ประเด็นพรรคเพื่อไทยมอบจดหมายเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อวานนี้ (28 สิงหาคม) ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างเป็นวงกว้าง โดยกลุ่มที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นคนเสื้อแดง และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เริ่มทยอยออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว
The MATTER จึงรวบรวมความเห็นของอดีตแกนนำ นปช. ถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่มีความประสงค์ให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
1. ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช.แสดงความเห็นถึงกรณีพรรคเพื่อไทยส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า
ขณะนี้พรรคเพื่อไทยตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาก็หน้ามืดหมดแล้ว คิดแต่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เป็นรัฐบาล โดยไม่คิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร คิดแต่ว่าตัวเองต้องได้กลับมา
หรืออาจนึกไปถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้กลับมาด้วย วิธีคิดของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้ ใช้โมเดลพรรคไทยรักไทย ที่คิดว่าอย่างไรคนก็เลือกเขา ถ้าเขาทำเศรษฐกิจได้ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันประชาชนเปลี่ยนไปหลายตลบแล้ว
ธิดา เสริมว่า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ 10 ล้านเสียง ก็ถือว่ามากไปด้วยซ้ำ มาตอนนี้ยังจะเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมอีก ซึ่งรอบหน้าเชื่อว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยจะลดลงอีก เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประชาชนยังมองว่าเขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
“เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนให้กับนักต่อสู้ว่าจะเอาตัวเองไปวางไว้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ พรรคเพื่อไทยต้องไม่ลืมว่าทางเดินทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ๆ มีถนนให้เขาเดิน แต่เป็นทางเดินที่ผ่านซากศพประชาชนสร้างถนนให้เขาเดิน”
เธอเสริมอีกว่า ส่วนตัวมองว่าฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงมีความเกลียดชังทักษิณอยู่ เชื่อว่า ยังต้องเจอปัญหาอีกมาก อย่ามัวฝันหวานว่าเป็นรัฐบาลแล้วจะสบาย เพราะยังไม่รู้ว่าอนาคตจะลงเอยอย่างไร
“ถ้าเขาไม่จำอดีตของคนที่เคยเป็นศัตรูที่ทำร้ายเขา เขาก็คงไม่จำอดีตของคนที่เป็นมิตร ที่เคยต่อสู้มากับเขาเหมือนกัน” ธิดา ระบุ
2. วรชัย เหมะ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และอดีตแกนนำ นปช. มองว่าการร่วมรัฐบาลของทั้งสองพรรคว่า ‘เป็นความจำเป็น’ เพราะด้วยเงื่อนไขสถานการณ์และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะให้คนตั้งรัฐบาลทำอย่างไร
ถึงจะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ในยุคของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี สลายม็อบคนเสื้อแดง แต่อภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้ว และพรรคพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ผลัดใบ เป็นคนละกลุ่มกับแกนนำรุ่นเก่า
“แม้จะมีความรู้สึกถึงการสลายม็อบ 99 ศพ รวมถึงความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง แต่เราต้องแยกคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และต้องเห็นใจรัฐบาล ที่ต้องเพิ่มเสียงเพื่อความมั่นคง”
3. ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำ นปช. ยอมรับว่า คนเสื้อแดงจำนวนมากยังติดใจกับคำว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผู้บริหารในยุคปัจจุบัน คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน และคณะที่ไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 เป็นคนละทีมกับที่ออกคำสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความโหดเหี้ยม
เท่าที่ได้สัมผัสหัวหน้าและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มีมุมมองต่อการเมืองที่ดี เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงบวก ไม่ฝักใฝ่ทหาร ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกระบบ “ส่วนตัวผมไม่ติดใจเลย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 และเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อย่างนี้คงไม่เห็นด้วย”
ทั้งนี้ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กต่อการยื่นหนังสือเทียบเชิญของพรรคเพื่อไทยว่า “ปี 53 ที่ตายนั่นเค้าคือมนุษย์ นะคะ”
อ้างอิงจาก