วาระสำคัญทางการเมืองตอนนี้คงหนีไม่พ้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร โดยเพียงแค่วันแรกของการอภิปรายฯ (24 มีนาคม 2568) ก็มีประเด็นร้อนสารพัดถูกหยิบขึ้นมา และกลายเป็นที่ถกเถียงตลอดทั้งวัน
เริ่มต้นเปิดฉากด้วย “ดีลแลกประเทศ” ประเด็นที่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พูดถึงเพื่อเปิดญัตติในการอภิปรายในวันแรก โดยเขาระบุว่ารัฐบาลชุดนี้เริ่มต้น ดำรงอยู่ และเดินหน้าเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ซึ่งมีประโยชน์ของตระกูลชินวัตรเป็นหลัก ตามด้วยกลุ่มทุนใกล้ชิดและเครือข่ายการเมืองของตัวเอง ส่วนประเทศและประชาชนนั้น ต้องรอให้ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง แล้วค่อยปรับบทละคร
หลังจากนั้น มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง? เราสรุปไฮไลท์สำคัญในช่วงครึ่งวันแรกมาให้ได้อ่านกัน
1. วิโรจน์กล่าวหา นายกฯ หนีภาษี 218 ล้านบาท
วิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้พูดถึงข้อสงสัย กรณีนายกฯ หนีภาษี 218 ล้านบาท โดยกล่าวหาว่าแพทองธารใช้นิติกรรมอำพราง เพื่อตบตาการได้รับหุ้น จาก ‘การให้’ มาเป็น ‘การซื้อ’ หุ้นแทน ทำให้เธอสามารถเลี่ยง ‘ภาษีการรับให้’ (Gift Tax) ไปมากถึง 218 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2559 ที่ภาษีการรับให้มีผลบังคับใช้
เขาเปิดบัญชีทรัพย์สินของนายกฯ และพบว่ามีหนี้สินจำนวน 9 รายการต่อพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ มูลค่ารวมกว่า 4434.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดจากซื้อหุ้นจากคนเหล่านี้ โดยเป็นออกตั๋ว P/N (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) แทนการจ่ายเงินแก่คนในครอบครัว
วิโรจน์กล่าวว่า ตั๋ว P/N ทั้ง 9 รายการนี้ “ไม่มีกำหนดจ่าย ไม่มีดอกเบี้ยแม้แต่สตางค์เดียว” และหากไม่มีใครทวง ก็ไม่ต้องจ่าย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “มีการใช้ตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือทำพิธีกรรมอำพราง ตบตาการได้หุ้นจากการให้มาเป็นการซื้อหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการรับให้ ที่ต้องจ่ายให้กับแผ่นดิน เอารัดเอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม ประเทศชาติ”
2. “ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันก็เสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอนค่ะ” นายกฯ ตอบโต้กรณีหนีภาษี 218 ล้านบาท
นายกฯ แพทองธาร ก็ได้ชี้แจงว่าผู้อภิปรายกำลังเข้าใจผิดในเรื่องข้อเท็จจริง โดยระบุถึงภาษีที่อยู่คนละหมวดกัน ให้ประชาชนเกิดความสับสนและความเข้าใจคลาดเคลื่อน
เธอย้ำว่ากิจการรวมถึงธุรกรรมงานเงินใดๆ ของตัวเองและครอบครัว มีความโปร่งใส และถูกตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีเจตนาและการปฏิบัติที่ตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมายทุกอย่าง ดังนั้นกล่าวหาว่าเธอหนีภาษีนั้น นอกจากจะไม่ได้เป็นความจริงแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม
แพทองธารระบุว่า“ถึงแม้ว่าดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน แต่ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันก็เสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอนค่ะ”
นายกฯ กล่าวด้วยว่า การซื้อขายตั๋วสัญญาใช้หนี้หรือ P/N เป็นเรื่องปกติที่ทำอยู่แล้วในแวดวงธุรกิจ โดยธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นของเธอ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เพื่อปรับโครงสร้างของหุ้นบริษัท และการซื้อขายผ่านตั๋ว P/N นั้นก็ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่ามีบางรายการที่ยังเสียภาษีไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีการชำระเงินเกิดขึ้น
3. ดีลที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ข้อพิพาทการครอบครองที่ธรณีสงฆ์ ของสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.พรรคประชาชน ย้ำว่าที่ธรณีสงฆ์ไม่สามารถซื้อขายและถือครองได้ เนื่องจากเมื่อปี 2512 ยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าว พื้นที่กว่า 900 ไร่ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์
แต่ต่อมาก็เกิดเรื่องอื้อฉาวหลายเหตุการณ์ ที่ทำให้ที่ดินดังกล่าวก็ถูกขาย และตกอยู่ในการถือครองของตระกูลชินวัตร และแม้จะเกิดข้อพิพาทมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีการคืนที่ดินให้กลับเป็นของวัด ทำให้ตระกูลชินวัตรกลายเป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์ในที่สุด
นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตว่าที่ดินดังกล่าว ได้กลายเป็นเครื่องมือ ในการต่อรองแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างกลุ่มการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยจุลพงศ์กล่าวว่า อาจมีการเจรจาต่อรอง ระหว่างที่ดินอัลไพน์ กับที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ของตระกูลชิดชอบ ซึ่งก็มีข้อพิพาทมาอย่างยาวนานเช่นนเดียวกัน
“เป็นละครฉากหนึ่งของการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างสองพรรคการเมือง” จุลพงศ์ระบุว่า แพทองธารในฐานะกรรมการบริษัท ซึ่งไม่เคยแสดงเจตนาทำเรื่องที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย “ยังแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัว และผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้” จึงไม่สามารถไว้วางใจให้บริหารบ้านเมืองต่อไปได้
4. “สู้ๆ แพทองธาร” อนุทินให้กำลังใจ พร้อมยืนยันว่า นายกฯ ไม่เคยแทรกแซงใดๆ กรณีที่ดินอัลไพน์-เขากระโดง
ด้านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ได้กล่าวถึงประเด็น ดีลที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์-ที่ดินเขากระโดง โดยยืนยันว่า นายกฯ ไม่เคยแทรกแซงกรมที่ดิน หรือกระทรวงมหาดไทย ใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้เอื้อประโยชน์แก่บริษัทอัลไพน์ และครอบครัวตัวเอง
ทั้งนี้ เขาย้ำว่าทั้งกรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ และเขากระโดงนั้น ไม่เป็นข้อเท็จจริงแต่อย่างใด โดยข้อพิพาทเหล่านั้นเกิดก่อนที่แพทองธารและตัวเองจะเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งทั้งสองเป็นกรณีที่กรมที่ดินจะต้องดำเนินตามคำสั่งของศาล โดยยืนยันว่าอธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีความกดดันใดๆ และพร้อมที่จะทำตามกฎหมาย
อนุทินยังกล่าวชื่นชมนายกฯ อีกว่าเธอให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน ยึดกฎหมายเป็นหลัก โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบใดๆ พร้อมปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่า “สู้ๆ แพทองธาร”
5. ไม่ตามล่าหาความจริง กรณีปลาหมอคางดำ
ด้านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคประชาชน ได้กล่าวถึงผลกระทบร้ายแรงจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ทำให้เกษรตรกรจำนวนมาก ต้องเชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหานี้ “เหมือนซื้อยาพาราไปรักษาโรคมะเร็ง” เพราะแก้ไขไม่ตรงจุด และแม้จะมีการอนุมัติงบฯ ไปแล้ว 450 ล้านบาท แต่ก็เป็นเพียงการกรองวงเงิน แล้วให้กรมประมงหาเงินเอง
ณัฐชาบอกว่าสุดท้ายแล้วการแก้ปัญหานี้ ก็กลายเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ให้เอกชนหาทางกำจัดปลาหมอคางดำ แต่ไม่คำนึงถึงการหาทางอัตราการเกิด รวมถึงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ทำให้เกษตรกรต้องกลายเป็นคนที่ลำบากที่สุด
“ต้องเริ่มจากความกล้าหาญของรัฐบาล เริ่มจากการหาตัวผู้กระทำความผิดในลำดับแรก และนำเงินทั้งหมดมาชดเชยเยียวยาให้เกษตรกร นำมาใช้จ่ายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้” เขาระบุ
6. ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นายกฯ ขายผ้าเอาหน้ารอด เคลมผลงานด้วยการโกหกประชาชน
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.พรรคประชาชน กล่าวว่าในปี 2567 ประเทศเราต้องเจอกับภัยพิบัติรุนแรงหลายเหตุการณ์ ทั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่ ภัยแล้ง ฝุ่นพิษร้ายแรง แต่ภัยพิบัติใหญ่ที่สุดที่ประเทศต้องเจอ คือการมีนายกฯ ชื่อแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งบังอาจมาบริหารประเทศ โดยที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ ความเป็นผู้นำ และไม่มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา แต่เข้ามาบริหารประเทศเพียงเพราะผลประโยชน์ของบิดา และคนในครอบครัว
เขากล่าวว่า นายกฯ เป็นคนพูดเองว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่ตัวเองทำการบ้านมาตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง แต่ “ทำการบ้านแบบนี้ ผมให้สอบตกในการบริหารประเทศ” และการสอบตกครั้งนี้ มีเดิมพันคือปอดและชีวิตของประชาชน
ภัทรพงษ์ระบุว่า ประเด็นแรกที่รัฐบาลสอบตกคือ ‘การชี้แจงพื้นที่เผาไหม้’ ซึ่งนายกฯ เคยระบุว่าสามารถแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ต้นตอ โดยการลดพื้นที่เผาไหม้ในประเทศได้ แต่ข้อมูลของเขากลับชี้ว่า ในปี 2566 มีพื้นที่เผาไหม้ 11.2 ล้านไร่ และเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านไร่ กลายเป็น 19.5 ล้านไร่ ในปี 2567
อีกทั้ง จากกรณีที่นายกฯ ระบุว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ทั่วประเทศลดลง 16% แต่เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ จะพบว่าระหว่างวันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2568 ปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น 6% ทั่วประเทศ และเพิ่มขึ้น 20% สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล
7. กรณีเหมืองทองอัครา
อิทธิพล ชลธนาศิริ สส.พรรคประชาชน อภิปรายนายกฯ ว่ามีพฤติกรรมนั่งร้านเผด็จการให้อดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรณี ‘เหมืองทองอัครา’
เขากล่าวว่า เมื่อครั้งพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน แต่ในวันนี้ หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมา 2 ปี กลับไม่มีใครเอาผิด ซ้ำยังมีการเลื่อนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในคดีเหมืองทองอัครา ออกไปหลายครั้ง ทั้งๆ ที่พรรคก็รู้ดีว่ากรณีนี้ผิดกฎหมาย ตั้งแต่เป็นฝ่ายค้าน
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อิทธิพลตั้งคำถามว่า เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเขาเชื่อว่าไม่มีการเอาผิดกับใคร เนื่องจากเป็นดีลจัดตั้งรัฐบาล นับเป็นการเห็นประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับความตั้งใจปิดสวิตช์ 3 ป. ที่นายกฯ เคยพูดไว้