จากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดกลางชุมชนตลาดมูโนะ อ.สุไหง–โกลก จ.นราธิวาส มีเสียชีวิต 12 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กหญิงที่เพิ่งลืมตาดูโลกเพียง 8 เดือนเท่านั้น ทั้งยังมีผู้บาดเจ็บกว่า 209 ราย บ้านเรือนเสียหาย 427 หลัง และมีประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 2,000 คน
อุบัติเหตุตามมาด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมโกดังพลุถึงตั้งใจกลางชุมชนได้ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ความมั่นคงสูง ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่รู้ และมีการจ่ายส่วยสินบนแก่เจ้าหน้าที่หรือไม่
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล จึงอภิปรายปม #ส่วยมูโนะ กลางสภา โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ต.มูโนะ จ.นราธิวาส อยู่ในพื้นที่กฎอัยการศึก เป็นไปได้อย่างไรที่เจ้าหน้าที่ทหาร–ตำรวจจะไม่รู้ว่ามีโกดังเก็บพลุขนาดใหญ่ใจกลางชุมชน The MATTER สรุปคำอภิปรายของวิโรจน์ให้เข้าใจง่ายไว้ ดังนี้
– ก่อนหน้านี้ เจ้าของโกดังที่เกิดเหตุระเบิดเคยถูกตรวจบุกตรวจโกดังแล้วเมื่อ 27 มิถุนายน 2559 โดย กอรมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และเคยถูกยึดดอกไม้เพลิง 60 ตันมาก่อนด้วย ดังนั้น การอ้างที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่รู้ จึงฟังไม่ขึ้น
– ปี 2559 เจ้าของโกดังเคยถูกจับคดีลักลอบเก็บพลุ แต่สุดท้ายมี ‘อภินิหาร’ อัยการไม่สั่งฟ้อง เจ้าของโกดังไม่เคยถูกลงโทษใดๆ จึงตั้งคำถามว่าทำไม กอรมน. ทำงานหละหลวม ทำไมตำรวจ–อัยการไม่สั่งฟ้อง
– โกดังพลุที่เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ขออนุญาต และถ้าขออนุญาตก็คงจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เพราะตามประกาศที่ใช้ควบคุมการค้าดอกไม้เพลิง อาคารผลิตจะต้องไม่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ต้องมีระยะห่าง และมีกฎอื่นๆ ควบคุม แต่โกดังพลุนี้สวนทางประกาศเพราะตั้งใจกลางชุมชน ไร้มาตรการความปลอดภัย
– โกดังพลุอาจไม่กลัวกฎหมาย เพราะบทลงโทษของ ม.77 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน–ดอกไม้เพลิงฯ ระบุว่า ถ้าไม่ข้ออนุญาต จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
– จึงตั้งคำถามว่า กฎอัยการศึกเอามาใช้เพ่งเล็งประชาชนอย่างเดียวหรือเปล่า ธุรกิจสีเทาไม่ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเปล่า หรือมองเป็นสปอนเซอร์ฝ่ายความมั่นคงกันแน่ เพราะมีข้อครหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์และเก็บส่วยส่งนายเป็นทอดๆ
“ถ้าจะตัดตอนแค่เจ้าของโกดัง คิดว่าประชาชนยอมรับไม่ได้ ต้องสอบสวนประเด็นส่วยและเรียกรับผลประโยชน์ด้วย เพราะคนในพื้นที่รู้ว่า ‘จ่า ฟ.’ มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพื้นที่ เป็นคนคอยเก็บส่วยส่งนาย ตอนนี้ได้ข่าวว่าย้ายไปแล้ว คนก็กังวลว่าย้ายเป็นพิธี เดี๋ยวก็ย้ายกลับมา” วิโรจน์ กล่าว
จากนั้นจึงเสนอว่า การรีดไถสินบนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือชนวนขัดแย้งที่แท้จริง รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ปรับอัตราโทษในการไม่ขออนุญาตให้รุนแรงขึ้น ทำระบบลงทะเบียนปริมาณดอกไม้เพลิง เพื่อป้องกันโกดัง–โรงงานพลุเถื่อน และเร่งปราบปรามการรีดไถส่วยโดยเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=TGlGBmIRMdg