หลัง ‘พิรงรอง’ ถูกศาลฯ ตัดสินให้มีความผิด ปมทรูไอดีฟ้องว่าทำให้เสียหาย จากการส่งจดหมายเตือนว่าฉายโฆษณายาวเกินกำหนด สู่คำถามว่า ‘กสทช.’ ควรวางตัวอย่างไร ในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปจนนโยบายในปัจจุบันไม่อาจรับมือได้ทันท่วงที
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2568) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา ‘พิรงรอง Effect ทิศทางการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้’ หลังเมื่อวานนี้ ศาลฯ มีคำพิพากษาให้ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการ กสทช. มีความผิด ต้องโทษจำคุก 2 ปี จากกรณีทรูไอดีฟ้องว่ากลั่นแกล้งทำให้เสียหาย
กรณีดังกล่าว จึงทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งในแวดวงคนทำงานสื่อสารมวลชน สถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ และประชาชนทั่วไป ว่าพิรงรองเพียงปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่ควรมีความผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมีการตั้งคำถามถึงเสรีภาพในการปฏิบัติงาน สิทธิผู้บริโภค และประเด็นนโยบายการกำกับดูแลสื่อที่เหมาะสม
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ เป็นตัวแทนในการกล่าวแถลงการณ์ในงานวันนี้ โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักว่าการจะวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินศาลนั้น จะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลได้ แต่ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จึงมีข้อคิดเห็นในมุมการสื่อสารมวลชน กล่าวย้อนถึงที่มาของการตั้งองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อจากทั้งภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น กสทช. จึง “เป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทางจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน”
อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพการภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนกฏหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ปรับตัวตามไม่ทัน และไม่สามารถรองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน ทำให้ “มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อ โดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นความท้าทายของ กสทช. และผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้น ก็อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและการทำงานของ กสทช. รวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ในฐานะที่พึ่งของประชาชนในอนาคต ซึ่งอาจเป็นการขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคม โดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว
ด้วยเหตุนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ในการปฏิหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ
หลังจากช่วงอ่านแถลงการณ์ วิทยากรแต่ละท่าน ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคดีการฟ้องร้องพิรงรองไว้ ดังนี้
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand เห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ได้ผลักดัให้สังคมเกิดการตั้งคำถามกับหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องหลักกระบวนการยุติธรรม รวมถึง ธรรมาภิบาลของ กสทช. ที่ตนมองว่าอยู่ในขั้นวิกฤตมาหลายปี
และที่สำคัญคือทิศทางการกำกับดูแลสื่อหลังจากนี้ และโครงสร้างของโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของสังคมยุคดิจิทัล แต่ยังขาดการกำกับดูแลอย่างชัดเจน จนอาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและกระทบต่อผู้บริโภค โดยสุภิญญาระบุว่า “เป็นคลื่นใต้น้ำที่สะสมมานานและรอการสะสาง” จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้หันมาสนใจและจับตาการทำงานของ กสทช. หลังจากนี้
ในด้านของกฎหมาย ซึ่งคดีดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงไปในหลายทิศทาง ส่วนหนึ่งระบุว่าควรเคารพคำตัดสินของศาล ในขณะที่อีกฝั่งอาจไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ ภายใต้ข้อจำกัดว่ายังไม่มีใครได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม เพราะมีเพียงจดหมายข่าวที่ศาลฯ เผยแพร่ออกมาเท่านั้น
รศ.ดร.ณรงค์เดช ระบุว่า ด้วยข้อมูลที่ปรากฏว่าเป็นคำพิพากษาเท่าที่เขียนไว้ในจดหมายข่าว มีหลายจุดที่อาจทำให้ผู้อ่านตั้งคำถาม เช่น กรณีของจดหมายเตือนที่ออกโดยสำนักงาน กสทช. ว่าใครกันแน่ที่ควรถูกระบุว่าเป็นจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ สิ่งที่อธิบายได้ตามกระบวนการศาลฯ คือศาลจะรับฟังหลักฐานทั้งจากฝั่งโจทก์และจำเลย แล้วจึงวินิจฉัยออกมาว่าฝั่งใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ดังนั้นหากจะสรุปได้ ก็อาจต้องอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มก่อน
แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือปรากฏการณ์นี้ได้ตอกย้ำวัฒนธรรมการทำงานในระบบราชการว่า “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เรื่องไหนเสี่ยงอย่าไปทำ” กล่าวคือ เป็นคำเตือนที่ส่งต่อกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าไม่ควรไปแตะต้องเรื่องของผู้มีอำนาจ เพื่อเป็นการปกป้องตนเอง
“เรามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ นั่นคือพวกเราทุกคน” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว พร้อมแสดงความกังวลว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐกลัวแต่จะโดนฟ้อง ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย และคนที่จะได้รับผลก็คือประชาชนทุกคน เช่นเดียวกันกับกรณีของ กสทช. ที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค อย่างการออกกฎควบคุมไม่ให้มีโฆษณานานเกินไป ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ชมเช่นกัน