“เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย …” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้ายการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 162 บัญญัติว่า ภายใน 15 วันตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธารเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา วาระของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยนายกรัฐมนตรี จึงถูกกำหนดไว้ในวันที่ 12 กันยายน
ด้วยความท้าทายหลายประการ ที่นายกฯ แพทองธาร ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ อาทิ ปัญหาหนี้สิน สังคมสูงวัย ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (technological disruption) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (climate change) หรือความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยาวนาน จากการรัฐประหาร
รัฐบาลใหม่จึงได้กำหนดนโยบาย ทั้งระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที และระยะกลาง-ยาว แบ่งเป็นหมวดหมู่คร่าวๆ ได้เป็น
- เศรษฐกิจ
- สิ่งแวดล้อม
- สังคม
- สาธารณสุข
- เทคโนโลยี
- ต่างประเทศ
- การเมือง-ระบบราชการ
- การศึกษา
- คมนาคม
- เกษตรกรรม
- การท่องเที่ยว
- ความมั่นคง
The MATTER ชวนดูว่า ในแต่ละด้าน รัฐบาลแพทองธารให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน
เศรษฐกิจ
ไม่น่าแปลกใจแล้วว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจจะได้รับความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ จากรัฐบาล หากดูเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ครึ่งหนึ่งก็คือนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ
- ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
- ดูแลและส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs
- ลดราคาพลังงาน-สาธารณูปโภค
- นำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี-ใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษี
- กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)
นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีนโยบายระยะกลาง-ยาว ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
- ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ HEVs, PHEVs, BEVs และ FCEVs
- สร้าง ‘วัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ส่งเสริม soft power
- ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก (financial hub)
- ปฏิรูประบบภาษี สู่ Negative Income Tax
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ
- ยกระดับทักษะ-ศักยภาพคนไทย เพื่อสร้างงานสร้างรายได้
- 1 ครอบครัว 1 Soft Power
- จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น TCDC และ THACCA
และแม้นโยบายอื่นๆ อาจจะไม่ใช่ในด้านเศรษฐกิจโดยตรง อย่างการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม หรือสาธารณสุข แต่หลายๆ นโยบายก็ยังมีเป้าประสงค์ หรือผลพลอยได้ในทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) หรือเศรษฐกิจสุขภาพ (care and wellness economy) เป็นต้น
สิ่งแวดล้อม
อีกด้านหนึ่งที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญมากพอสมควร ก็คือ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็มีหลายๆ อย่าง ที่น่าจับตา อาทิ
- แก้ปัญหา PM2.5 และภัยธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม
- แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง
ขณะเดียวกัน ก็มีหลายนโยบายในระยะกลาง-ยาว ที่น่าสนใจ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก เช่น
- ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (green economy)
- ส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด
- พัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้า และ carbon credit
- ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
- ยกระดับการบริหารจัดการน้ำ
- ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)
สังคม
นโยบายด้านสังคม เป็นอีกด้านที่รัฐบาลภายใต้นายกฯ แพทองธารให้ความสำคัญไม่แพ้กัน สวัสดิการสังคมเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดมากประมาณหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มุ่งแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมออนไลน์-ข้ามชาติ จึงมีนโยบายเร่งด่วน ประกอบไปด้วย
- แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
- แก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ
- ส่งเสริมศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม
ขณะเดียวกัน ก็จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยนโยบาย
- พัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ
- ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
- ยกระดับการบริการภาครัฐ
แต่ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลประกาศด้วยว่าจะ
- ส่งเสริมสถาบันศาสนาเป็นกลไกสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
สาธารณสุข
ต่อมาคือนโยบายด้านสาธารณสุข ดูเหมือนว่า หนึ่งในนโยบายที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลนี้ก็คือ
- การยกระดับระบบสาธารณสุขไทย จาก ’30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็น ’30 บาทรักษาทุกที่’
นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย
- พัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (care and wellness economy) และบริการทางการแพทย์ (medical hub)
- พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine)
- โครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV)
- เพิ่มการเข้าถึงการรักษา-บริการสุขภาพจิตและยาเสพติด
และนโยบายที่เป็นที่จับตา คือ
- การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบทางสังคมโดยการตรากฎหมาย
เทคโนโลยี – ต่างประเทศ – การเมืองและระบบราชการ – การศึกษา
นโยบายด้านเทคโนโลยี ต่างประเทศ การศึกษา และที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือระบบราชการ แม้จะไม่ได้มีน้ำหนักมากที่สุด แต่ก็ถูกกล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ เราขอแจกแจงนโยบายเหล่านี้ดังนี้
ด้านเทคโนโลยี – รัฐบาลประกาศว่า จะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจ (digital economy) จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพื่อตั้ง data center และโรงงานผลิตชิป ชิปดีไซน์ และ semiconductor
รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และที่น่าสนใจ คือ วางรากฐานให้คนไทยทุกกลุ่มวัยใช้ AI ในการพัฒนาตนเอง
ด้านต่างประเทศ – เป็นการกล่าวถึงท่าทีของไทยโดยรวม ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ อาทิ รักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ (non-conflict) รวมถึงสานต่อการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง soft power
ส่วนสิ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างเฉพาะเจาะจง คือ การเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อน (OCA) กับกัมพูชา เพราะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยืนยันว่าจะเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ด้านการเมืองและระบบราชการ – น่าจับตาตรงที่รัฐบาลประกาศว่า จะเร่งจัดธรรมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงยึดมั่นในหลักนิติธรรม (rule of law) และความโปร่งใส
ที่น่าจับตาพอๆ กัน คือ นโยบายปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็จะพัฒนาระบบราชการไทย โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล (digital government)
ด้านการศึกษา – ครอบคลุมนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมการเกิดและโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น
คมนาคม – เกษตรกรรม – การท่องเที่ยว – ความมั่นคง
นโยบายด้านที่เหลือ คือ คมนาคม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และความมั่นคง ดูเหมือนจะมีจำนวนน้อยกว่านโยบายด้านอื่นๆ
แต่โปรดสังเกตว่า จำนวนนโยบายน้อย อาจจะไม่ได้แปลว่าไม่มีความสำคัญเสมอไป
ด้านคมนาคม – รัฐบาลประกาศกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพฯ ตามนโยบาย ‘ค่าโดยสารราคาเดียว’ ตลอดสาย รวมถึงเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ หรือ ‘เมกะโปรเจ็กต์’ เช่น แลนด์บริดจ์
ด้านเกษตรกรรม – รัฐบาลประกาศยกระดับการทำเกษตร เป็นเกษตรทันสมัย ตามแนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ รวมถึงจะเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร
ด้านการท่องเที่ยว – รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว และที่น่าจับตา คือ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made destinations) เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (entertainment complex) และนำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในไทย
ด้านความมั่นคง – รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เป็นประเด็นอยู่ เช่น สร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนที่น่าสนใจคือ มีการบรรจุเรื่อง ‘เกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ’ ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ด้วย
ท้ายที่สุด นายกฯ กล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล คือการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
“รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง
“ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหรราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
“พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศให้เจริญก้าวหน้า”
แพทองธารให้คำมั่นดังกล่าวไว้ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภา ซึ่งถือเป็นผู้แทนของประชาชน