วานนี้ (16 กันยายน) ระหว่างที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เดินทางไปลงพื้นที่ในเชียงใหม่ ก็ได้โพสต์คลิป TikTok การเยี่ยมชมโครงการโคกหนองนา พร้อมระบุว่าถ้ามีโอกาสก็จะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อที่ประชุม UN (มีกำหนดเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน) เพราะเป็นโครงการที่เป็นไปตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG Goals)
อีกทั้ง เศรษฐาก็ยังได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และยืนยันว่าถ้ามีโอกาสและมีเวที “แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจของคนไทย ต้องนำเสนอครับ”
เมื่อนายกฯ ว่าเช่นนี้ ในวันนี้ (17 กันยายน) The MATTER ก็อดไม่ได้ที่พาทุกคนไปทำความรู้จักกับโครงการโคกหนองนานี้กัน
หนังสือโครงการพระราชทาน ‘โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง’ ของกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายถึงโคกหนองนาโมเดล ว่าเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่หลากหลายทฤษฎีของรัชกาลที่ 9 สู่การ ‘สร้างโคก ขุดหนอง ทำนา’ ในพื้นที่ขนาดเล็ก
แนวทางหลักๆ ของโคกหนองนานี้ ปรากฏรายละเอียดอยู่ในเรื่อง ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ ที่เป็นระบบแบบพอเพียง โดยเกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัด และชุมชนก็ต้องร่วมใจลงแขกช่วยเหลือ
โมเดลโคกหนองนา ยังเป็นไปตามหลักการจัดการพื้นที่เลียนแบบธรรมชาติ โดยให้มนุษย์นำสิ่งที่มีอยู่มาเป็นตัวช่วยให้เกิดความสำเร็จในการทำเกษตรกรรม “การขุดหนองเก็บน้ำ นำดินมาทำเป็นโคกเพื่อสร้างระบบไหลเวียนจากที่สูงเลียนแบบภูเขาตามธรรมชาติ สร้างป่าบนโคกเพิ่มฮิวมัสหรือปุ๋ยธรรมชาติเลียนแบบป่าลงสู่ที่นา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว”
โคกหนองนา จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือโคก หนอง และนา ตามชื่อของโครงการ
– โคก คือพื้นที่สูง ใช้ดินส่วนที่มนุษย์ขุดขึ้นมาจากการทำหนองน้ำ มาปั้นทำเป็นโคกเพื่อปลูกพืช ผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงปลาตามแนวทางขั้นพื้นฐานแบบ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งโดยปกติก็จะมีการจำแนกการปลูกพืชตามแนงความสูง 5 ระดับคือไม้หัวใต้ดิน ไม้เรี่ยดิน ไม้เตี้ย ไม้กลาง และไม้สูง
– หนอง คือหนองน้ำหรือแหล่งน้ำ โดยการขุดเอาไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตอนหน้าแล้ง หรือเป็นหลุมเอาไว้รับน้ำที่จะมาท่วมขังในช่วงน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วม โดยการขุดปกติแล้วจะเรียกว่าคลองไส้ไก่ หรือคลองที่ใช้ระบายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ตามภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน
– นา เป็นพื้นที่ให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามแบบฉบับพื้นบ้าน มีการยกคันนาเพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำเมื่อมีน้ำท่วม และยังสามารถปลูกพืชได้ตามคันนา
“โคกหนองนา ชาวบ้านทำมานานแล้ว ส่วน ‘แห่งน้ำใจและความหวัง’ เป็นคำของรัชกาลที่ 10 ท่านบอกว่าโคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว เป็นความหมายที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงดำริให้อย่าทิ้งภูมิปัญญาชาวบ้าน” วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ถวายงานโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ให้สัมภาษณ์กับ BBC ไทย
BBC ไทย ยังเคยรายงานเส้นทางของโครงการโคกหนองนาโมเดลไว้ว่า โครงการนี้ เริ่มต้นจากเป็นโครงการพระราชทานฯ ภายในเรือนจำทั่วประเทศโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อนจะมาเป็นโครงการของรัฐในชื่อ ‘โคกหนองนาโมเดล’
“การเผยแพร่พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับโครงการโคกหนองนาช่วงครึ่งหลังของปี 2563-2564 ที่เน้นดำเนินโครงการในเรือนจำ เกิดขึ้นควบคู่กับการบรรจุโครงการ ‘โคกหนองนาโมเดล’ ไว้ในแผนการใช้งบประมาณจากเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล [ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา]” BBC ไทยรายงาน
โคกหนองนาโมเดลนี้ เกิดขึ้นโดยมีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เสนอโครงการนี้ไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการคัดกรองเงินกู้ COVID-19 และได้รับการอนุมัติจาก ครม.ในวันที่ 8 กรกฏาคม 2563 วงเงินกว่า 4,787 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 – กันยายน 2564 ซึ่งก็นับเป็นครั้งแรกที่โครงการพระราชดำริถูกบรรจุในแผนงานของรัฐให้ดำเนินการเต็มรูปแบบทั่วประเทศ
หลังจากนั้น พช.ก็ได้เผยแพร่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ‘โคกหนองนาน้ำใจแห่งความหวัง’ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 (ในภาพลงวันที่ ลงวันที่ 17 และ 19 สิงหาคม)
ต่อมา ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น กรมราชทัณฑ์ก็ได้เริ่มทำโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยหนังสือเผยแพร่โครงการของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ได้น้อมนำพระราโชบายมาสู่การลงมือทำด้วยตนเอง “ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา บนพื้นที่ขนาดเล็ก พร้อมกับผู้ต้องขังชาวไทยและชาวต่างชาติ 80 คน” ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายไปในเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อบ่มเพาะสร้างหลักอาชีพให้แก่นักโทษนับแสนให้มีชีวิตที่มั่นคงหลังพ้นโทษ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ พช.ได้ดำเนินโครงการโคกหนองนาโมเดลมา 1 ปี ก็มีทั้งผู้ที่ทำสำเร็จ สามารถพลิกฟื้นผืนดินพึ่งพาตนเอง และยังมีผู้ที่ยังเจอปัญหาหาอย่างการไม่สามารถขุดบ่อน้ำได้ เบิกจ่ายค่าจ้างขุดล่าช้า หรือได้น้อยจนขาดทุน
“ทาง พช. ช่างก็ไม่มี บุคลากรในการทำเอกสารก็ไม่มี มันก็เลยสะดุดไปหมด ก็มาขอร้อง มาขอร้องว่าให้ไปคุยกัน มาคุยแล้วจะเอางานอื่น ผมไม่ฟังหรอกตอนนี้ ตอนทำเราทำเต็มที่ บอกให้เราไปแก้ เราก็แก้ ไม่รู้กี่รอบ ช่างก็ออกมาดูว่าโอเคผ่าน พอเงินเข้าบัญชี 40,000 บาท จากงบ 104,000 บาท แล้วผมจะเหลืออะไร” หนึ่งในผู้รับเหมาขุดปรับพื้นที่โครงการโคกหนองนาให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS
ทางด้าน สมคิด จันทมฤก อธิบดี พช. ในขณะนั้น ก็ยอมรับว่าพบปัญหาดังกล่าวในบางแห่งจริง ส่วนการจัดจ้างผู้รับเหมาในพื้นที่ภาคอีสานและค่าขุดดิน ก็ยืนยันว่าดำเนินการตามระเบียบกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและโปร่งใส
เมื่อ BBC ไทยถามถึงการประเมินความสำเร็จของโครงการ สมคิดก็กล่าวว่าผลลัพธ์คือการที่ผู้ร่วมโครงการได้ใช้ประโยชน์จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ มีเหตุผลพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงาน และเกิดวัฒนธรรมความรักสามัคคีในชุมชนได้
อ้างอิงจาก