ดำเนินมาถึงวันที่สองแล้ว สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร โดยในวันนี้ (25 มีนาคม 2568) ก็มีประเด็นร้อนหลายเรื่องถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันในที่ประชุมสภาฯ ตั้งแต่ภาวะความเป็นผู้นำของนายกฯ ดีลเพื่อพาพ่อกลับบ้าน ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ จนถึงการบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว
แล้วฝ่ายค้านกับรัฐบาล มีข้อถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้อย่างไรบ้าง? The MATTER สรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ของวันนี้ให้อ่านกัน
1. นายกฯ ขาดความรู้ความสามารถ-วุฒิภาวะ-เจตจำนงรับใช้ประชาชน
เริ่มต้นวันที่สองด้วยการอภิปรายฯ จาก ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยเธอระบุว่าแพทองธาร ชินวัตร บกพร่องในคุณสมบัติสำคัญ สำหรับการเป็นนายกฯ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ความรู้ความสามารถ สอง วุฒิภาวะของผู้นำ สาม เจตจำนงที่รับใช้ประชาชน
ภคมน ยกตัวอย่างคำตอบของนายกฯ เมื่อนักข่าวถามว่ารัฐบาลไทยจะจัดการเงินบาทแข็งค่าอย่างไร? ซึ่งนายกฯ ตอบว่ารัฐบาลอาจใช้ข้อดีของบาทแข็ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลายอย่าง เช่น ‘การส่งออก’ ซึ่งภคมนแย้งว่าภาวะที่เงินบาทแข็งนั้น จะส่งผลเสียต่อการส่งออก เพราะทำให้สินค้าส่งออกแพงขึ้น และส่งผลต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเธอย้ำว่า นายกฯ ไม่มีความรู้ความสามารถ เนื่องจากตอบคำถามเรื่องที่เป็นความรู้พื้นฐานไม่ได้
ต่อมา ภคมนพูดถึงวุฒิภาวะของผู้นำของนายกฯ โดยยกตัวอย่างปฏิกิริยาของนายกฯ ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เมื่อเธอโพสต์รูปภาพคำคมภาษาอังกฤษ บนสตอรี่ในอินสตาแกรมส่วนตัว ซึ่งแปลได้ว่า “คนที่ไม่มีความมั่นคงมักจะกดคนอื่นให้ต่ำลง เพื่อยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น” อีกทั้งยังมีกรณีที่แพทองธารตอบโต้ให้ประชาชนไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ทำให้ภคมน มองว่าเป็นพฤติกรรมของผู้นำยุคเจน Y ที่ขาดวุฒิภาวะ รวมถึงไม่แสดงเจตจำนงที่รับใช้ประชาชน
2. กรณีชั้น 14 ส่อพิรุธนายกฯ สมคบ ‘ดีลปีศาจพาพ่อกลับบ้าน’
ต่อกันที่ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งพูดถึงกรณีพ่อของนายกฯ หรือทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นอดีตนายกฯ ได้ย้ายไปอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงปี 2566-2567 หลังเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งเขาเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘ดีลปีศาจเพื่อพาพ่อกลับบ้าน’
รังสิมันต์ อภิปรายว่าการที่ทักษิณสามารถย้ายไปอยู่ชั้น 14 ได้ และไม่ต้องนอนคุกแม้แต่วันเดียว ก็เพราะเกิด ‘ดีลแลกประเทศ’ กับนายทหารใหญ่บางคน ซึ่งเป็นการตกลงระหว่างขั้วอำนาจเก่า และขั้วอำนาจใหม่
นอกจากนี้เขาย้ำถึงคำพูดส่อพิรุธของนายกฯ ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ 2 วันก่อนหน้าทักษิณกลับประเทศไทย ว่าคุณพ่อแข็งแรงดี ตรวจสุขภาพปีละ 2 ครั้ง และไม่เจอโรคร้ายใดๆ แต่เมื่ออดีตนายกฯ เดินทางถึงไทยแล้ว กรมราชทัณฑ์กลับรายงานผลสุขภาพของเขาว่า หัวใจขาดเลือด ปอดผิดปกติ ความดันสูง และกระดูกสันหลังเสื่อม
“ท่านได้มีส่วนสำคัญต่อการฆาตกรรมความยุติธรรม ท่านได้ทำให้ความยุติธรรมมันมีหลายมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคม เงิน อำนาจ และพรรคพวก สิ่งที่ท่านได้ทำ ได้สร้างมลทินที่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อระบบยุติธรรม” รังสิมันต์กล่าว
ในเรื่องนี้ นายกฯ รัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านนั้นไม่เป็นความจริง เธอไม่มีอำนาจและไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมใดๆ รวมถึงการกลับมาของอดีตนายกฯ ก็เป็นการตัดสินใจส่วนตัว โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ‘ดีล’ อย่างที่ฝ่ายค้านระบุ
ในช่วงหนึ่ง นายกฯ กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชนจะเป็นรัฐบาล อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็จะตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทยอยู่ดี เพราะฉะนั้น เรื่องราวจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดีลให้เธอเป็นนายกฯ คู่กับการให้อดีตนายกฯ ทักษิณ กลับประเทศไทยอย่างที่ฝ่ายค้านอ้าง
“ตลอดการอภิปรายท่านสมาชิกเรียกร้องให้ดิฉันลาออก ซึ่งเป็นสิทธิของทุกท่านในสภาอันทรงเกียรติ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านทำไม่ได้คือลาออกจากการเป็นลูกสาว หรือความเป็นแม่ สิ่งนี้ดิฉันลาออกไม่ได้ ดิฉันก็พร้อมที่จะทำงานให้ทุกกลุ่ม ทุกคน ทุกจังหวัด เพราะว่าดิฉันสวมหมวกนายกฯ ดิฉันทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ อย่างสุดความสามารถอย่างแน่นอน” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย
3. เอื้อประโยชน์ ทุนต่างชาติสีเทา-ไทยเทา จนทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ไม่ได้
ด้าน รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายการปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ว่าได้สร้างความสูญเสียมูลค่าหลายล้านบาท ให้กับประเทศ แต่รัฐบาลแพทองธาร กลับแก้ปัญหาแบบ “ผักชีโรยหน้า” ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาให้เห็น แต่ยังคงไม่สามารถทำลายโครงสร้างอาชญากรรมข้ามชาติให้หมดไปได้ ซ้ำร้ายไทยยังเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับเหล่าสแกมเมอร์ ซึ่งอาศัยทรัพยากรไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และทรัพยากรคน ของประเทศไทย
รักชนกกล่าวหาว่านายกฯ “จงใจปล่อยปละเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง” โดยนายกฯ ไม่สามารถจัดการกับรายใหญ่ได้ รวมถึงไม่กล้าแตะกลุ่มทุน ไม่ว่าจะทุนต่างชาติสีเทา หรือไทยเทา เพราะไม่ว่ากลุ่มทุนไหนได้ร่วมโต๊ะ และเป็นลูกน้องของพ่อนายกฯ มาแล้ว
“ทำเป็นมองไม่เห็น หน้าไหว้หลังหลอก ทำให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของมิจฉาชีพ ครอบครัวชินวัตรเอาประโยชน์ของคนในชาติแลกประโยชน์กับตระกูลตัวเอง” รักชนกระบุ
4. บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว จนคนคิดถึงอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ด้านการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ก็ได้อภิปรายอย่างเข้มข้น ซึ่งเธอชี้ว่าคนไทยต้องเจอกับภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าขึ้นราคา ค่าไฟฟ้าแพง หนี้ครัวเรือนท่วมท้น ส่วนสินค้าการเกษตรก็กำลังตกต่ำ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ รายได้แรงงาน กลับไม่เติบโตเช่นกัน
ศิริกัญญายกตัวอย่างกรณีนายกฯ บอกว่าจะขึ้นค่าแรง 400 บาท ในปี 2567 แต่กลับไม่สามารถทำได้จริง ทั้งที่มีอำนาจเต็มมือ ถือเป็นการโกหก หลอกลวงเพื่อหวังคะแนนเสียง ทั้งนี้เธอระบุว่า นายกฯ ได้ตั้งเป้าให้ GDP โต 3.5% ในเดือนมีนาคม 2568 แต่กลับใช้มาตรการเดิมๆ จนเกิดคำถามว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้อย่างไร หากรัฐบาลยังบริหารผิดพลาดซ้ำซาก ซึ่งศิริกัญญาระบุว่า “มีแต่การขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการส่งออกสินค้าเกษตรย่ำแย่ อย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากสินค้าเกษตรทั้ง 4 ในปีนี้ กับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า จะพบว่าต่ำตกกว่าเดิมทั้ง 4 อย่าง ทำให้รายได้ชาวนาและเกษตรกรย่ำแย่ตามไปด้วย โดยเธอยกตัวอย่างว่า รายได้ชาวไร่ข้าวโพดนั้น ลดลงถึง 21%
ศิริกัญญากล่าวว่า ปัญหาเงินในกระเป๋าเกษตรกรที่แฟบลงๆ ทุกวันนี้ ขอไม่โทษพาณิชย์ ไม่โทษเกษตร เพราะ “ทุกวันนี้ปัญหามันอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ใส่ใจจริงจังกับการแก้ไขปัญหาพี่น้องเกษตรกร” และรัฐมนตรีมารายงานอะไรก็เชื่อ ไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถให้ทิศทางการแก้ปัญหากับรัฐมนตรีได้ ซึ่งศิริกัญญาย้ำว่า “ได้แต่สั่งๆๆ ให้ไปแก้ปัญหา แต่ไม่บอกให้ไปทำอะไร”
“ความผิดมหันต์แบบที่ให้อภัยไม่ได้ของแพทองธาร ในการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดล้มเหลว ก็คือทำให้คนร้องหาลุงตู่ คิดถึงลุงตู่” สส.พรรคประชาชน ปิดท้าย
กรณีนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร ได้ชี้แจงทันทีหลังจากที่รองหัวหน้าพรรคประชาชนอภิปราย
รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ระบุว่า เห็นด้วยว่า เศรษฐกิจของไทยไม่ดี แต่มันไม่ดีมานานแล้ว และการที่เศรษฐกิจดีขึ้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐที่ทำมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า ฝ่ายค้านควรดูที่ GDP ด้วย เพราะการที่ GDP ดีก็แปลว่า ประชาชนอยู่ดีกินดี และมีกำลังซื้อ พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยแตะที่ GDP โตไม่ต่ำกว่า 3% ให้ได้
ส่วนในเรื่องของการเกษตรนั้น รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาถึงเรื่องการใช้พื้นที่กว่า 12 ล้านไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่ผลิตพืชผลการเกษตรที่ไทยเราเคยนำเข้ามาก่อน โดยคาดว่าอาจจะเป็นการปลูกข้าวโพด ที่ขายได้ราวๆ 16,000 ต่อไร่
ขณะที่เรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รัฐมนตรี พิชัย ย้ำถึงความสำคัญของการเติมเงินลงไปในสังคมไม่ว่าวิธีใดก็วิธีหนึ่ง เช่นเงินดิจิทัล