กรณีซีรีส์ที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลจากการใช้ ‘ยาสลบ’ กับสัตว์เพื่อการถ่ายทำ ที่หลายๆ คนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความจำเป็น แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีการชี้แจงว่าอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
การถกเถียงนี้ สะท้อนความสำคัญเรื่อง ‘สวัสดิภาพของสัตว์’ เมื่อในวันนี้อุตสาหกรรมความบันเทิงมี ‘สัตว์’ เป็นส่วนประกอบ The MATTER เลยอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจ และตามหาสมดุลระหว่าง ‘สวัสดิภาพสัตว์’ กับการใช้งานเพื่อความบันเทิงไปด้วยกัน
ถ้าเราพูดถึงความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ ก็ดูจะมีปัจจัยสำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น อาหารและน้ำ, การนอนหลับพักผ่อน, สุขภาพ และกิจกรรมตามธรรมชาติ ซึ่ง ‘สวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare)’ คือ การที่สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูให้มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งพูดง่ายๆ คือต้อง ‘สุขกายสบายใจ’ นั่นเอง
สวัสดิภาพสัตว์ ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกโดยสหภาพยุโรป (EU) โดยมีกฎระเบียบที่ครอบคลุมถึงสายพันธุ์สัตว์ต่างๆ และปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการคุ้มครองสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มทั้งหมด และมีคำสั่งเฉพาะสำหรับการคุ้มครองสัตว์แต่ละตัวด้วย
แม้ว่าจะถูกริเริ่มโดยสหภาพยุโรป แต่ประเทศไทยก็มีหลักปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งการป้องกันการทารุณกรรมนี้ยังรวมไปถึงการดูแลสัตว์ไม่ให้ต้องทนทุกข์ทรมาน และยังมีเรื่องของการใช้งานสัตว์ทำงานเกินควร หรือไม่สมควร ตามกฎหมายมาตรา 382 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ และภาพยนตร์ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์
ยกตัวอย่างประเทศจีน ก่อนหน้านี้ซีรีส์เรื่อง Marvelous Women ที่ฉายในปี 2021 ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ หลังจากที่มีฉากแมวถูกวางยา และดิ้นทุรนทุรายบนพื้นพร้อมกับมีเลือดไหลออกมาจากปาก ซึ่งสมจริงเสียจนผู้ชมหลายคนตั้งคำถามว่าทีมงานได้วางยาแมวจริงๆ หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้จัดได้ออกมาบอกว่าไม่มีการทารุณกรรมเกิดขึ้น
ออกจากเอเชีย เข้าสู่โลกของฮอลลีวูดกันดูบ้าง อย่างที่เราทราบกันดีว่าในฮอลลีวูดมีดาราสัตว์ที่น่ารักอยู่หลายตัว แต่แน่นอนว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์เหล่านี้ก็หลบไม่พ้นคำวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เช่นกัน
แม้ว่าในปัจจุบันฮอลลีวูดจะใช้เทคโนโลยี และปรับตัวอย่างก้าวกระโดด เช่นการเอาคนไปเล่นเป็นลิงและใช้ CGI ออกมาได้เสมือนจริงจนน่าประทับใจอย่างในเรื่อง Planet of the Apes ทว่าซีรีส์และภาพยนตร์บางเรื่องก็ยังคงใช้สัตว์จริงๆ ในการถ่ายทำอยู่เช่นกัน ซึ่งมีสัตว์จำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้ารับการฝึกฝนอย่างผิดธรรมชาติ และยากลำบาก
แม้ว่าเหล่าผู้จัดละครโทรทัศน์หรือซีรีส์ จะออกมาชี้แจงว่าไม่มีการทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้น แต่การถ่ายทอดฉากเหล่านี้ทำให้ผู้คนให้ความสนใจ และออกมาพูดว่าสัตว์ถูกใช้ในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างโหดร้ายอย่างไรบ้าง และพวกเขาจะไม่ทนต่อความโหดร้ายใดๆ ก็ตามต่อสัตว์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่คนตระหนักรู้ถึงสิ่งนี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสัตว์ในจีน กล่าวกับ Global Times ว่า อุตสาหกรรมบันเทิงให้ความสนใจกับการปกป้องสิทธิสัตว์มากขึ้นในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกนี้เป็นผลมาจากการกำกับดูแลจากสาธารณชน ปัจจุบันมีแฟนๆ รายการทีวีมากขึ้น และชาวเน็ตก็ให้ความสนใจกับการปฏิบัติต่อสัตว์
“นี่อาจเป็นการ ‘บังคับ’ ให้ผู้ผลิตหลีกเลี่ยงการทารุณกรรมสัตว์ที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของรายการ และด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกชาวเน็ตเรียกร้อง การผลิตรายการที่คล้ายกันอื่นๆ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกัน” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังบอกด้วยว่า อุตสาหกรรมบันเทิงควรเดินหน้าต่อไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาแทนที่สัตว์ในการแสดงผาดโผนที่เสี่ยงอันตราย
อ้างอิงจาก