หลายคนเสียเงินให้กับค่าเดินทางปีละหลายบาท เพราะการใช้ขนส่งสาธารณะไม่ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางในต่อเดียว เวลาไปทำงาน พอนั่งรถไฟฟ้าถึงสถานีปลายทางแล้ว อาจต้องนั่งมอเตอร์ไซค์วินต่ออีก เพราะที่ทำงานอยู่ในซอย ทำให้ค่าเดินทางไปกลับค่อนข้างแพง ซึ่งตอนนี้ในยุโรปได้เริ่มมีนโยบายให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีแล้ว
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.2020 การใช้บริการขนส่งสาธารณะในประเทศลักเซมเบิร์ก (ได้แก่ รถไฟ รถราง และรถเมล์ ไม่รวมที่นั่งเฟิร์สคลาส) จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเป้าหมายของโครงการนี้ ทาง ฟรังซัว บอช (François Bausch) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการคมนาคมลักเซมเบิร์ก เผยว่า “เป็นการหยุดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่มากขึ้น ”
การสูญเสียรายรับที่มาจากการซื้อตั๋วเดินทาง ดูจะไม่กระทบกับรัฐบาลลักเซมเบิร์กมากเท่าไหร่ เพราะค่าใช้จ่ายของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 41 ล้านยูโร (ราว 1.4 พันล้านบาท) หรือ แค่ราว 8% ของงบประมาณประจำปีด้านการขนส่งของประเทศลักเซมเบิร์ก ที่มีวงเงิน 500 ล้านยูโร (ราว 1.7 หมื่นล้านบาท)
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลลักเซมเบิร์ก ยังได้ตั้งเป้าว่า จะต้องมีผู้ใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 20% ภายในปี ค.ศ.2025 โดยในช่วงปี ค.ศ.2018 – 2027 จะมีการใช้เงินลงทุนราว 4 พันล้านยูโร (ราว 1.4 แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนาระบบรางรถไฟใหม่ นอกจากนี้ยังหวังว่าจะลดจำนวนผู้ใช้รถยนต์ด้วย ซึ่งลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นเจ้าของรถ (รถยนต์ ต่อ ประชากร 1,000 คน) สูงที่สุดในสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะในประเทศลักเซมเบิร์ก ก็ถือว่าไม่แพงอยู่แล้ว ตั๋วไปขาเดี๋ยวมีราคาอยู่ที่ 2 ยูโร (ราว 69 บาท) และบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวัน ราคาประมาณ 4 ยูโร (ราว 139 บาท )
นอกจากนี้ ผู้โดยสารหลายกลุ่มนั่งฟรีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือ นักเรียนอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือ กลุ่มคนที่ได้รับ ‘รายได้ครอบคลุมสังคม’ (social inclusion income) ซึ่งเป็นสวัสดิการทางการเงินสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ
นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า โครงการนี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อย่าง มาร์กุส เฮ็สเซอ (Markus Hesse) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเมือง จากมหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์ก เผยว่า การเปิดให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหารถยนต์อย่างแท้จริง เพราะประเทศลักเซมเบิร์กมีเงินเดือนสูงและราคาน้ำมันถูก คนจึงซื้อรถยนต์
เขายังมองว่า หลายคนที่เดินทางจากประเทศเพื่อนบ้าน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม เขาจึงเชื่อว่า คนกลุ่มนี้จะขับรถยนต์ต่อไป ส่วนชาวลักเซมเบิร์กที่ขี่จักรยาน อาจเริ่มหันมาใช้บริการเดินทางฟรี
พื้นที่ที่มีนโยบายเดินทางฟรี ส่วนใหญ่มีประชากรไม่มาก อย่าง เมืองทาลลินน์ ในประเทศเอสโตเนีย ที่เคยมีนโยบายขนส่งสาธารณะฟรีสำหรับพลเมือง ในปี ค.ศ.2013 มีประชากรราว 4 แสนคน ส่วนเมืองดันเคิร์ก ที่เคยมีนโยบายเดินทางฟรีในปี ค.ศ.2018 มีประชากรราว 2 แสนคน และสำหรับ ประเทศลักเซมเบิร์ก ที่มีนโยบายขนส่งสาธารณะฟรี ในปีค.ศ.2020 มีประชากรราว 6 แสนคน
.
อ้างอิงจาก
https://www.fastcompany.com/90468863/public-transport-will-now-be-free-in-luxembourg
https://www.bbc.com/news/world-europe-51657085
https://www.dw.com/en/luxembourg-makes-public-transport-free/a-52582998
พิสูจน์อักษร: พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
#Brief #TheMATTER