ราว 04.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน เดินทางมาถึง และยกกำลังเข้าล้อมมหาวิทยาลัยจากทางด้านสนามหลวง และนำกำลังติดอาวุธไปตั้งในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
05.30 น. ระเบิดเอ็ม.79 ลูกแรก ถูกยิงมาจากฝ่ายตำรวจนอกมหาวิทยาลัย ตกกลางผู้ชุมนุมที่สนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
ราว 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนัก จากด้านหน้าหอประชุมใหญ่ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ผู้ชุมนุมนับพันคน ต้องหนีเข้าไปหลบในอาคารรอบสนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
08.25 น. ตชด.บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ และได้พยายามเข้าจับกุมฝ่ายผู้ชุมนุมที่หลบตามอาคารรอบสนามฟุตบอล
10.30 น. หลังจากตำรวจบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว นักศึกษาประชาชนถูกสั่งให้นอนคว่ำ แล้วควบคุมตัวไว้ทยอยลำเลียงขึ้นรถเมล์และรถสองแถวส่งไปขังตามสถานีตำรวจต่างๆ (มี 3 แหล่งใหญ่ๆ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน) มากกว่า 3,000 คน ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือแต่เสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้น ระหว่างที่คลานไปตามพื้นก็ถูกเตะถีบจากตำรวจ ระหว่างขึ้นรถก็ถูกด่าทออย่างหยาบคายและถูกขว้างปาเตะถีบจากตำรวจและอันธพาลกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ระหว่างลงจากรถไปยังที่คุมขังก็ถูกตำรวจปล้นชิงทรัพย์สินและของมีค่าไป
18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ
[ข้อความด้านบนทั้งหมดคัดลอกมาจากลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลา บนเว็บไซต์ doct6.com]
แม้วันวานแห่งมหาวิปโยคเช่นนั้นจะผ่านพ้นมานาน 47 ปีแล้ว แต่หลายคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์วันนั้นยังมีลมหายใจและหลายคนเติบโตใหญ่จากหนุ่มน้อยกลายเป็นเสาหลักของบ้านเมือง เหล่าหนุ่มน้อยในวันวานที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในวันนี้พวกเขาอยู่ที่ไหนกันบ้างในการเมืองไทย มีใครบ้างที่เปลี่ยนแปลงจุดยืนไป และใครบ้างที่ยังมั่นคงปักเสาเข็มอยู่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ซีกรัฐบาล
- ภูมิธรรม เวชยชัย
“มันเป็นสิ่งสะท้อนความรู้สึกของคนรุ่นหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราใสซื่อบริสุทธิ์และรู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากได้ไม่ได้ยากอะไร เป็นเรื่องความถูกต้องและยุติธรรม” ภูมิธรรมพูดถึงความรู้สึกหลังเปิดกล่อง ‘ฟ้าสาง’ ซึ่งจัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา
ภูมิธรรม หรือสหายใหญ่อดีตแกนนำนักศึกษาจากรั้วจุฬาฯ เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน และเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ สโมสรนิสิตจุฬาฯ ก่อนแพ้ให้กับ วีระกร คำประกอบ (อดีต สส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐที่ย้ายไปภูมิใจไทย แต่แพ้การเลือกตั้งปี 2566) ภูมิธรรมอยู่ในธรรมศาสตร์วันที่มีการล้อมปราบนักศึกษา ก่อนตัดสินใจเข้าป่าและได้รับชื่อ ‘สหายใหญ่’
ภายหลังเหตุการณ์ ‘ป่าแตก’ ภูมิธรรมกลับมาเรียนต่อจนรับใบปริญญา ก่อนกลายเป็นหนึ่งในคีย์แมนสำคัญที่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยร่วมกับ ทักษิณ ชินวัตรและอยู่คู่เป็นเสาหลักให้กับพรรคผ่านทั้งการรัฐประหารในปี 2549 ในปี 2557 รวมถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน
ภายใต้รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน สหายใหญ่รับตำแหน่งสำคัญคือ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งยังถูกมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ งานช้างงานหินที่ถูกจับตามองจากทั้งฝากฝั่งขั้วจารีตอำนาจนิยมและขั้วประชาธิปไตย
- นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรเดช
“มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก มันเป็นช่วงชีวิตที่มัน บางทีมันเจ็บนะ แต่มีคุณค่าที่ 50 ปีแล้วมันอยู่ และเด็กรุ่นหลังมาก็ยังมาเข้าใจ (ร้องไห้)”
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรเดชเช็ดน้ำตาหลังเห็นข้าวของในกล่องฟ้าสางแล้วพูดต่อ “พวกเพื่อนๆ ไม่ตายเปล่า ชีวิตพวกเราที่สูญเสียไปมันมีคุณค่าในเวลาต่อมา”
หมอมิ้งเป็นอีกหนึ่งแกนนำนักศึกษาคนสำคัญ อดีตเลขาฯ คนที่ 2 ของพรรคแนวร่วมมหิดล (ประธานพรรคคนแรกคือ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่ม นปช.) ที่ถูกเปรียบดั่งมันสมองของการเคลื่อนไหวนักศึกษาในเวลานั้น ภายหลังการล้อมปราบเขาตัดสินใจหนีเข้าป่าร่วมกับพรรค พคท.และได้รับสมญานาม ‘สหายจรัส’
เช่นเดียวกับภูมิธรรม นพ.พรหมินทร์เป็นหนึ่งในผู้ปลุกปั้นพรรคไทยรักไทยขี้นมากับมือ ก่อนถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 ในฐานะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ปัจจุบัน เขาเป็นขุนพลข้างกายคนสำคัญของ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งเลขาฯ นายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียวกับที่เคยยืนข้างทักษิณจนถึงการรัฐประหารปี 2549
- นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
อดีตนักศึกษาแพทย์จาก ม.มหิดล และคนเดือนตุลาที่หันมาทำงานการเมืองเต็มตัว เขาเคยเล่าว่าภาพของผู้ชุมนุมที่ถูกลากไปบนถนนและกลิ่นเผาศพบริเวณท้องสนามหลวงในเช้าวันที่ 6 ตุลา ยังคงติดตรึงและหล่อหลอมให้เขาเป็นเช่นทุกวันนี้
นพ.สุรพงษ์เป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญตั้งแต่ยุคไทยรักไทย เขาเคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ รัฐมตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้ในการเลือกตั้งปี 2566 หมอเลี๊ยบจะตัดสินใจถอยไปหลังฉาก ล่าสุดเขาก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติผลักดันนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ตั้งเป้า 20 ล้านครอบครัวมีรายได้ 200,000 บาท/ปี
- จาตุรนต์ ฉายแสง
อีกหนึ่งผู้นำนักศึกษาในยุค 6 ตุลา ในสมัยนั้นจาตุรนต์กำลังเรียนอยู่ปี 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเขาขะมักเขม้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนได้รับเลือกให้เป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองเลขาฯ ศนท. ก่อนจะตัดสินใจเข้าป่าและถูกตั้งชื่อว่า ‘สหายสุภาพ’
หลังจากออกจากป่า จาตุรนต์ตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ และกลับมาเข้าสู่เส้นทางการเมืองตามรอยพ่อ (อนันต์ ฉายแสง) โดยลงสมัคร สส.จังหวัดฉะเชิงเทรา ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกให้เข้าสู่สภาครั้งแรกในปี 2529
เขาเป็นอีกหนึ่งคีย์แมนคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และเคยนั่งรักษาการหัวหน้าพรรคก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ในการเลือกตั้งปี 2562 เขาย้ายไปร่วมกับพรรมไทยรักษาชาติตามยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ และหมดโอกาสเข้าสู่สภาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในปัจจุบัน จาตุรนต์ได้รับเลือกเข้าสู่สภาภายใต้สีเสื้อพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
อีกหนึ่งวีรกรรมที่โด่งดังมากของจาตุรนต์คือ การแถลงข่าวต่อต้านรัฐประหารปี 2557 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก่อนถูก คสช.ควบคุมตัวและตั้งข้อหา ขัดคำสั่ง คสช., ม.116 และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีโทษระวาง 14 ปี โดยถูกจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนได้รับการปล่อยตัว ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557
- อดิศร เพียงเกษ
จ้าวบทกลอนแห่งทวิภพผู้นี้คืออดีต ‘สหายสอง’ หรือ ‘สหายศรชัย’ อดีตหนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมในช่วง 6 ตุลา โดยภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เขาและครอบครัวได้เข้าป่าบริเวณฝั่งลาว ก่อนออกมาเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัวและได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาครั้งแรกในปี 2534 ภายใต้เสื้อของพรรคมวลชน
อดิศรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองในปี 2550 ก่อนไม่มีโอกาสได้เข้าสภาสักครั้งตลอดกว่า 15 ปีที่ผ่านมา จนในการเลือกตั้งปี 2566 อดิศรได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เป็นมือประสานและกาวเชื่อมความสัมพันธ์ของ 11 พรรคร่วมรัฐบาล
นอกจากรายชื่อข้างต้นยังมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล และ สส. แพร่ รวมถึง สุธรรม แสงประทุม เลขาฯ ศนท. ในช่วงดังกล่าวและ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นประจักษ์พยานต่อความโหดร้ายในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ฝ่ายค้าน
- ชวน หลีกภัย
ชวน หลีกภัย เป็น สส.ฝ่ายค้านคนเดียวของสภาที่เคยเป็นคนรุ่น 6 ตุลา โดยในการเลือกตั้งเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ชวนได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของชาวตรังเป็นสมัยที่ 3 และได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ดี ประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นถูกมองว่าแบ่งขั้วข้างภายในพรรค โดย สส.ในกรุงเทพฯ ถูกมองว่าสนับสนุนขบวนการฝ่ายขวา ขณะที่ สส.อีกฝั่งถูกมองว่าสนับสนุนนักศึกษา
จนกระทั่งการล้อมปราบในปี 2519 ชวนเป็น 1 ใน 3 สส.ประชาธิปัตย์ที่ถูกกลุ่มขวาจัดแปะป้ายว่าสนับสนุนคอมมิวนิสต์ (ร่วมกับ สุรินทร์ มาศดิตถ์ และ ดำรง ลัทธพิพัฒน์) ทำให้เขาตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่ จ.ตรัง และเริ่มเขียนนิยาย ‘เย็นลมป่า’ ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวชาวบ้านในป่ายางที่พยายามใช้ชีวิตโดยไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง และได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลง ‘นิตยสารพาที’ ที่มี ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นบรรณาธิการ ก่อนจะนำรวมเล่มในช่วงปี 2522
“วันปีใหม่ได้จบลงเพียง 1 มกราคม 2521 อนาคตไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงวันพรุ่งนี้ ใครจะบอกได้ว่า เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มิใช่หลุมศพอันลึกใหญ่ที่เขาช่วยกันขุดฝังตัวเอง อนาคตเท่านั้นที่จะบอกเรา” เย็นลมป่า หน้า 81
สมาชิกวุฒิสภา
- คำนูณ สิทธิสมาน
ถึงแม้วันนี้ภาพของ คำนูณ สิทธิสมาน จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สว.จาก คสช. ผู้ทำรัฐประหาร แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คำนูณเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาคนสำคัญ เขาเคยร่วมกับรุ่นพี่จัดทำหนังสือ ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่นเรศวร’ เปิดโปงการล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอำนาจจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่ต่อมาจะได้รับเลือกให้เป็นเลขาฯ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในปี 2518 และอยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในรั้วธรรมศาสตร์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ
ภายหลังที่คำนูณจบการศึกษา เขาเดินเข้าสู่ถนนสายสื่อมวลชนเต็มตัวและมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มพันธมิตร กระทั่งภายหลังรัฐประหารปี 2549 คำนูณได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และได้รับเลือกเป็น สว.สรรหา 3 สมัย ได้แก่ ปี 2551 ปี 2554 และปี 2562 และมีส่วนในการโหวตไม่รับรอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ
บุคคลสำคัญบนหน้าการเมืองปัจจุบัน
- ศุภชัย โพธิ์สุ
อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ในสมัยสภาที่แล้ว ศุภชัย โพธิ์สุ เคยเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาครูในภาคอีสานที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยใน จ.สกลนคร ก่อนจะถูกทางการปราบปราม จนทำให้เขาตัดสินใจหนีเข้าป่าร่วมกับ พคท. และได้รับชื่อจัดตั้งว่า ‘สหายแสง’ รับหน้าที่ทำงานมวลชนในเขตรอยต่อ 3 อำเภอ คือ อ.เรณูนคร อ.ปลาปาก และ อ.นาแก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เดียวกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เคยดูแล
ภายหลังออกจากป่า ศุภชัยกลับมาเรียนต่อและรับราชการครูใน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และพยายามลงสมัครเลือกตั้งอยู่ถึง 3 ครั้ง จนเข้าสู่สภาครั้งแรกในปี 2544 ในนามพรรคความหวังใหม่ ก่อนจะร่วมกับกลุ่มเพื่อนเนวินสนับสนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ในช่วงปี 2551 และย้ายมาก่อตั้งพรรคภูมิใจไทยร่วมกับ เนวิน ชิดชอบ
แม้ในการเลือกตั้งล่าสุด สหายแสงจะสอบตกแพ้ให้กับ มนพร เจริญศรี จากพรรคเพื่อไทย แต่ล่าสุดมีรายงานว่าสหายแสงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงมหาดไทยของ เสี่ยหนู – อนุทิน ชาญวีรกูล
- มีชัย ฤชุพันธุ์
หากจะนับมือกฎหมายชั้นครูที่ถูกเรียกใช้งานซ้ำแล้วซ้ำเล่า หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยนอกจากเขาจะเป็นสถาปนิกหลักในการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้การเมืองไทยบิดเบี้ยวมาถึงปัจจุบัน เขายังเคยขึ้นไปสูงสุดถึงตำแหน่งรักษาการนายกฯ มาแล้ว ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยดำรงตำแหน่งสั้นๆ เพียง 48 วัน
และถ้าจะหาใครสักคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างไม่เอนเอียง มีชัยคือหนึ่งในนั้น เพราะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีชัยมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกฯ เสนีย์ ปราโมช ฝ่ายกฎหมาย ก่อนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือระหว่างปี พ.ศ. 2520 – 2522 และระหว่าง พ.ศ. 2532 – 2534
- กฤษฎางค์ นุตจรัส
ถ้าฝ่ายจารีตนิยมมีมีชัยเป็นจอมขมังเวทย์ทางกฎหมาย ฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าก็มี กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์สิทธิมนุษยชนเช่นกัน
ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ทนายด่างเป็นนักศึกษาและสมาชิกสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในคนที่รอดตายจากการล้อมปราบของกลุ่มขวาจัดด้วยความช่วยเหลือของชาวบ้านละแวกท่าพระจันทร์ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเขาก็เบนเข็มเข้าสู่อาชีพทนายเรื่อยมา และรับว่าความให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองหลายคนในไทย โดยเฉพาะในคดี ม.112 และ ม.116
อันที่จริง นอกจากบุคคลเหล่านี้ยังมี วีระกร คำประกอบ อดีตนายกฯ สโมสรนิสิตจุฬาฯ และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือ ‘สหายจำรัส’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่เพิ่งประกาศวางมือทางการเมือง ทั้งสองคนล้วนเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ล้อมปราบในวันนี้เมื่อ 47 ปีที่แล้ว
47 ปีผ่านไป ความจริงในวันนั้นยังเป็นภาพเบลอเหมือนกล้องหมุนผิดโฟกัส ผู้เสียชีวิตหลายรายยังไร้นาม ผู้กระทำการและผู้อยู่เบื้องหลังไม่เคยต้องรับโทษ…นี่หรือคือวิธียุติความขัดแย้งของสังคมไทย?
ใครที่สนใจเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา สามารถเข้าไปอ่านและดูภาพเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์: https://doct6.com/
อ้างอิงจาก: