หมดเวลาฮันนีมูน เตรียมโบกมือลาบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐ(เฉพาะกิจ)แล้ว สำหรับ ‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา (Tesla) และเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) หลังจากที่เข้ามามีบทบาทในกระทรวง DOGE หรือกระทรวงเพื่อประสิทธิภาพรัฐบาล ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตั้งขึ้นมา
ก่อนหน้านี้เราจะเห็นรายงานข่าวมากมายเกี่ยวกับบทบาทและพฤติกรรมของกระทรวงฯ นี้ ไม่ว่าจะโครงการหั่นงบที่กระทรวงนี้ดูจะมีอำนาจในการตัดสินใจซะเป็นส่วนใหญ่ และการไล่พนักงานรัฐออกแทบจะรายวัน
ซึ่งว่ากันตรงๆ ภารกิจของกระทรวงฯ นี้ที่ทรัมป์ตั้งใจไว้ คือ การลดงบประมาณของรัฐบาลกลาง และกระทรวงนี้ก็ทำงานได้ตรงตามเป้า คืองบประมาณของรัฐบาลกลางนั้นลดลงจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้น กระทรวงนี้ก็เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความท้าทายทางกฎหมายเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจที่ดูจะล้นฟ้าผิดปกติ ขอบเขตการทำงานและการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของทีมงานด้วย
คำถามแรกๆ ที่ DOGE เผชิญ คือ สรุปแล้ว ‘มัสก์’ เป็นพนักงานรัฐ หรืออาสาสมัคร? ในช่วงแรกเขาบอกกับสื่อว่าจะทำหน้าที่อาสาสมัคร แต่ต่อมาทำเนียบขาวก็ยืนยันว่า มัสก์ คือ พนักงานพิเศษของรัฐบาลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะทำงานกับรัฐบาลได้ไม่เกิน 130 วัน
DOGE ประหยัดเงินรัฐบาลสหรัฐฯ ไปได้เท่าไหร่?
กิจกรรมต่างๆ ที่ DOGE ทำ ตั้งแต่ปิดหน่วยงานรัฐ ยกเลิกงบในโครงการต่างๆ ไปจนถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก โดยพนักงานรัฐมากกว่า 2 ล้านคน ได้รับข้อเสนอจ้างออก ขณะที่พนักงานบางส่วนที่โดนไล่ออกไปก็ได้รับการจ้างงานใหม่ด้วยเช่นกัน
มัสก์จัดการกับนโยบายที่เขาเรียกว่า นโยบายตื่นรู้ (Woke) จากทีม DEI (องค์กรเพื่อความหลากหลาย เท่าเทียม และการมีส่วนร่วม) โดยมัสก์บอกว่าทีมของเขาช่วยผู้เสียภาษีประหยัดเงินไปได้กว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนโยบายที่บ้าคลั่งของ DEI
ส่วนองค์กรช่วยเหลือหลักของสหรัฐฯ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ USAID ถูกตัดงบประมาณออกไปเช่นกัน จนส่งผลกระทบต่อโครงการช่วยเหลือในประเทศต่างๆ มากมาย
DOGE เผยแพร่ผลงานประหยัดโดยประมาณลงบนเว็บไซต์อยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ (ข้อมูลวันที่ 20 เมษายน) แต่เมื่อวันที่ 23 เมษายน BBC วิเคราะห์ไว้ว่า มีการแจงแจกรายการงบประมาณเพียง 61,000 ล้านดอลลาร์จากจำนวนเงินทั้งหมด และมีหลักฐานยืนยันว่าประหยัดจริงๆ แค่ 32,500 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ปัญหาที่เกิดขึ้น
นอกเหนือไปจากปัญหาที่เกิดจากการไล่พนักงานออกและตัดงบประมาณแล้ว ฝ่ายค้านและหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลได้วิพากษ์วิจารณ์ DOGE ที่กระทำการอย่างไม่โปร่งใส และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาล และกล่าวหาว่ามัสก์ใช้อำนาจเกินขอบเขตในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากหลายสำนักว่า ทั้งทรัมป์และมัสก์ได้พลิกประวัติศาสตร์อเมริกาในช่วง 100 วันแรก โดยการสร้างระบอบ ‘เผด็จการ’ หลายๆ ระบอบขึ้นมาและเข้าถึงข้อมูลของผู้อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ทุกคน
อีเลน คามาร์ก นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Brookings บอกว่า เป้าหมายของมัสก์ที่จะลดงบรัฐบาลหนึ่งในสามนั้นไร้สาระ เพราะงบส่วนใหญ่เป็นงบประมาณบังคับในโครงการใหญ่ๆ อย่างเช่น ประกันสังคม และการแพทย์
ด้าน เควิน แบงก์สตัน ทนายความด้านเสรีภาพพลเมือง และที่ปรึกษาอาวุโสด้านการปกครองด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ศูนย์ประชาธิปไตยและเทคโนโลยี บอกกับ The New York Times ว่า “นี่คือสิ่งที่เรากลัวมาตลอด โครงสร้างพื้นฐานสำหรับเผด็จการเบ็ดเสร็จมีไว้สำหรับรัฐบาลที่เต็มใจที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย”
ในช่วง 100 วันที่ผ่านมา ทีมงาน DOGE ได้ดึงข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในสหรัฐฯ จากฐานข้อมูลของรัฐบาลกลางหลายสิบแห่ง และมีรายงานว่ากำลังรวมข้อมูลทั้งหมดเข้าในฐานข้อมูลหลักของกระทรวงความมั่นคง
สมาชิกรัฐสภาจากพรรคเดโมแครตรายงานว่า ผู้แจ้งเบาะแสได้ออกมาเปิดเผยว่าฐานข้อมูลหลักจะรวมข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐบาลกลาง เช่น สำนักงานประกันสังคม, กรมสรรพากร และกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ The New York Times ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้ควรเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายควรพิจารณา หลังจากที่มีการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นเหมือนหายนะนี้ขึ้นมาแล้ว
คนอเมริกันรู้สึกยังไง?
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์โดย CBS News ซึ่งเป็นพันธมิตรของ BBC ในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า DOGE ได้รับความนิยมจากประชาชน โดยพบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนการทำงานของ DOGE
เดวิด ดิทช์ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Economic Policy Innovation Center ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแนวอนุรักษ์นิยม ยืนกรานว่างานของ DOGE มีความจำเป็น และบอกว่า พวกเขากำลังฉายสปอตไลท์ไปยังส่วนต่างๆ ของรัฐบาล และตั้งคำถาม ต้องการให้เงินภาษีของอเมริกาถูกใช้แบบนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการทำงานของ DOGE บางส่วนก็ดูจะไม่ชอบมัสก์เท่าไหร่นัก โดยผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ จาก Pew Research พบว่า ชาวอเมริกัน 54% มีมุมมองที่ไม่เห็นด้วยกับเขา รวมถึง 37% ที่บอกว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมุมมองของมัสก์
ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นเหมือนราคาที่ต้องจ่ายสำหรับ DOGE หน่วยงานที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งขึ้นมา หลังจากนี้เราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางของ DOGE หลังจากที่ไม่มีมัสก์ และทรัมป์ที่ขาดคู่หูคนนี้ไปจะเป็นอย่างไร
อ้างอิงจาก