หลายคนบ่นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสระดับสากล ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังช่วยเราแก้ปัญหา พวกเขาคิดค้นวิธีการเปลี่ยนพลาสติกให้กลายเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเผาไหม้ซึ่งทำให้เกิดสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
นักวิจัยจากสิงคโปร์ กล่าวว่า พวกเขาสามารถเปลี่ยนพลาสติก เป็น กรดฟอร์มิก (formic acid) ซึ่งสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ โดยการใช้ตัวเร่งปฏิกริยา (catalyst) ซึ่งนอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
.
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ได้ทำการทดลองนำพลาสติกไปผสมกับสารเคมี เพื่อสร้างสารละลายที่สามารถแตกตัวได้ หลังโดนแสงจากดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ กระบวนการนี้ใช้เวลา 6 วันในการทำให้พลาสติกแตกตัว และนักวิทยาศาสตร์หวังว่าในอนาคตจะสามารถทำการทดลองนี้ได้โดยใช้แสงอาทิตย์ของจริงแทน
ซู ฮัน เสน (Soo Han Sen) ผู้นำการวิจัย จาก School of Physical and Mathematical Sciences ของ Nanyang Technological University กล่าวว่า พวกเขาสามารถเปลี่ยนพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเล ให้กลายเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ และคาดหวังว่าจะทำให้กระบวนการนี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral)
ปกติการรีไซเคิลพลาสติก ต้องใช้น้ำมันฟอสซิล เพื่อทำให้พลาสติกละลาย ซึ่งทำให้เกิดการผลิตก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนพลาสติกให้กลายเป็นกรดฟอร์มิก จึงเป็นวิธีการรีไซเคิลพลาสติกที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีเพียงพลาสติกไม่กี่ชิ้นที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกรดฟอร์มิก เพราะนักวิทยาศาสตร์เจออุปสรรค์ที่ทำให้ไม่สามารถทำการทดลองในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้ เช่น การขาดกำลังคนและเงินสนับสนุนในการพัฒนาโปรเจคนี้ต่อไป และการทดลองที่ผ่านมาก็ทำกับพลาสติกบริสุทธิ์เท่านั้น ไม่ได้ทำกับขยะพลาสติก
.
อ้างอิงจาก
https://japantoday.com/category/tech/scientists-to-harness-the-sun-to-break-down-plastic
https://www.afp.com/en/news/826/scientists-harness-sun-break-down-plastic-doc-1mz31m1
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER