หลัง กสทช. พิรงรอง ถูกศาลฯ ตัดสินให้มีความผิด ปมทรูไอดีฟ้องว่าทำให้เสียหาย นอกจากการติดตามผลของคดีความที่จะเกิดขึ้นต่อไป อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจับตา คือผลกระทบที่จะเกิดหลังจากนี้ หรือ ‘พิรงรอง Effect’ ทั้งต่อ กสทช. การใช้กฎหมาย และต่อสังคม
เพื่อทำความเข้าใจ วางแผน และเตรียมรับมือกับคลื่นลูกต่อไปที่กำลังจะมาถึง 7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา ‘พิรงรอง Effect ทิศทางการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้’ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตออนไลน์ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิตห อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ พร้อมวิดีโอสัมภาษณ์พิเศษ จาก ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ดำเนินรายการโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวช่อง 3
The MATTER ชวนทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ไปด้วยกัน
กสทช. เป็นใคร ถูกฟ้องได้อย่างไร?
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2553 มีอำนาจหน้าที่ที่พูดให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า จะต้องจัดการเรื่องเกี่ยวกับกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้ ‘เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน’
คณะกรรมการ กสทช. จะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ที่ผ่านการสรรหาและคัดเลือก เช่น ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย และ ‘ด้านกิจการโทรทัศน์’ ซึ่งอยู่ในความเชี่ยวชาญของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
สุภิญญา ระบุว่า ด้วยความเชี่ยวชาญและความสนใจที่มีกันในคนละด้าน ภายในคณะกรรมการ กสทช. เอง ก็อาจมีความคิดเห็นขัดแย้งกันได้ ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของการนำผู้ที่มีความเชี่ยวชาญคนละด้านมาเป็นคณะกรรมการร่วมกัน คือเพื่อให้เกิดการถกเถียง และนำมาสู่แนวทางหรือนโยบายในการจัดการเรื่องต่างๆ ตามความสนใจในประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละคน
และด้วยการดำเนินงานของ กสทช. ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล สุภิญญา ระบุว่า มันจึงเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดข้อขัดแย้งระหว่าง กสทช. กับหน่วยงานเอกชนได้เสมอ เนื่องจากเป็นการทำงานที่ขัดต่อผลประโยชน์ของกันและกัน ถึงอย่างนั้น “ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นศัตรูคู่แข่งที่อยู่คนละฝั่งกัน”
เวลาที่เกิดประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้น กสทช. ก็จะมีการออกหนังสือเวียนภายในสำนักงานอยู่เป็นประจำ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นประเภทที่เป็นการเรียนแจ้ง และประเภทที่เป็น ‘คำสั่งทางปกครอง’ กล่าวคือ มีการให้คุณหรือให้โทษแก่องค์กรใดองค์กรหนึ่งได้
กรณีนี้ รศ.ดร.ณรงค์เดช อธิบายเพิ่มเติมว่า หากองค์กรมองว่าคำสั่งซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐนี้มิชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย ก็สามารถนำไปฟ้องกับศาลปกครองได้ เพื่อให้เพิกถอนคำสั่ง หรือหากเห็นว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงมาก ก็อาจมีการฟ้องร้องคดีทางอาญาประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี สุภิญญาระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องต่างๆ ก็มักคลี่คลายได้ที่ชั้นศาลปกครอง และแม้จะมีการฟ้องร้องคดีอาญา ฝ่ายองค์กรเอกชนก็มักจะถอนฟ้องหลังจากจบข้อพิพาทในชั้นศาลปกครองได้
ดังนั้น กรณีทรูไอดีฟ้องพิรงรอง จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่ กสทช. ถูกฟ้อง เพราะข้อขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่คดีไปไกลถึงการที่ศาลมีคำพิพากษาให้ กสทช. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มุมมองทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ และโจทย์หลักของ กสทช.
หลังจากที่มีการเปิดเผยคำพิพากษา คนจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ไปในหลายทิศทางต่อคำตัดสินของศาล
ในประเด็นนี้ ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ได้ฝากวิดีโอสัมภาษณ์พิเศษมา ระบุเนื้อหาที่อัญเชิญแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “นักกฏหมายทั้งหลายอย่าเผลอนึกว่าตัวกฎหมายนั้นเป็นความยุติธรรมที่แท้ กฎหมายนั้นเป็นเพียงเครื่องมือแสวงหาความยุติธรรมเท่านั้น”
ดังนั้น นักกฎหมายจึงต้องไม่เพียงเดินไต่ตามตัวบท แต่ต้องดูผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในคดีพิพาท ที่ควรดูทั้งข้อเท็จจริง กฎหมาย และเรื่องราวแวดล้อมให้ครบถ้วน โดยทิ้งท้ายว่า “อย่าให้เราเป็นเครื่องมือของการใช้กฎหมายเดินออกไปนอกทางของความยุติธรรม”
ด้าน รศ.ดร.ณรงค์เดช ให้ความเห็นโดยมีข้อจำกัดว่ายังไม่มีผู้ได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม และได้อ่านเพียงจดหมายข่าวที่ศาลเผยแพร่ออกมาเท่านั้น ระบุว่า กระบวนการทำงานของสารคือการรับฟังพยานหลักฐานของทางฝ่ายตรวจและฝ่ายจำเลยแล้วจึงวินิจฉัยออกมา
ซึ่งในเนื้อความของจดหมายข่าวก็ยังอาจมีจุดที่น่าตั้งคำถามอยู่บ้าง เช่น ตัวต้นเรื่องอย่างจดหมายเวียนที่โดยทั่วไปแล้วผู้เซ็นรับรองเอกสารน่าจะต้องตกเป็นจำเลยที่ 1 แต่ในคดีนี้กลับปรากฏว่าพิรงรองเป็นจำเลย ซึ่งถ้าหากจะให้ใครข้อสงสัยเหล่านี้ได้ก็จำเป็นจะต้องได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มเสียก่อน
แต่สิ่งที่แน่นอนแล้วก็คือผลกระทบที่จะเกิดตามมา คือการที่ปรากฏการณ์นี้ได้ตอกย้ำวัฒนธรรมการทำงานในระบบราชการว่า “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เรื่องไหนเสี่ยงอย่าไปทำ” กล่าวคือ เป็นคำเตือนที่ส่งต่อกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าไม่ควรไปแตะต้องเรื่องของผู้มีอำนาจ เพื่อเป็นการปกป้องตนเอง
“เรามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ นั่นคือพวกเราทุกคน” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว พร้อมแสดงความกังวลว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐกลัวแต่จะโดนฟ้อง ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย และคนที่จะได้รับผลก็คือประชาชนทุกคน เช่นเดียวกันกับกรณีของ กสทช. ที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค อย่างการออกกฎควบคุมไม่ให้มีโฆษณานานเกินไป ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ชมเช่นกัน
หากเป็นเช่นนี้ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐควรทำอย่างไรต่อไป ให้ยังไงปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนได้?
รศ.ดร.ณรงค์เดช ให้คำแนะนำหลังได้อ่านจดหมายข่าวจากศาล ว่าเนื้อหาในการพิจารณาคดีนั้นสะท้อนกว่ากลไกการทำงานภายใน กสทช. มีปัญหาที่ควรปรับแก้อยู่
ประเด็นที่ 1 คือคำพูดในที่ประชุมซึ่งควรเป็นความลับกลับหลุดออกมา โดยการประชุมโดยเฉพาะในองค์กรรัฐนั้น มีจุดประสงค์หลักคือการเป็นพื้นที่ให้ถกเถียง ว่าควรจัดการกับประเด็นต่างๆ อย่างไร หรืออาจเปรียบเทียบให้เข้าใจมากขึ้นได้กับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการไม่ถูกฟ้องจากคำพูดต่างๆ ทำให้ทุกคนกล้าพูด กล้าเถียง การที่คำพูดในที่ประชุมไม่ถูกเก็บรักษาเป็นความลับ จึงถือเป็นปัญหาหนึ่งที่อาจทำให้การทำงานไม่อิสระ
ประเด็นที่ 2 เรื่องบันทึกการประชุมเท็จ ที่ในกระบวนการการประชุมโดยทั่วไป เลขานุการจะเป็นผู้จดประชุม และมีประธานรับรองการประชุม ดังนั้นประเด็นนี้จึงควรตรวจสอบว่าใครเป็นผู้จด และมีหลักฐานชัดแจ้งหรือไม่ว่าใครสั่งการในประเด็นไหน
ประเด็นที่ 3 คือการทบทวนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ว่ามีอำนาจหน้าที่ในการทำสิ่งใดได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งเช่นในครั้งนี้
อนาคตการกำกับดูแลสื่อไทย ในวันที่ OTT ครองเมือง
ในด้านผลกระทบที่จะเกิดต่อ กสทช. เอง สุภิญญาให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ได้ผลักดันให้สังคมเกิดการตั้งคำถามกับหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องหลักกระบวนการยุติธรรม ดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึง ธรรมาภิบาลของ กสทช. ที่ตนมองว่าอยู่ในขั้นวิกฤตมาหลายปี
ที่สำคัญคือทิศทางการกำกับดูแลสื่อหลังจากนี้ และโครงสร้างของโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของสังคมยุคดิจิทัล แต่กลับยังขาดการกำกับดูแลอย่างชัดเจน จนอาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและกระทบต่อผู้บริโภค
สุภิญญาระบุว่า ปัญหาการดำเนินงานของ กสทช. นั้น “เป็นคลื่นใต้น้ำที่สะสมมานานและรอการสะสาง” จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้หันมาสนใจและจับตาการทำงานของ กสทช. หลังจากนี้
พร้อมกับส่งกำลังใจให้พิรงรอง และสังคม ระบุว่า “สังคมต้องไม่ปล่อยเรื่องนี้ให้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง เพราะมันเป็นเกมระยะยาว แม้จะเพิ่งเป็นกระแสในช่วง 2 วันนี้ แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระยะยาวเท่านั้น”
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกัน ว่าอาจเป็นสิ่งที่ กสทช. ควรทำมานานแล้ว คือการวางนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อในรูปแบบใหม่ๆ ให้ครอบคลุม เพราะต้องยอมรับว่าปัจจัยหนึ่งของคดีความที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น มาจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ว่า กสทช. มีอำนาจมากแค่ไหน (หรือแม้กระทั่งว่า มีอำนาจหรือไม่) ในการกำกับดูแลสื่อในรูปแบบ OTT
OTT ย่อมาจาก Over-the-top เป็นรูปแบบการให้บริการเนื้อหาวิดีโอและรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยตรงถึงผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ให้บริการเคเบิลทีวีหรือดาวเทียม เช่น การรับชมผ่าน YouTube, Netflix หรือสตรีมมิงอื่นๆ
และอีกรูปแบบหนึ่งที่ควรรู้จัก ซึ่งจะมีผลต่อการทำความเข้าใจประเด็นนี้ คือ IPTV หรือ Internet Protocol Television ซึ่งเป็นการให้บริการเนื้อหาวิดีโอผ่านทางอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในด้านเทคนิคและการให้บริการ ซึ่งมักต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอย่างกล่องส่งสัญญาณ เช่น ที่เราอาจเคยได้ยินชื่อ อย่าง AIS Play
อย่างไรก็ดี ด้วยนิยามที่มีความใกล้เคียงกันและแนวทางการกำกับดูแลที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้คนบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อ TrueID ก็มีลักษณะการให้บริการเหมือน AIS Play แล้วเหตุใดจึงถูกนิยามด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนนี้ ระวีระบุไว้ให้เข้าใจง่ายว่า “เราจะไม่พูดว่าใครผิดใครถูก แต่เพราะกฎหมายมันไม่มีการกำกับ”
จากกฎหมายเก่าที่เคยมีมา จะมีการระบุถึงการกำกับดูแล IPTV เท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการเข้ามาจดทะเบียนกับ กสทช. ก่อนจึงจะให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่สื่อ OTT นั้น กสทช. มีการวางแผนแม่บทและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม หรือกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแล OTT นั่นเอง
ดังนั้น ระวีจึงระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสม ได้แก่
- อาจเป็นการทำลายธุรกิจทีวีดิจิทัลที่กำลังรอต่อสัญญาในปี 2572 ซึ่งขณะนี้ยังมีการวางแผนว่าจะประมูลสัญญาณหรือไม่ ดังนั้น การไม่มีการวางแผน และไม่มีการกำกับดูแล ประกอบกับ OTT ที่กำลังเติบโตขึ้น ช่องต่างๆ จึงอาจไปลงทุนกับ OTT เพิ่ม และตัดสินใจไม่ประมูลสัญญาณต่อ
- ดังนั้น บุคลากรสำหรับการทำรายการทางโทรทัศน์จึงเริ่มถูกเลิกจ้าง เพื่อเป็นการลดงบประมาณตั้งแต่ตอนนี้ ดังที่เห็นจากในช่วงปลายปี 2567 ที่หลายสื่อประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนหลักร้อยคน
- เมื่อคนเข้ามาสู่ OTT หรือการทำสื่อทางช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้กลายเป็นธุรกิจ Red Ocean จึงทำให้ค่าโฆษณาถูกลงเพื่อแข่งขันกัน ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมโฆษณาด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยใหม่นี้ที่ประเทศไทยจะต้องแข่งขันในระดับโลก และยังมีการรับเนื้อหาจากต่างประเทศมา ยิ่งควรมีการวางแผนและกำกับดูแลอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงประกอบกัน ก็คือวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ว่าควรจะมีแนวทางนโยบายแบบใดที่จะเหมาะสม พร้อมๆ กันกับการสร้างความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดเหตุการณ์เหมือนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่มีการพูดถึงการกำกับดูแลสื่อ OTT แต่คนเข้าใจว่าอาจเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกได้
ประเด็นนี้ สุภิญญาฝากทิ้งท้ายว่า ประชาชนควรช่วยกันจับตาการทำงานของ กสทช. และอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะ กสทช. เป็นหน่วยงานอิสระ ที่ในปีนี้เองก็ได้รับงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท แต่สุภิญญาเห็นว่า เป็นองค์กรที่โลกลืม และอาจยังไม่เห็นการทำงานมากเท่าที่ควร
“เราจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและซอฟค์พาวเวอร์ได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่มีการกำกับดูแลธุรกิจอย่างเสรีและเป็นธรรม”
สุภิญญาระบุว่า แม้อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็วเร็วนี้ว่าการกำกับดูแล OTT ควรจะเป็นอย่างไรแต่ กสทช. ควรลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ และสนับสนุน ศ.ดร.พิรงรอง ในการทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันแนวทางการกำกับดูแลให้เกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด