“สวัสดีครับ หมอมีข่าวร้ายจะมาแจ้ง” ถ้าเราเปิดละครทีวีในอดีต อาจจะได้ยินคำพูดทำนองนี้ในสถานการณ์ที่หมอกำลังจะบอกกับคนไข้ หรือญาติคนไข้ถึงข่าวร้ายว่า ผู้ป่วยอาจจะอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน
เอาเข้าจริงแล้ว การทำหน้าที่เพื่อแจ้งข่าวร้ายเกี่ยวกับผู้ป่วย มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญและย่อยกระทบกระเทือนจิตใจของทั้งผู้ป่วยและญาติพอสมควรเลยเนอะ หมอหลายคนจึงต้องมีการฝึกเรื่องการสร้างบทสนทนา และกำหนดถ้อยคำที่เหมาะสมสำหรับการแจ้งข่าวในทำนองนี้
คุณหมอ Bob Gramling ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย/ระยะประคับประคอง (Palliative care) ในสหรัฐฯ ได้เลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ไปให้ A.I. รวมถึง อัลกอริทึม ช่วยวิเคราะห์เทปบทสนทนาต่างๆ ที่หมอต้องแจ้งข่าวต่อผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยมีเป้าหมายที่อยากค้นหาว่า บทสนทนาที่ดีในสถานการณ์นี้มันควรเป็นอย่างไร? และอะไรคือปัจจัยสำคัญในบทสนทนา?
เขาให้ A.I. และ อัลกอริทึม แบ่งแยกรูปแบบย่อยๆ ของความเงียบที่เกิดขึ้นและระยะเวลาของความเงียบต่างๆ จากบทสนทนาที่มีความเงียบเกิดขึ้นกว่า 1,000 บทสนทนา และได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘connectional silences’ หรือความเงียบที่เป็นจุดเชื่อมต่อ
Gramling ค้นพบ ‘รูปแบบซ้ำๆ’ ในเทปบทสนทนาว่า หลายต่อหลายครั้ง ‘ความเงียบ’ ที่เกิดขึ้นระหว่างหมอและผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น มันมีบทบาทสำคัญมากๆ และเป็นเหมือนกับจุดเชื่อมต่อที่ทำให้บทสนทนาเปลี่ยนทิศทางได้เป็นอย่างมาก
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ เมื่อหมอได้แจ้งข่าวไปแล้ว ผู้ป่วยหลายคนอาจจะเงียบไปหลายวินาที หลังจากนั้นเขาก็จะกลายเป็นผู้ควบคุมหรือสร้างบทสนทนาแทนที่หมอเอง หมายความว่า ผู้ป่วยมักจะอยากจะเปิดเผยความรู้สึก หรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับหมอฟังมากยิ่งขึ้นกว่าปกติ และหมอก็อาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้รับฟังมากกว่าเดิม
Gramling เชื่อว่า ช่วงเวลาหลังจากความเงียบแบบนี้แหละ ที่หมอจะต้องเอาใจใส่และเพิ่มเติมความรู้สึกเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น
“หลายๆ ครั้งบทสนทนามันจะมีช่องว่างเกิดขึ้น และมักจะนำไปสู่การที่ผู้คนรู้สึกว่าได้รับความเข้าใจมากยิ่งขึ้น” Gramling อธิบาย
“ในสถานการณ์ที่ความเงียบเกิดขึ้น มันก็มีช่องว่างให้ความรู้สึกเข้าใจกันและกันเกิดขึ้นได้ นี่น่าจะเป็นการศึกษาที่ช่วยให้หมอได้รับรู้ว่า มันมีอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในความเงียบ” หนึ่งในญาติของผู้ป่วยกล่าว
อย่างไรก็ดี การพูดคุยกันถึงความตาย มักไม่ใช่เรื่องง่าย การใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์บทสนทนาและความเงียบที่เกิดขึ้นนั้น จึงต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถึงอย่างนั้น กรณีนี้ก็น่าจะช่วยให้เราเห็นถึงความสำคัญของการนำความรู้จากทั้งด้านภาษา การแพทย์ และเทคโนโลยี มาใช้ร่วมกันได้อย่างน่าสนใจ
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/health-45902794
https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/oct/22/doctors-talking-about-death
#Brief #TheMATTER