เวลาป่วย เป็นโรคขั้นสุดท้าย หลายครั้งถ้าเลือกได้ เราก็อาจจะอยากเลือกไม่รับการรักษาต่อ อยากไปอย่างสงบ เพราะรู้สึกว่าอยู่ไปก็ทรมานจากโรคร้าย ซึ่งในนิวซีแลนด์ ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ และมีการพิจารณาเป็นร่างกฎหมายอนุญาตการการุณยฆาตด้วย
ร่างกฎหมายการุณยฆาตผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเมืองเวลลิงตันแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 69 ต่อ 51 โดยกฎหมายนี้จะอนุญาตให้ผู้ป่วยใกล้ตายที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน สามารถเลือกให้แพทย์กระทำการการุณยฆาตได้ หากได้รับการอนุญาตจากแพทย์ 2 คน ซึ่งจะถูกบังคับใช้หลังจากผ่านการลงประชามติของชาวนิวซีแลนด์ในการเลือกตั้งปีหน้า
ก่อนหน้านี้ สภานิวซีแลนด์ได้พยายามผ่านร่างกฎหมายนี้ 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้ร่างกฎหมายหลายคนได้พูดถึงเรื่องนี้และถกเถียงกันจนถึงช่วงเย็น หนึ่งในนั้น คือ นิกกี้ เคย์ สมาชิกพรรค National ที่กล่าวว่า “พวกเราต้องผ่านกฎนี้ เพื่อความเป็นธรรมและยุติธรรม”
ผลการสำรวจจาก 1 NEWS Comar Brunton poll เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เผยว่าชาวนิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนกฎช่วยเหลือการตายบางรูปแบบ โดย 72% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจเห็นด้วยที่จะให้ผู้ป่วยใกล้ตายสามารถขอให้แพทย์กระทำการุณยฆาตได้ ในขณะที่อีก 20% ไม่เห็นด้วย และ 7% ตอบว่าไม่รู้
แม้มีผู้สนับสนุนการการุณยฆาตจำนวนมาก แต่ก็มีผู้ที่ออกมาคัดค้านกฎหมายนี้เช่นกัน ผู้ที่ไม่พอใจกับการผ่านกฎหมายจำนวนกว่าร้อยคน ได้ออกมารวมตัวกันด้านหน้ารัฐสภา พร้อมชูป้ายแสดงข้อความแสดงความไม่พอใจ เช่น ดูแลไม่ใช่ฆ่า (caring not killing) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย การการุณยฆาตยังคงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย โดยผู้กระทำการการุณยฆาต อาจมีความผิดฐานฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ผู้ป่วยใกล้ตายสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษาเพื่อยืดอายุได้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-50408033
https://www.rnz.co.nz/news/political/403195/euthanasia-bill-passes-final-reading-in-parliament
http://pcmc.swu.ac.th/EC/document/form/dw_form4/17.pdf
#Brief #TheMATTER