ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ จากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทั้ง 36 คน (รายชื่ออยู่ในท้ายโพสต์นี้) ที่ออกแถลงการณ์ให้ความเห็นต่อกรณีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท
The MATTER จะสรุปให้ว่า ผู้สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ย่านท่าพระจันทร์-รังสิต ให้ความเห็นในคดีนี้อย่างไรไว้บ้าง เหตุด้วยกับเหตุผลที่ศาลใช้ยุบพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 6.3 ล้านเสียงไหม
1.) คณะอาจารย์ เริ่มต้นแถลงการณ์ด้วยการระบุว่า เหตุที่ต้องออกมาแสดงความเห็นครั้งนี้ “เพื่อชี้ให้สาธารณชนได้ทราบว่าอาจมีแนวทางในการใช้และการตีความอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่า”
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความแตกแยกและมีคำถามต่อคำวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ
“นักวิชาการทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยให้สังคมผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยความรู้และเหตุผล
“และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อความศรัทธาที่สังคมและนักศึกษากฎหมายมีต่อสถาบันการศึกษากฎหมายและวิชาชีพกฎหมาย”
2.) สำหรับเนื้อหาแถลงการณ์มี 4 ข้อ ที่แม้จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ..” แต่ก็เสนอความเห็นต่างไว้หลายประเด็น ดังนี้
– คณะอาจารย์ ‘เห็นต่าง’ จากศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ
– คณะอาจารย์ ‘เห็นต่าง’ จากศาลรัฐธรรมนูญว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ‘เป็นเสรีภาพ’ ในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา ไม่ใช่เรื่อง ‘ผิดปกติทางการค้า’
– คณะอาจารย์ ‘เห็นต่าง’ จากศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ไม่สามารถนำมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาสั่งยุบพรรคได้
3.) คณะอาจารย์ยังให้ความเห็นเรื่องการยุบพรรคการเมืองไว้ว่า “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคการเมืองตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ”
การยุบพรรคการเมือง จึงควรจะถูกใช้เฉพาะกรณีที่มีความชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นๆ กระทำความผิดข้างต้น
4.) ท้ายแถลงการณ์ยังระบุว่า คณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจะได้รับการแก้ไขเยียวยา “ด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม” และระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ และผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น
– อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่: https://www.dropbox.com/s/j7qqfkswov4yizd/%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.pdf?dl=0&fbclid=IwAR3zi_W3VSWqb1SqMqHecDOnoMIzH2kLWOIyaVBtxlrm1VmkJPVGZPP38uA
5.) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ อย่างน้อย 6 ใน 9 คน ที่จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มธ.
– ดูประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ: http://www.constitutionalcourt.or.th/th/occ_web/more_news.php?cid=176
6.) รายชื่ออาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทั้ง 36 คน ที่ลงชื่อในแถลงการณ์นี้ ประกอบด้วย
– มุนินทร์ พงศาปาน
– สุปรียา แก้วละเอียด
– ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์
– รณกรณ์ บุญมี
– สุรพล นิติไกรพจน์
– ปกป้อง ศรีสนิท
– ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ
– คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
– นพร โพธิ์พัฒนชัย
– นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
– อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน
– เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
– กิตติภพ วังคำ
– สุรศักดิ์ บุญเรือง
– มาติกา วินิจสร
– ภัทรพงษ์ แสงไกร
– สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์
– สุเมธ สิริคุณโชติ
– ภูมินทร์ บุตรอินทร์
– ยศสุดา หร่ายเจริญ
– อุดม รัฐอมฤต
– ตามพงษ์ ชอบอิสระ
– ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี
– กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
– เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์
– สหธน รัตนไพจิตร
– กีระเกียรติ พระทัย
– ฉัตรดนัย สมานพันธ์
– ปทิตตา ไชยปาน
– พนัญญา ลาภประเสริฐพร
– เอมผกา เตชะอภัยคุณ
– สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ
– นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล
– พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
– สุประวีณ์ อาสนศักดิ์
– ปวีร์ เจนวีระนนท์
7.) น่าสนใจว่า การออกมาวิพากษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะช่วยลดความกังวลของสาธารณะต่อการให้ความเห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
เพราะเอาเข้าจริง ตามกฎหมายก็กำหนดไว้เพียงว่า “ห้าม #บิดเบือน ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล #โดยไม่สุจริต หรือใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมาย #หยาบคาย #เสียดสี #ปลุกปั่น #ยุยง หรือ #อาฆาตมาดร้าย”
ไม่ใช่ว่าห้ามแตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER