เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม 2567) ผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights หรือ OHCHR) แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีคดีตากใบหมดอายุความ เพราะอาจทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดสิ้นสุดลง และครอบครัวของเหยื่อ 85 ราย ไม่ได้รับความยุติธรรม
ในแถลงการณ์ระบุว่าในเดือนตุลาคม 2547 หลังจากการเจรจาล้มเหลว กองกำลังความมั่นคงได้เปิดฉากยิงผู้ชุมนุมจำนวนมาก บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีรายงานมีผู้เสียชีวิต 7 ราย และต่อมาผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 ราย ถูกจับกุมและบังคับให้นอนซ้อนทับกันบนรถบรรทุก ในสภาพที่ถือว่าถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย เป็นเวลา 5 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีก 78 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้สูญหายอีก 7 ราย
“หากไม่การดำเนินการใดๆ ต่อไป เรารู้สึกตื่นตระหนกอย่างยิ่งว่า คดีความเหล่านี้จะสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวถึง กรณีการหมดอายุความของคดีตากใบทั้ง 2 คดี ซึ่งยื่นฟ้องโดยญาติ-ประชาชน และอัยการสูงสุด
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ต้องหามารายงานตัว ‘แม้แต่คนเดียว’ ทั้งนี้หากไม่มีผู้มารายงานตัว คดีทั้งสองจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
“เราขอเตือนว่าหน้าที่ในการสืบสวน ดำเนินคดี และชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อในกรณีดังกล่าว จะไม่สิ้นสุดลง แม้ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปนานแล้ว” ผู้เชี่ยวชาญระบุ พร้อมย้ำเตือนว่า “ความล้มเหลวในการสืบสวน และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของไทย”
“ครอบครัวของเหยื่อต่างรอคอยความยุติธรรมมานานร่วมสองทศวรรษ เราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้รัฐบาลดำเนินการทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการรับผิดชอบอีกต่อไป และเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิในการแสวงหาความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา จะได้รับการเคารพ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ UN ยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนเพิ่มเติม เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้สูญหายในเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวน 7 คน ทั้งนี้แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลในประเด็นนี้ ต่อรัฐบาลไทยไปแล้ว
อ้างอิงจาก