ประหลาดดีที่เสรีภาพสื่อไทยดูเหมือนจะไม่ขยับไปข้างหน้า ประหลาดยิ่งกว่าคือการทำข่าวอาจถือเป็นอาชญากรรมได้ในบ้านเมืองนี้
เมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจแสดงหมายจับข้อหาสนับสนุนการทำลายโบราณสถานฯ ซึ่งคาดว่าเกี่ยวข้องกับการไป ‘ทำข่าว’ การพ่นสีไม่เอา ม.112 บนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อปีที่แล้ว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่การวิจารณ์ถึงสิทธิและเสรีภาพสื่อที่ถูกละเมิด ขณะที่สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ออกแถลงการณ์ว่า ผู้สื่อข่าวไม่ใช่อาชญากร และการรายงานข่าวคือการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมของสื่อมวลชน
เหตุการณ์นี้เป็นการคุกคามสื่ออย่างไร จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปหรือไม่ และมีนัยยะทางการเมืองอะไรหรือเปล่า The MATTER คุยกับ เทวฤทธิ์ มณีฉาย บก.สำนักข่าวประชาไท
เทวฤทธิ์อธิบายกับเราว่า การที่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระโดนหมายจับและต้องถูกฝากขังย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนและจะสร้างความกังวลแน่นอน โดยเฉพาะการทำข่าวในประเด็นที่สุ่มเสี่ยง เพราะอาจถูกเหมารวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนั้นๆ ได้
“ก็มีการพูดกัน อาจจะขำแต่เป็นตลกร้ายว่า ต่อไปนี้ไปทำข่าวอะไรซึ่งเป็นข่าวทำร้ายร่างกายหรือใช้ความรุนแรง เท่ากับว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นผู้สนับสนุนการใช้ความรุนแรงตามข้อหาที่อย่างที่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระไม่สมควรโดนหรือเปล่า นี่เป็นผลกระทบในวงกว้าง” เทวฤทธิ์ กล่าว
“ในฐานะที่สื่อเป็นข้อต่อจากเหตุการณ์เพื่อให้สังคมรับรู้ สังคมก็อาจไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สุดท้ายผลเสียก็จะเกิดต่อสังคมที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงและเพียงพอ หรือเป็นจริงและสมบูรณ์สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เทวฤทธิ์ ระบุ
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเทวฤทธิ์ คือ สิ่งนี้อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่หรือ ‘new normal’ ที่จะสร้างความกังวลให้แก่นักข่าวได้ เพราะมันอาจจะสร้างความกลัวในใจสื่อจนอาจกลายเป็น self-censorship (การเซ็นเซอร์ตัวเอง) ในการรายงานข่าวในอนาคต ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอาจไม่ถูกถ่ายทอด ส่วนคนที่เสียประโยชน์ก็คือประชาชน
เราถามต่อว่า การจับผู้สื่อข่าวมีนัยทางการเมืองอะไรหรือไม่ในทัศนคติของ บก.ประชาไท เขาตอบว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาไม่ใช่เพียงหมายจับเมื่อวานนี้ แต่หมายรวมถึงการขู่นักข่าวประชาไท ‘ไม่ให้ถ่ายภาพ’ และการทำร้ายสื่ออิสระในเหตุการณ์ที่สกายวอล์กเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย
หากใครสับสน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุชุลมุนระหว่างกลุ่ม ศปปส. และทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมที่กำลังแถลงข่าวกรณีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ซึ่งสำนักข่าวประชาไทรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากทั้งฟากนักกิจกรรมและกลุ่ม ศปปส.
เทวฤทธิ์แสดงความคิดเห็นว่า บรรยากาศแบบนี้คือการสร้างความกลัว เพราะสื่อมวลชนเปรียบเสมือนหูและตาที่คอยรายงานสิ่งที่อันตรายและรุนแรงจนลดแนวโน้มที่จะเกิดรุนแรง ดังนั้น หากมีผู้ประสงค์ใช้ความรุนแรง ก็มีแนวโน้มที่สื่อจะถูกปิดตาและปิดหูจนเทียบเท่ากับการปิดตาสังคมและสาธารณชน ซึ่งจะสร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างได้
“ถ้าหากว่าสื่อทำงานด้วยบรรยากาศของความกังวล ความกลัวเหล่านี้จะมีผลต่อความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” เทวฤทธิ์ทิ้งท้าย
ขณะนี้ (14:46 น.) ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระ ขณะนี้ ทนายกำลังยื่นขอประกันตัว หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม The MATTER จะรายงานให้ทราบถัดไป