หลังเที่ยงคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีตากใบจะหมดอายุความ
เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในวันเดียวกับที่จะหมดอายุความ (25 ตุลาคม 2547) ในตอนนั้นมีผู้เสียชีวิต 85 ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากที่เจ้าหน้าที่ ได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถ โดยมัดมือไพล่หลัง ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่ถูกควบคุมตัว ต้องนอนทับกัน 4-5 ชั้น เพื่อเคลื่อนย้ายไปยังค่ายทหารในปัตตานี ที่อยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร
เหตุการณ์นี้ผ่านมาแล้วสองทศวรรษ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการลงโทษ หรือรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น แม้ว่าอัยการจะมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทั้งสิ้น 7 ราย แต่จวบจนตอนนี้ก็ไม่มีใครปรากฏตัวออกมา
ท่ามกลางคำถามถึงเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้น The MATTER พูดคุยกับ ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการแก้กฎหมายอายุความในคดีอาญาว่ามีปัญหาอย่างไร และควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน
อายุความในคดีอาญาถูกพูดถึงผ่านคดีนี้เยอะมาก อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่ามันคืออะไร
คดีอาญาในโลกนี้ แบ่งเป็น 2 ระบบ ประเทศที่อยู่ในระบบภาคพื้นยุโรป ที่ใช้ประมวลกฎหมายที่มีลายลักษณ์อักษร ส่วนมากจะกำหนดอายุความในคดีอาญาไว้ ซึ่งอายุความคดีอาญาหมายถึงระยะเวลาสูงสุดของคดี
ภายในระยะเวลานี้เราจะต้องฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาล ตรงกันข้ามถ้าเกินระยะเวลานี้ไป จะเรียกว่าขาดอายุความ แม้ผู้ต้องหาจะทำจริงก็ตามก็ไม่มีอำนาจไปฟ้องเขาแล้ว ศาลต้องยกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ใช้อายุความในการกำหนดความผิด ก็มีเหตุผลอยู่ 2-3 เรื่อง เหตุผลแรกคือ คดีอาญาต้องดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าเกิดความผิดทางอาญา และปล่อยเนิ่นช้าไป ผ่านไป 20 ปี 30 ปี ไม่มีการดำเนินคดี จะทำให้พยานหลักฐานเลือนหายไม่ก็สูญหายไป หลักฐานที่เคยมีอยู่ก็อาจถูกทำลาย โดยเฉพาะความทรงจำของคนที่เห็นเหตุการณ์ ก็จะสูญหายและก็จะเลือนลางไปตามกาลเวลา
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกำหนดอายุความเร่งรัดเอาไว้ว่าแม้มีการทำผิดจริง ก็ต้องดำเนินคดีอาญาภายในอายุความ เพื่อรักษาความสดและความชัดเจนของพยานหลักฐาน ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีอายุความเลย คดีก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ เมื่อพยานเลือนรางหรือสูญหายไป อาจจะเกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หมายถึงคนที่เคยจำได้ว่า คนๆ นี้เป็นคนทำ อาจจะเลือนรางไป จำไม่ได้แล้ว หรืออาจจะไปจำอีกคนหนึ่งแทน คนนั้นก็อาจต้องรับผิดขึ้นมา
สรุปแล้วอายุความมีเพื่อเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม ฉะนั้นการมีอายุความ จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรีบดำเนินคดีและฟ้องร้องให้ทันภายในอายุความ
ทำไมบางประเทศถึงไม่มีอายุความ
กลุ่มประเทศที่ไม่มีอายุความจะยึดหลักระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common laws) ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้คดีอาญาอุกฉกรรจ์ เช่น คดีฆ่าคนตาย ไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นเรื่องสะเทือนความสงบ ดังนั้นจึงไม่มีอายุความ จับตัวผู้กระทำความผิดได้เมื่อไหร่ก็ต้องดำเนินคดี
อย่างไรก็ดี หากถามว่าอายุความเป็นเรื่องสากลหรือไม่ จริงๆ มันก็ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศในการกำหนดความผิดอาญาร้ายแรงว่าจะมีหรือไม่มีอายุความ แต่ไทยเป็นประเทศที่มีประมวล มีลายลักษณ์อักษร ก็จะมีอายุความ
อีกประเด็นคือ มีคดีไหนไหมที่สากลถือว่าต้องไม่มีอายุความเลย ซึ่งคำตอบก็คือมี ซึ่งฐานความผิดดังกล่าว ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศระบบไหนก็ตาม ก็จะถือเป็นเรื่องที่ผิดอยู่ดี เพราะความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่ร้ายแรงสูงสุดของโลก แม้จะทำมาเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ก็สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้
ซึ่งจะเป็น 4 ฐานความผิด ที่จะอยู่เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่ ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงคราม และ อาชญากรรมรุกราน
การที่ไทยมีการกำหนดอายุความ แต่ไม่สามารถจับคนผิดได้ มันเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและความสามารถของกระบวนยุติธรรมในคดีอาญา เนื่องจากประเทศไทยเริ่มหลักการไว้แล้วว่า กฎหมายไทยอยู่ในอายุความ ดังนั้นมันจึงเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ซึ่งคือรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลกระบวนการสอบสวน และดำเนินคดีต่างๆ ต้องทำด้วยความเร่งรัด และทำให้สำเร็จภายในอายุความให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยจนหมดอายุความ และหาคนผิดมาไม่ได้ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็จะเป็นความผิดชอบทางกฎหมายในทางการเมืองว่า ทำไมถึงดำเนินคดีล่าช้า ทำไมผู้ต้องหาถึงหลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมไปได้
อาจารย์คิดว่า ตอนนี้ถึงเวลาต้องแก้กฎหมายอายุความ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาลอยนวลพ้นผิดหรือไม่
เราไม่สามารถนำคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ทันเวลา เพราะการที่กำหนดอายุความไว้ และหน่วยงานไม่สามารถดำเนินคดีและฟ้องทันก่อนหมดอายุความ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเกิดปัญหาขึ้นมา เนื่องจากไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายหรือสังคมได้
และเรื่องที่น่าสังเกตคือ การที่จะหยุดอายุความได้ ต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ อัยการสั่งฟ้องคดีบวกกับต้องได้ตัวผู้ต้องหามาขึ้นศาล เพราะฉะนั้นคดีตากใบที่อัยการสั่งฟ้องอย่างเดียว แต่ผู้ต้องหายังหลบหนีไปต่างประเทศหรือยังไม่ถูกจับตัว อายุความจึงเดินหน้าต่อ
เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดมาก ในประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 95 ว่า ‘ต้องฟ้องและได้ตัวผู้ต้องหามาศาล ถึงจะถือว่าไม่ขาดอายุความ ดังนั้นถ้าฟ้องอย่างเดียว แต่ตัวยังไม่ได้มาศาลอายุความก็เดินไปเรื่อยๆ จนขาดไปวันหนึ่ง และเมื่อขาดอายุความแล้ว เช่น คดีตากใบที่จะขาดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
หลังจากนั้นผู้ต้องหามีสิทธิที่จะเดินทางกลับมาได้ แต่ถามว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยสามารถทำอะไรได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจะถูกระงับ เขาจะผิด เขาจะถูก เราไม่รู้ แต่ว่าในทางเทคนิคแล้วคดีจะถูกดำเนินต่อไม่ได้
บางประเทศมีอายุความเหมือนกับเรา แต่ทำไมคดีถึงหยุดชะงักได้
ขณะที่ในบางประเทศ ก็ใช้ระบบอายุความในคดีอาญาเหมือนบ้านเรา แต่ว่าประเทศเหล่านั้นมีกฎหมายที่ระบุว่า ‘ถ้าผู้กระทำความผิดหลบหนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนีออกจากประเทศ จะไม่ให้นับอายุความ’
สรุปง่ายๆ ก็คือ วินาทีที่ผู้ต้องหาหลบหนีอายุความจะถูกเบรก นาฬิกาจับเวลาจะหยุดทันที ฉะนั้นสมมติอายุความเดินมาถึง 19 ปี อีกปีหนึ่งจะขาดอายุความแล้ว ผู้ทำผิดหนีไปต่างประเทศปุ๊บ ในประเทศที่มีอายุความสะดุดหยุดอยู่ จะหยุดนับเวลาอายุความทันที
หากกลับมาหรือพบตัวเมื่อไหร่ค่อยเริ่มนับต่อ ที่กล่าวมาเป็นกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลเหมือนเรา แต่เขามีข้อกฎหมายพิเศษที่เติมเข้าไปว่า ‘ถ้าหลบหนีให้หยุดนับอายุความ’ ซึ่งผมมองว่าสร้างความยุติธรรมให้กับสังคมมากกว่า
ขณะที่กฎหมายประมวลอาญาของไทย คดีลักวิ่งชิงปล้น หรือแม้แต่ฆาตกรรมเราไม่มีการหยุดนับอายุความ แต่มีเฉพาะในคดีทุจริต ในเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 แต่ในคดีอย่างตากใบ หรือคดีอาญาทั่วไปเราไม่มี
ตัวอย่างต่อมาคือ ฝรั่งเศสที่แม้จะเป็นประเทศที่มีอายุความเหมือนเราเลย เช่น คดีฆาตกรรมก็มีอายุความ 20 ปี แต่กฎหมายฝรั่งเศสเขามี ‘อายุความสะดุดหยุดลง’ และเริ่มนับใหม่อายุความในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเมื่อนำตัวผู้กระทำผิดมา เวลาที่พนักงานสืบสวนเริ่มสืบสวนคดี คดีก็จะหยุดนับอายุความ และจะถูกนับหนึ่งใหม่ และเมื่อพนักงานสืบสวนทำงานเสร็จ อัยการมีคำสั่งฟ้อง ก็จะหยุดนับอายุความอีก เริ่มนับใหม่เป็น 20 ปี จนไปถึงศาลที่ก็จะสะดุดหยุดลงก่อน และค่อยนับใหม่ ศาลรับฟ้องก็จะเริ่มนับใหม่
อายุความในฝรั่งเศสแม้จะกำหนดไว้ 20 ปี แต่มันมีระบบสะดุดหยุดลงต่อทุกกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้อายุความได้รับการหยุด และเริ่มนับใหม่ไปเรื่อยๆ การขาดอายุความก็จะยากหากเทียบกับไทย
ในคดีตากใบที่อัยการสั่งฟ้องเมื่อคดีดำเนินมาถึง 19 ปีแล้ว ซึ่งอายุความของคดีควรถูกทำให้หยุด โดยการหยุดอายุความไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแค่กับผู้เสียหาย แต่ให้กับสังคมด้วย
ก่อนที่ตากใบจะหมดอายุความ เคยมีความพยายามจะต่ออายุความหรือไม่
ผมไม่เคยได้ยินเรื่องความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องอายุความที่ใกล้จะหมดของคดีตากใบเลย และไม่ปรากฏตามสื่อด้วย ผมก็เลยไม่ทราบมาก่อนว่ารัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร
แต่ผมมีข้อเสนอ และก็เห็นประเด็นอะไรบางอย่าง แต่ข้อเสนอตรงนี้มันเป็นความเป็นไปได้ในทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสากลตามแนวทางของคำวินิจฉัยสิทธิมนุษยชนยุโรป และอีกในหลายๆ ประเทศ
ข้อเสนอนี้เป็นไปได้ในทางกฎหมาย แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นในขึ้นในประเทศไทย ทำให้ข้อเสนอนี้จะเกิดขึ้นจริงนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยหลายปัจจัยมาก อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าคดีตากใบยังพอมีทางออก แต่ควรเริ่มทำก่อนหน้านานกว่านี้
ข้อเสนอแรกคือ ต้องออกกฎหมายแก้ไขอายุความที่ให้มีผลเร็วที่สุด โดยดึงโมเดลจากญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศสมาปรับใช้ ดังนั้นต้องแก้กฎหมายให้เร็วที่สุด สมมติกฎหมายแก้อายุความออกมา ณ ขณะนี้ จะทำให้กฎหมายแก้ไขอายุความครั้งนี้จะถูกนำไปใช้กับผู้ต้องหาทุกคน รวมทั้งผู้ต้องหาในคดีตากใบด้วย
ซึ่งหลายประเทศมองว่า ‘อายุความ’ ไม่ใช่ฐานความผิดและโทษในทางอาญา จึงไม่ใช่เป็นประเด็นว่าย้อนหลังแล้วเป็นผลร้ายได้หรือไม่ ตรงกันข้าม ผมยกอีกสถานการณ์หนึ่ง ถ้าอายุความตากใบขาดไปแล้ว และกฎหมายขยายอายุความเพิ่งประกาศหลังจากนั้น การฟ้องร้องผู้ต้องหาก็จะทำไม่ได้แล้ว เพราะพวกเขาได้รับสิทธิในการไม่ถูกดำเนินคดีเพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สมมติสามารถแก้กฎหมายได้ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ ก็ยังติดปัญหาที่สอง คือ แนวทางการพิพากษากฎหมายของศาลฎีกาไม่ได้คิดตามหลักที่ผมบอกไปก่อนหน้า เพราะศาลฎีกายึดหลักว่า ‘กฎหมายอายุความที่ออกวันนี้ จะใช้สำหรับคดีในอนาคตเท่านั้น’ จะไม่ย้อนหลังต่อการกระทำในอดีต เท่ากับศาลฎีกาไม่ได้เห็นสอดคล้องกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป
ดังนั้น แม้จะออกกฎหมายทันก่อนจะหมดอายุความ พร้อมทั้งจับผู้ต้องหามาได้ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิ แย้งว่า คดีขาดอายุความไปแล้วและศาลฎีกาก็จะเห็นด้วย สรุปแล้วต้องทำสองอย่างไปพร้อมกัน หนึ่งแก้กฎหมายก่อนที่คดีจะขาดอายุความ สองศาลฎีกาต้องเปลี่ยนแนวทางด้วย ด้วยเหตุนี้จะแก้กฎหมายขยายอายุความ ต้องแก้ก่อนที่คดีจะขาดอายุความ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันก่อนเป็นปี เป็นเดือนก่อนหน้านี้ ตอนนี้ไม่ทันแล้ว
ในเวลาที่คดีนี้กำลังจะเดินสู่ช่วงหมดอายุความเรื่อยๆ อาจารย์อยากจะทิ้งท้ายประเด็นอะไรไว้บ้างไหม
ผมคิดว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อรักษาความเรียบร้อยถือเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกประเทศล้วนทำ เพื่อรักษาความสงบ แต่ข้อสังเกตในคดีตากใบคือ รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนด้วย
เพราะฉะนั้นจับเขาจับได้ ขังเขาขังได้ แต่จะขังเข้าไว้อย่างที่เขาไม่เป็นมนุษย์ไม่ได้