วันพรุ่งนี้ (26 กันยายน 2567) จะเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ทนายอานนท์ต้องโทษจำคุกตามกฎหมายมาตรา 112
The MATTER ขอชวนย้อนดูว่า ทนายอานนท์ – อานนท์ นำภา เป็นใคร ถูกพิพากษาจำคุกได้อย่างไร ตลอด 1 ปีที่ผ่านมานั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง และความเห็นทางสังคมกำลังบอกเราเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่าอย่างไร
- อานนท์ นำภา หรือ ‘ทนายอานนท์’ เป็นทนายความสิทธิมนุษยชน และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 39 ปี
- หนึ่งในคดีที่ทนายอานนท์เคยว่าความ คือคดีคุ้นหูอย่าง ‘คดีอากง SMS’ ในปี 2553 ซึ่งอากง – อำพล ตั้งนพกุล ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 ต้องโทษจำคุก 20 ปี จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
- ทนายอานนท์ ได้ว่าความในคดีการเมือง และมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด จนเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นในช่วงปี 2563 จากการขึ้นเป็นแกนนำปราศรัยในประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์
- หลังจากนั้นอานนท์ก็ถูกจับกุมตามมาตรา 112 อยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการประกันตัวตามกระบวนการทางกฎหมาย
- จนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 อานนท์ได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา โดยมีนื้อหาพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งนำมาสู่การถูกศาลอาญาพิพากษาในวันที่ 26 กันยายน 2566 จากการถูกสั่งฟ้องในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา
- ทนายอานนท์ ระบุว่า การปราศรัยข้อความนั้นมีเจตนาป้องกันไม่ให้ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายกษัตริย์ อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา
- สำหรับข้อกล่าวหาอื่นๆ ที่ยกฟ้อง ได้แก่ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358) และกีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385)
- ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทันที โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท แต่ในวันที่ 30 กันยายน 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของจำเลยสร้างความเสียหายต่อการปกครอง เป็นพฤติการณ์ร้ายแรง และหากอนุญาตให้ปล่อยตัวก็มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี
- คดีนี้ยังถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยหลังจากนั้นยังมีการพิพากษาในคดีอื่นๆ อีก 4 คดี ได้แก่ คดีที่ 2 จากการโพสต์ข้อความเป็นบนเฟซบุ๊ก วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 สั่งจำคุก 4 ปี
- คดีที่ 3 จากการปราศรัยในการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อปี 2563 ศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 สั่งจำคุก 3 ปี และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 วัน ปรับ 150 บาท ทั้งนี้ มีการลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท
- ล่าสุด เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 มีการพิพากษาคดีที่ 4 จากกรณีโพสต์วิจารณ์การบริหารแผ่นดินของกษัตริย์ว่าขัดหลักประชาธิปไตย ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 สั่งจำคุก 4 ปี
- จนถึงตอนนี้ ทนายอานนท์ จึงถูกพิพากษาจำคุกรวมทั้งหมด 14 ปี 20 วัน จากโทษ 4 คดี และยังมีคดีอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการพิพากษาอีก
- ระหว่างถูกจำคุก ทนายอานนท์ได้เขียนจดหมายออกมาถึงคนนอกเรือนจำอยู่เป็นระยะ เนื้อความส่วนใหญ่สื่อสารโดยตรงกับลูกทั้ง 2 คน โดยแสดงความรัก ความคิดถึง และอีกส่วนหนึ่งพูดถึงความเห็นที่มีต่อการรับโทษของตนเอง
- เช่น ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ทนายอานนท์เขียนจดหมายที่มีใจความสำคัญว่า “การรับโทษไม่ใช่การรับผิด” ซึ่งหมายถึงการที่เขากำลังจำคุกอยู่ในขณะนี้ จะไม่มีการสารภาพหรือยอมรับว่าการต่อสู้ของเขาและเพื่อนๆ เป็น ‘ความผิด’ อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่เพื่อความเปลี่ยนแปลง “การติดคุกของพ่อเป็นการยืนยันว่าบ้านเมืองเรามีปัญหา และมีคนสู้อยู่ เราไม่ได้สู้เพียงลำพัง” ทนายอานนท์กล่าวในจดหมายที่บอกกับลูก
- จากการไม่ได้ประกันตัว แม้ทนายจะยื่นเหตุผลและหลักฐานไปแล้ว ทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิทธิประกันตัวผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นสิทธิที่มักจะขาดหายไปในกลุ่มผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 โดยศาลมักอ้างว่าเป็นความผิดที่มีน้ำหนักมาก ทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับ ตามหลักว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
- ทนายอานนท์ยังเคยเล่ากับ The MATTER ในรายการ ‘30 ยังจ๋อย’ ว่า เขามองว่าการต้องเข้าคุกครั้งนี้เป็นการ “ชำระหนี้ เก็บใบเสร็จ เป็นบทสรุปของการเคลื่อนไหวทั้งหมด” เพราะชีวิตผ่านอะไรมาเยอะมาก ทั้งการว่าความในคดีมาตรา 112 จนโดนคดีเสียเอง นี่จึง “เป็นสิ่งที่เราได้รับ เป็นรายจ่ายที่เราต้องจ่าย และใบเสร็จนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าตัวบทกฎหมายมีปัญหาอย่างไร”
- นอกเหนือจากทนายอานนท์ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 273 คน โดยเป็นคดีการปราศรัย 59 คดี คดีการแสดงออกอื่นๆ (เช่น ติดป้าย แปะสติกเกอร์) 72 คดี คดีแสดงความเห็นบนออนไลน์ 168 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี
- ทั้งจากกรณีของทนายอานนท์ และผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองคนอื่นๆ นำมาสู่การเรียกร้องของประชาชนเพื่อผลกดันการ #นิรโทษกรรม ทางการเมือง ซึ่งใจความคือการลบล้างความผิดของที่โดนคดีทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ. ประกาศใช้ ซึ่งรวมถึงจากคดีมาตรา 112 ด้วย
- โดยร่าง พ.ร.บ. นิรโทรกรรม หลังจากที่คณะกรรมาธิการได้ไปศึกษาเพิ่มเติม จะเข้าสภาฯ ในวันที่ 26 กันยายนนี้ โดยในชั้นกรรมาธิการยังมีข้อเห็นต่างกันว่ามาตรา 112 ควรจะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่รวมเพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง ส่วนหนึ่งเห็นว่าควรรวมด้วยอย่างมีเงื่อนไข และสุดท้ายคือส่วนที่เห็นด้วยว่าควรรวมโดยไม่มีเงื่อนไข
- หลังจากนี้ นอกจากการพิจารณาคดีต่อๆ ไปของทนายอานนท์ ประเด็นการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมก็เป็นสิ่งที่จะต้องติดตามเช่นกัน เพราะอาจมีผลต่อฉากทัศน์การเมืองไทยในภาพรวมทั้งหมดต่อไป
อ้างอิงจาก