อย่างที่เรารู้กันว่า สารานุกรมออนไลน์อย่าง Wikipedia เป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็เข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ และก็อย่างที่เรารู้กันอีกว่า ในปัจจุบันเวลาจะหาข้อมูลอะไรเบื้องต้น นอกจากเฮียกู-Google หลายๆ คนก็ชอบเข้าไปหาจากป้าวิ-Wikipedia ก่อนจะไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ต่อไป (แต่บางคนก็เชื่อเฮียกู หรือป้าวิ ไปเลย)
จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีการแย่งชิงกันกำหนด ‘ความจริง’ บน Wikipedia แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับจีนในบางเรื่องราว อาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นดุเดือด!
มีการให้ข้อมูลว่า คอนเท้นต์เกี่ยวกับการชุมนุมในฮ่องกงบน Wikipedia ถูกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาถึง 65 ครั้งในวันเดียว โดยหัวใจสำคัญคือการเรียกผู้ชุมนุมด้วยคำว่า ‘ผู้ประท้วง’ หรือ ‘ผู้ก่อจลาจล’
เนื้อหาอื่นๆ ที่มีการแย่งชิงกันกำหนดข้อมูลบน Wikipedia ก็มีอาทิ ไต้หวัน ถือเป็นรัฐในเอเชียตะวันออกหรือดินแดนของจีน? เกาะเซนคาคุที่หลายๆ ชาติกำลังอ้างสิทธิ์กัน ถือเป็นเกาะในเอเชียตะวันออกหรือดินแดนในครอบครองของจีน? เหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี ค.ศ.1989 ในภาษาอังกฤษเขียนว่าเหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน แต่ในภาษาจีนกลางเขียนว่าเป็นการยับยั้งเหตุจลาจลของพวกต่อต้านการปฏิรูป? ทะไลลามะ ในภาษาอังกฤษเขียนว่าเป็นผู้ลี้ภัยชาวธิเบต ในภาษาจีนกลางเขียนว่าเป็นชาวจีนที่ถูกเนรเทศ?
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับจีนใน Wikipedia ทำกันเป็นขบวนการหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะอย่างที่เราเขียนไว้ในย้อหน้าแรกเลยว่า ในยุคสมัยนี้ใครๆ ก็เริ่มต้นหาข้อมูลจากเฮียกู จากป้าวิ ความพยายามในการกำหนดความจริงบนโลกออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาล (โดยเฉพาะจีน) มองข้ามไปไม่ได้
ที่มา
https://www.bbc.com/news/technology-49921173
#Brief #TheMATTER