มีปัญหาในที่ทำงาน จะปรึกษาใครดี? ในเวลาหัวหน้าเหมือนช่วยอะไรไม่ได้ ชาว Gen Z หลายคนในสหรัฐฯ เลยหันไปคุยกับ ChatGPT แทน!
จากผลสำรวจในปี 2024 ของ INTOO บริษัทพัฒนาอาชีพ และบริษัท Workplace Intelligent research พบว่า 47% ของกลุ่ม Gen-Z ระบุว่า ChatGPT ให้คำแนะนำด้านอาชีพและการพัฒนาได้ดีกว่าผู้จัดการของพวกเขา และกว่า 44% บอกว่าอยากลาออกภายใน 6 เดือนเพราะที่ทำงานช่วยในการพัฒนาทักษะของพวกเขาไม่ได้
ตามการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนประชากรจาก Glassdoor ปี 2024 ถือเป็นปีแรกที่คาดว่าจำนวน Gen Z จะแซงหน้า Baby Boomers ในตลาดแรงงาน ดังนั้นนายจ้างจึงต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของ Gen Z ซึ่งเป็นคนรุ่นที่มองหาที่ทำงานที่สามารถให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และเกิดการพัฒนาในอาชีพได้
“ความพึงพอใจและความภักดีของพนักงานในสมัยนี้ จะเชื่อมโยงกับการสนับสนุนและการลงทุนที่บริษัทต่างๆ มอบให้กับพนักงานของพวกเขา และถึงจะให้เงินเดือนที่สูงก็ไม่สามารถทดแทนได้” มิรา กรีนแลนด์ (Mira Greenland) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ของ INTOO กล่าว ซึ่งในที่นี้ คำแนะนำด้านการพัฒนาอาชีพก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่รวมถึงอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแนะนำพอดแคสต์พัฒนาตัวเอง ก็ช่วยให้พนักงานประทับใจได้
แล้วเหล่าหัวหน้าควรทำยังไงกันล่ะ เพื่อให้โดนใจเหล่าคนทำงาน Gen Z?
กรีนแลนด์ให้คำแนะนำการจัดการกับพนักงาน Gen Z ว่า ผู้จัดการควรจัดให้มีการพูดคุยตัวต่อตัวกับพนักงานเป็นประจำอย่างน้อยทุกไตรมาส “เพื่อให้พนักงานรู้สึกถูกมองเห็น และได้รับการดูแล และหัวหน้าก็จะได้สร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพนักงานของพวกเขา” กรีนแลนด์กล่าว
นอกจากนั้น หัวหน้ายังควรพูดอย่างตรงไปตรงมากับพนักงานในการให้คำแนะนำด้านการทำงาน และช่วยหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่ง หรือให้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาทักษะ และถ้ามีอะไรที่ทำให้ไม่ได้จริงๆ การแจ้งล่วงหน้าก็เป็นทางออกที่ดี แน่นอนว่าพนักงานคงไม่ได้อยากฟังข่าวร้าย แต่การบอกก่อนก็จะทำให้พวกเขารู้สึกได้รับความเคารพในความเห็นของพวกเขา
อีกด้านหนึ่ง เหล่านายจ้างอาจจะรู้สึกว่า คน Gen Z นี่ช่างไม่รู้เรื่องรู้ราวเอาเสียเลย ทั้งไม่ได้เรื่องในเรื่องมารยาทในที่ทำงาน จัดการกับคำติชมไม่ได้ หรือแม้แต่การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม
ในประเด็นนี้ สเตซี่ ฮอลเลอร์ (Stacie Haller) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านอาชีพของ Resume Builder ให้คำแนะนำว่า “เมื่อพนักงานใหม่เข้ามาในบริษัท ควรจะมีการสนทนากับพวกเขาถึงแรงบันดาลใจ เป้าหมายระยะยาวของพวกเขา เพื่อที่จะได้พร้อมที่จะสนับสนุนพวกเขาได้”
ฮอลเลอร์ ยังแนะนำด้วยว่า การพูดคุยอาจรวมถึงการให้แนวทางการใช้ชีวิตและการทำงานในบริษัทอย่างเหมาะสมได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธรรมชาติของ Gen Z นั้นแตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนๆ
ฮอลเลอร์บอกว่า ‘การสื่อสาร’ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานได้ และจะต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เห็นพนักงานเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้พวกเขารู้สึกได้รับการสนับสนุน และมีพื้นที่สำหรับการเติบโตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญที่น่าคิดต่อจากนี้ คือการที่แต่ละองค์กรต่างๆ อาจต้องเริ่มหาวิธีการช่วยส่งเสริมพนักงานต่าง generation อย่างเหมาะสม เพราะการที่ Gen Z เลือกที่จะปรึกษา ChatGPT มากกว่าอาจสะท้อนถึงความไม่เข้าใจพวกเขาของ ‘มนุษย์’ ในที่ทำงาน ขณะเดียวกัน การหาทางทำงานร่วมกันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ทำร้ายใครท่ามกลางความไม่เข้าใจก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
อ้างอิงจาก