กิมจิ เมนูเครื่องเคียงชื่อดังของเกาหลีกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร และผู้ผลิตต่างบอกว่า คุณภาพและปริมาณของผักกาดขาวที่ใช้ทำเมนูนี้กำลังลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
ผักกาดขาวเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นและมักปลูกในพื้นที่ภูเขา ซึ่งอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนของเกาหลีซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูกที่สำคัญนั้นอุณหภูมิแทบจะไม่เคยสูงเกิน 25 องศาเซลเซียสเลย
การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามพืชผลเหล่านี้อย่างมาก จนทำให้เกาหลีอาจไม่สามารถปลูกผักกาดขาวได้ในสักวันหนึ่งเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
“เราหวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นจริงในอนาคต ผักกาดขาวชอบและเติบโตในสภาพอากาศเย็นและปรับตัวได้ช้า ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18 – 21 องศาเซลเซียส” นักพยาธิวิทยาพืชและนักไวรัสวิทยา อี ยองกยู (Lee Young-gyu) กล่าว
ผู้ผลิตกิมจิทั้งเชิงพาณิชย์และในครัวเรือนเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว แม้ว่ากิมจิจะสามารถใช้ผักชนิดอื่นทำได้ เช่น หัวไชเท้า แตงกวา และต้นหอม แต่ผักกาดขาวก็ยังคงเป็นผักที่นิยมใช้ทำกิมจิ
ลี ฮายอน (Lee Ha-yeon) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิจากกระทรวงเกษตร อธิบายถึงผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อผักชนิดนี้ว่า ผักกาดขาวจะเน่า และรากจะเละ หากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเราอาจจะต้องเลิกกินกิมจิในฤดูร้อน
ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานสถิติของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ปลูกผักกาดขาวบนพื้นที่สูงในปีที่แล้วมีพื้นที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3,995 เฮกตาร์ เทียบกับ 8,796 เฮกตาร์
ตามรายงานของสำนักงานพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรของรัฐ ระบุว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะลดลงอย่างมากภายใน 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 44 เฮกตาร์ และไม่มีการปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่สูงภายในปี 2090
นักวิจัยระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกหนักแบบคาดเดาไม่ได้ และแมลงศัตรูพืชที่ควบคุมได้ยากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่อบอุ่นและยาวนานขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้พืชผลหดตัว ขณะที่เชื้อราที่ทำให้พืชเหี่ยวเฉาเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะ เนื่องจากจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลี ซึ่งกำลังต่อสู้กับการนำเข้ากิมจิราคาถูกจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เสิร์ฟในร้านอาหาร
ข้อมูลศุลกากรแสดงให้เห็นว่า การนำเข้ากิมจิจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 6.9% เป็นมูลค่า 98.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยเกือบทั้งหมดมาจากจีน และถือเป็นมูลค่าสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าว
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลได้พึ่งพาการจัดเก็บในห้องแช่เพื่อป้องกันราคาที่พุ่งสูงและปัญหาการขาดแคลน นักวิทยาศาสตร์ยังเร่งพัฒนาพันธุ์พืชที่สามารถเติบโตได้ในภูมิอากาศที่อบอุ่นขึ้น และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและทนต่อการติดเชื้อได้ดีกว่า
อ้างอิงจาก