กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย หลังแอ็กเคานต์ @aaronflarin เผยแพร่คลิปวิดีโอใน แอปพลิเคชัน TikTok ที่ว่าด้วยความพยายาม ‘ไม่เติบโต’ ในองค์กร โดยให้เหตุผลว่า “ฉันคิดว่ามันดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า” ซึ่งมีคนรับชมมากกว่า 1.2 ล้านครั้ง และมีคนทำคลิปในทำนองเดียวกันออกมามากมายในเวลาต่อมา
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพว่าคน Gen Z และคนรุ่น Millennial บางคนกำลังมองความสำคัญในการเติบโตทางอาชีพลดลง เพื่อแสวงหาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น
ผลสำรวจจาก Deloitte ระบุว่าในปีนี้กว่า 8 ใน 10 ของพนักงานมีภาวะเสี่ยงต่อความเหนื่อยหน่าย (Burnout) จึงไม่น่าแปลกใจที่พนักงานอายุน้อยๆ ไม่ยอมรับแนวคิดการทำงานหนัก ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ได้ดีนักกำลังผลักดันให้คน Gen Z และ Millennial จำนวนมากพิจารณาลดชั่วโมงการทำงานของตัวเอง แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและส่งเสริมทักษะตัวเองก็ตาม
ความไม่อยากเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานนี้ บ่งบอกปัญหาที่ลึกซึ้งในการทำงานยุคปัจจุบัน ทั้งเหล่าเจ้านายหรือผู้จัดการเองก็กำลังดิ้นรนเพื่อให้ Gen Z และ Millennial มีส่วนร่วมและจูงใจพวกเขาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ
ผู้จัดการ-เจ้านายหลายคนมักจะใช้แนวทาง ‘สั่งการและควบคุม’ เพื่อแก้ปัญหาและจัดการกับทีมโดยบางครั้งอาจจะแค่คอยชี้นิ้วบอกหรือสั่งว่าต้องการอะไร ซึ่งนั่นเป็นเหมือนการปล้นโอกาสการเรียนรู้ของสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากพื้นที่ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหาของพวกเขาจะลดน้อยลงทันทีเมื่อต้องคอยฟังคำสั่ง ซึ่งสิ่งทักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
สิ่งนี้ทำให้ชาว Gen Z และ Millennial รู้สึกว่าพวกเขาถูกปฏิเสธความเป็นอิสระที่พวกเขาอยากจะเป็น ส่งผลให้คนจำนวนมากรู้สึกท้อแท้จากการขาดความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน และความก้าวหน้า ขณะที่ Deloitte ประมาณการเอาไว้ว่า กว่า 35% ของชาว Gen Z และ 28% ของชาว Millennial รู้สึกห่างเหิน และไม่ชอบงานของตัวเอง
งานวิจัยชิ้นใหม่แสดงให้เห็นด้วยเช่นกันว่า หากผู้จัดการ-เจ้านายสร้างผลกระทบทางจิตใจให้พนักงาน หรือการบริหารจัดการที่ไม่ดีจะกัดกร่อนความมั่นใจของพนักงานและนำไปสู่ความเครียด และความเหนื่อยหน่ายได้
หาก Gen Z และ Millennial มีอิสระ มีเป้าหมาย และมีส่วนร่วมในที่ทำงานมากขึ้น ก็อาจจะทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะปีนป่ายหาความก้าวหน้าในองค์กร ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะต้องเริ่มแก้กันที่การบริหารจัดการใหม่เสียก่อน
อ้างอิงจาก