภาพยนตร์และวิทยุโทรทัศน์ (SAG-AFTRA) ยังคงร้อนระอุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมการประท้วงยังคงดำเนินอยู่และถ้าเป็นอย่างนี้ไปอีกสักพักจะเกิดอะไรขึ้นกับฮอลลีวูด?
วันนี้ The MATTER จึงขอชวนทุกคนมาคลี่คลายปมการประท้วงในครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน
เล่าก่อนว่า การนัดหยุดงานพร้อมกันโดยนักแสดงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการฮอลลีวูดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1960 หรือในสมัยที่ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เป็นประธาน SAG โดยในขณะนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของวงการนี้ แต่ฝันร้ายนี้กลับมาอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 60 กว่าปี
อย่างไรก็ดี การประท้วงในครั้งนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การหารือเกี่ยวกับสัญญาฉบับใหม่ระหว่างสมาคมกับบริษัทสื่อต่างๆ ล้มเหลว ส่งผลให้นักแสดงจำนวนมากเข้ามาเสริมทัพกับเหล่านักเขียนที่ประท้วงมาก่อนหน้าหลายเดือน ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ พวกเขาได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม
ซึ่งทำให้ในขณะนี้อุตสาหกรรมฮอลลีวูดอันยักษ์ใหญ่เข้าสู่ภาวะตึงเครียดอย่างสมบูรณ์ เพราะการถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องต้องหยุดชะงักลง
และก่อนหน้านี้บริษัทอย่าง วอลต์ดิสนีย์ (Walt Disney Co.), พาราเมาต์โกลบอล (Paramount Global) และวอร์เนอร์บราเธอส์ดิสคัฟเวอรี (Warner Bros. Discovery) เพิ่งเผชิญกับภาระหนี้สินจำนวนมาก เนื่องจาก COVID-19 และการทุ่มงบเพื่อสร้างบริการสตรีมมิ่ง
“การนัดหยุดงานเป็นเวลานานมีแต่จะทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง” ไมเคิล นาธานสัน (Michael Nathanson) นักวิเคราะห์ด้านสื่อกล่าว
เขาเสริมว่า “เรากำลังดูสงครามชนชั้น ..มันกลายเป็นมากกว่าแค่ข้อตกลงในการทำงาน แต่ยังรวมถึงสถานะภาพทางสังคมและความเป็นธรรมอีกด้วย ตอนนี้ชนชั้นแรงงานกำลังส่งความโกรธเกรี้ยวต่อผู้บริหารสตูดิโอทั้งหลาย”
เนื่องจากผู้ประท้วงไม่ได้แค่ต้องการเรียกร้อง ‘ค่าแรงที่เป็นธรรม’ เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ผู้มีอำนาจในวงการฮอลลีวูดเห็นคุณค่าของ ‘งาน’ และ ‘พวกเขา’ ผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงาน โจนาธาน แทปลิน (Jonathan Taplin) อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ระบุถึงประเด็นนี้ว่า
“ตลอดที่ผ่านมา ผู้คนกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในสักวันหนึ่ง ซึ่งในตอนนี้มันเกิดขึ้นจริงแล้ว” เพราะบริษัทหลายแห่งพยายามลดพนักงานและใช้เทคโนโลยีแทนเพื่อลดต้นทุน อย่างการสร้างฉากหรือตัวประกอบ ซึ่งในปีนี้ดิสนีย์ได้ลดพนักงานเกือบ 7,000 ตำแหน่งเพื่อประหยัดเงิน 5.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.9 แสนล้านบาท)
ทว่านับตั้งแต่การหยุดงานประท้วงของนักเขียนที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้หุ้นของดิสนีย์ร่วงลง 13%, พาราเมาต์ตกลงมากกว่า 30% และวอร์เนอร์บราเธอส์ลดลงเกือบ 7% แต่หุ้นของ Netflix กลับพุ่งขึ้น 36% เพราะเป็นสตรีมมิ่งที่มีนโยบายในการร่วมสร้างผลงานกับหลายๆ บริษัททั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายการออกอากาศ เช่น ABC, CBS, NBC และ Fox คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการนัดหยุดงานประท้วง เพราะเป็นสื่อที่ต้องพึ่งพารายการที่ถ่ายทอดสดมากที่สุด โดยมีผู้คนคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่รายการจากช่องเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าการเรียกร้องไม่จบลงภายในเดือนตุลาคมนี้
แต่ผู้บริหารของบริษัทบางส่วนกลับแสดงความคิดเห็นว่า “ธุรกิจของพวกเราไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะต้นทุนลดลง (พนักงานน้อยลง) และยังมีโฆษณาช่วยอยู่ เท่ากับว่าเรากลับได้รับผลกำไรที่สูงขึ้น แต่แค่ในระยะสั้นๆ”
ดังนั้นการที่นักแสดงออกมาร่วมประท้วงด้วยจะช่วยดันเสียงของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น “ภาพยนตร์และซีรีส์ไม่สามารถดำเนินต่อได้ ถ้าไม่มีนักแสดง ..การนัดหยุดงานของนักแสดงจะทำให้ผู้เขียนได้รับประโยชน์มากขึ้น” นัลส์ เบกลีย์ (Neil Begley) รองประธานอาวุโสของมูดีส์อินเวสเตอส์เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) กล่าว
ทั้งนี้ มีคนเปรียบการประท้วงหยุดงานในครั้งนี้ว่า เป็นการปะทะกันระหว่างแรงงาน (ฝ่ายดีผู้ถูกกดขี่) และผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมฮออลีวูด (เป็นตัวร้ายเหมือนในการ์ตูน)
และเมื่อวันพฤหัสบดี (13 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่นักแสดงอย่าง แมตต์ เดมอน (Matt Damon), คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) และนักแสดงคนอื่นๆ เดินออกจากงานฉายภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) รอบปฐมทัศน์ในลอนดอน ช่วยปลุกกระแสการประท้วงในครั้งนี้ให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น