จำได้ไหมว่าเราใช้สมุดนักเรียนหน้าตาแบบไหนตอนประถม เรื่อยมาจนถึงช่วงมัธยม หน้าตาของสมุดนั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนไป ปกสีเข้มสด เขียนชื่อ-สกุล ชั้น ด้านหลังมีตารางสูตรคูณ ตารางสอน เป็นแบบนี้เรื่อยมาตั้งแต่อยู่ในระบบการศึกษา จนในตอนนี้เชื่อไหมว่า สมุดนักเรียนยังมีหน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
จนในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นสมุดจาก ‘โรงงานสมุดโกญจนาท’ ในรูปแบบที่ต่างออกไป จากสีเข้ม ปรับมาเป็นสีพาสเทล ทันสมัย สบายตา สมุดลายไทยก็ถูกปรับให้มีสีสันและแพทเทิร์นที่ร่วมสมัยมากขึ้น ไปจนถึงปกหลัง ที่มีข้อมูลแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มสาระวิชา โดยปรับข้อมูลให้เหมาะสมกับวิชานั้นๆ ไม่ได้ยึดติดอยู่กับตารางสูตรคูณ ตารางสอน ที่ไม่จำเป็นกับวิชาอื่นๆ อีกต่อไป
เมื่อได้เห็นสมุดนักเรียนในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น ช่วยกระตุ้นความทรงจำของใครหลายคนเช่นกัน ว่าสิ่งนี้มันไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยมานานแค่ไหนแล้วนะ The MATTER ได้พูดคุยกับ ‘คุณมิน’ ผู้ออกแบบสมุดนักเรียนสีพาสเทลและปกหลังตามรายวิชา ถึงเรื่องราวของการก้าวข้ามการออกแบบเดิมๆ
โรงงานสมุดโกญจนาท เป็นธุรกิจทางบ้านของคุณมิน ที่เปิดมาแล้วกว่า 40 ปี โดยโรงงานจะเน้นการขายส่งในจำนวนมากๆ แก่พ่อค้าคนกลาง เพื่อกระจายไปยังร้านเครื่องเขียนต่างๆ อีกทีหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณมินรู้สึกว่าสมุดนักเรียนแบบเดิมๆ นี้ มันได้เข้ากับยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว จึงใช้ความรู้ความสามารถ จากการเป็นกราฟิกดีไซน์ ปรับเปลี่ยนสมุดนักเรียนแบบเดิมของโรงงานให้กลายเป็น 2 รุ่นยอดฮิตที่เราเห็นผ่านตากัน อย่างสมุดพาสเทล ที่เลือกลดความฉูดฉาดลง และสมุดลายไทย ที่ปรับแพทเทิร์นให้มินิมอล ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยยังคงคอนเซ็ปต์เดิมของการเป็นสมุดนักเรียนอยู่
และอีกไฮไลต์สำคัญ คือการปรับหลังสมุดลายไทย ที่เดิมเป็นตารางสูตรคูณ ตารางสอน ให้กลายเป็นข้อมูลที่เหมาะกับวิชานั้นๆ โดยอ้างอิงจาก 8 กลุ่มสาระวิชา โดยวิชาคณิตศาสตร์ เป็นสูตรคูณ ระบบเมตริก สูตรหาพื้นที่ ภาษาอังกฤษ เป็นตาราง 12 Tense ภาษาไทย เป็นการผันเสียงวรรณยุกต์ คำเป็นคำตาย คำครุลหุ สังคม แผนที่ประชาคมอาเซียน วิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วงจรไฟฟ้า แรงลัพธ์ ความหนาแน่น การงานอาชีพ เป็นการแยกขยะ การซ่อมผ้า สัญลักษณ์ดูแลเสื้อผ้า สุขศึกษา เป็นความหลากหลายทางเพศ และดนตรี ศิลปะ เป็นบันไดเสียง การอ่านโน้ต
ถือเป็นการหลุดจากกรอบเดิมๆ ที่ไม่ได้พ้นไปแค่เรื่องของดีไซน์ แต่เป็นเรื่องของฟังก์ชั่นด้วย เมื่อถามถึงที่มาของไอเดียนี้ คุณมินเล่าว่า “สมุดนักเรียนโดยทั่วไปเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอยู่แล้ว คือด้านหลังเป็นสูตรคูณ ตารางสอน มีมาตราชั่วตวงวัด เราตั้งคำถามกับสิ่งนี้ว่า ทำไมมันต้องมีเท่านี้ ทั้งที่เราเรียน 8 วิชา เราถามคนที่อยู่ในวงการนี้มาก่อน เขาก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้เหมือนกัน ก็มันเป็นมาแบบนี้ เลยทำตามกันมาทุกเจ้าเลย ไม่ใช่แค่เราเจ้าเดียว”
และเสริมอีกว่า “ตอนออกสมุดนักเรียนใหม่นี้ คอนเซ็ปต์มันเยอะกว่าตัวอื่นมากเป็นพิเศษ มันค่อนข้างจะมีฟังก์ชั่นในการใช้งานอยู่ เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาไปมากกว่าการออกแบบรูปเล่ม แต่ต้องคำนึงถึงว่ามันจะไปใช้งานยังไง”
แน่นอนว่าสำหรับผู้ผลิต ที่อยากลองผลิตสิ่งที่ไม่มั่นใจว่าจะขายได้หรือเปล่า ทั้งที่มีสิ่งที่ขายได้อยู่แล้วในมือ มันค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร แต่คุณมินและทางโรงงานก็ตัดสินใจผลิตสินค้าใหม่นี้ออกมา เมื่อถามถึงในช่วงการตัดสินใจ คุณมินเล่าว่า
“มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีอะไรให้เราอ้างอิง ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ เพราะไม่มีเจ้าไหนทำ มันเป็นสินค้าที่ทุกเจ้าก็ทำตามๆ กันมา มันมีมวลอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้ผลิตรู้สึกว่าไม่ควรจะไปเปลี่ยนมันหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น เพราะเราต้องยอมเสี่ยง”
ด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้สำหรับผู้ใช้งานจะรู้สึกว่านี่สิ คือสิ่งที่เราได้ใช้งานจริง ตอบโจทย์ทั้งดีไซน์และฟังก์ชั่น แต่ด้วยโรงงานสมุดโกญจนาทเป็นผู้ค้าส่งมาตลอด จึงมีลูกค้าเจ้าประจำที่ซื้อสมุดดีไซน์เดิมนี้มานานนับ 10 ปี เมื่อลองเสนอรูปแบบใหม่นี้ไป กลับขายไม่ได้เลยสักเจ้าเดียว
คุณมินเล่าถึงตอนเริ่มขายสมุดแบบใหม่นี้ว่า “ตอนแรกมันยังไม่ดีนะ ปกติโรงงานเราขายปลีกอย่างเดียว ไม่มีขายส่ง มีลูกค้าประจำที่ซื้อกันมาตั้งแต่เริ่ม ลูกค้ากลุ่มเดิมๆ พอเอาแบบใหม่ไปขายลูกค้าเก่า ก็ไม่มีใครซื้อเลย เป็นศูนย์ ทั้งเราเอาตัวอย่างไปให้ดู ก็ไม่มีใครซื้อ เขาก็ยังซื้อตัวเดิม”
แต่เมื่อมันของมันผลิตออกมาแล้ว ได้ก้าวข้ามความเสี่ยงทั้งที จึงลองขยับจากตลาดค้าส่งมาเป็นตลาดค้าปลีกดูบ้าง “ลองเอาไปขายปลีก มันดันขายดีมากตั้งแต่วันแรกที่เปิดขาย โดยที่เราไม่ได้โปรโมตอะไรเลย เดือนเดียวสมุดพาสเทลขึ้นอันดับ 1 ในหมวดหมู่สมุด ของ Shoppee มันเลยเริ่มเห็นแววว่ามันจะไปได้ เลยมีลายไทยตามมา”
แม้จะเป็นดีไซน์ใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่ราคาของสมุดพาสเทลนั้นยังคงอยู่ในราคาเรตเดิมที่นักเรียนจับต้องได้ เพราะทางโรงงานเองไม่รู้ว่าราคาปลีกเป็นยังไง ไม่เคยมีค่าแบรนด์ดิ้ง มาเก็ตติ้ง ทีนี้ พอเรามาขายปลีกเอง เลยเลือกขายในราคาที่โรงงานอยู่ได้ และลูกค้าอยู่ได้
ตลอดช่วงเวลาที่คุยกัน เราสัมผัสได้ถึงแพสชั่นในการพัฒนาสินค้าและธุรกิจของคุณมินเสมอ ที่ไม่ได้สนแค่ว่ามันต้องทันสมัยขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่มันต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น โดยรับฟังจากเสียงของลูกค้าปลีกผู้ใช้งานจริง มาปรับเปลี่ยน พัฒนาสินค้าชิ้นต่อๆ ไปเสมอ
นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวไปตามยุคสมัยนั้นอาจช่วยให้สินค้าเดิมๆ รอดพ้นจากการแข่งขันในตลาดใหญ่ได้ โดยยังคงคอนเซ็ปต์เดิมของสินค้าไว้ได้ด้วย