รู้หรือไม่ ตลอดปี 2566 ไทยมียอดจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรีขาเข้า รวมถึง 3,021.75 ล้านบาท! แต่ขณะนี้ ครม.มีมติให้ยกเลิก Duty Free เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าในประเทศแล้ว
เมื่อวานนี้ (2 กรกฎาคม 2567) รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ยกเลิก Duty Free (การดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า) เป็นระยะเวลา 1 ปีในสนามบิน 8 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่, อู่ตะเภา, สมุย และ กระบี่
แนวทางนี้ถูกเสนอโดยกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น ‘ศูนย์กลางการท่องเที่ยว’ เพราะการได้สิทธิซื้อสินค้าภายในร้าน Duty Free ขาเข้า ทำให้คนแห่ซื้อสินค้าที่ปลอดภาษีเหล่านี้ก่อนจนไม่เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ การยกเลิกนี้จึงจะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ด้านภาคเอกชนผู้ขาย Duty Free ทั้งหมด 3 ราย ระบุว่า ยินดีหยุดการดำเนินการ Duty Free ขาเข้าตามนโยบายนี้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกนโยบายดังกล่าว
ปัจจุบัน ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศสามารถซื้อสินค้า Duty Free ได้รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะต้องใช้เป็นการส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพ บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน ซิการ์ ยาเส้น ไม่เกินอย่างละ 250 กรัม และสุราไม่เกิน 1 ลิตร
จากการยกเลิกเป็นเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยหัวละ 570 บาท และร้านค้าทั่วไปมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของกระทรวงการคลังได้ระบุถึงผลกระทบต่อผู้เดินทางชาวไทยว่า คนไทยอาจเลือกซื้อสินค้า Duty Free จากประเทศต้นทางเลยเพื่อทดแทนการยกเลิก Duty Free ขาเข้าครั้งนี้ หรืออาจมาซื้อสินค้าในประเทศก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล
หลังจากนี้จึงน่าติดตามต่อไปว่าหลังดำเนินนโยบายครบ 1 ปี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากเพียงไหน และผลลัพธ์จะเป็นไปดังที่คาดหวังหรือไม่ รวมถึงผลตอบรับจากทั้งนักท่องเที่ยวและชาวไทยที่ต้องเดินทางเข้าประเทศด้วยเช่นกัน