ขณะที่กำลังพิมพ์ข่าวนี้อยู่ เจ้าแมวสีเทาของผมเพิ่งกระโดดขึ้นไปบนโต๊ะไม้เพื่อจ้องจิ้กจกที่เกาะอยู่บนผนัง และผมได้แต่หวังให้มันเกาะอยู่ตรงนั้นให้นานที่สุด อย่าลงมาใกล้โต๊ะโดยเด็ดขาด เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นทุกวัน แต่บางวันผู้โชคร้ายก็เป็นนกกระจิบ บางวันเป็นแมลงหวี่หรือจิ้งหรีด และบางวันก็เป็นแขนผมเองที่โดนมันกัดด้วยความหมั่นเขี้ยว
เราทุกคนที่รักสัตว์ต่างรู้ดีว่าแมวมีความเป็นนักล่าอยู่ในตัวเองมากแค่ไหน แต่ด้วยขนาดตัว ทุกคนคิดว่าพวกมันมี ‘เหยื่อ’ ที่สามารถล่ามากน้อยแค่ไหน?
การค้นพบล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications ได้เก็บรวบรวมและสรุปข้อมูล ‘เหยื่อ’ ของแมวตั้งแต่มนุษย์เริ่มเลี้ยงแมวในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อกว่า 10,000 ปีก่อน ประกอบกับการสอบถามเจ้าของแมว รวมถึงเก็บอุจจาระและอาเจียนของแมวไปตรวจ ก่อนพบว่าแมวมีเหยื่อที่สามารถล่าได้มากกว่า 2,084 สปีชีส์ โดยแบ่งเป็นนก 981 สปีชีส์, สัตว์เลื้อยคลาน 463 สปีชีส์, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 431 สปีชีส์, แมลง 119 สปีชีส์, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 57 สปีชีส์ และอื่นๆ อีก 33 สปีชีส์
“ที่เราค้นพบเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น” Christopher Lepczyk นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยอูเบิร์นเจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้ยังค้นพบว่าแมวสามารถล่าได้ทั้ง กบ, ปู, ลูกเต่าทะเล รวมถึงกระต่ายที่ตัวโตกว่าแมวทั่วไป นอกจากนี้ เหยื่อของพวกมันยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตราว 347 สปีชีส์ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และอีก 11 สปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ถึงแม้หน้าตาของแมวจะหลอกให้เราหลงรักแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าพวกมันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมากแค่ไหน ทั้งจำนวนเหยื่อ และความเร็วในการขยายพันธุ์ เช่น ในปี 1788 ชาวยุโรปได้อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศออสเตรเลียและพาแมวไปด้วย ก่อนที่พวกมันจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียได้ออกมาโทษว่า แมวเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศลดลง
“การโทษว่าแมวทำลายระบบนิเวศเท่ากับโทษแพะ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันใหญ่กว่านั้นมาก” Mikel Delgado นักวิจัยอิสระที่ศึกษาพฤติกรรมแมวแสดงความเห็น “ถ้ามนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อปกป้องระบบนิเวศ ทำไมเราถึงควรคาดหวังจากแมวล่ะ?”
อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าในหลายพื้นที่แมวถือว่าเป็น ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ และวิธีการที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมจากแมวเหล่าต้องอาศัยทั้งความร่วมมือจากคนเลี้ยงและการลงทุนจากภาครัฐ เช่น เลี้ยงให้พวกมันอยู่ในบ้าน, ให้อาหารแมวที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ตลอดจนการจับแมวจร ทำหมัน และหาคนรับเลี้ยง
อ้างอิงจาก:
https://www.wired.com/story/cats-eat-2000-species-predator-diet-murder/
https://www.nature.com/articles/s41467-023-42766-6
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/cats-prey-on-more-than-2000-different-species-180983429/