แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้หลายๆ แง่มุมในชีวิตของเราง่ายขึ้น ดูหนัง ฟังเพลง ช็อปปิ้ง ทำงาน เรียนหนังสือ ฯลฯ จะทำจากที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเจ็บป่วยยังไงก็ต้องไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลอยู่ดี จะดีกว่าไหมหากมีเทคโนโลยีมาช่วยให้เราเข้าถึงบริการการแพทย์ได้ง่ายขึ้น
แต่ต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยีมาให้บริการการแพทย์ทางไกล หรือที่เรียกกันว่า telemedicine หรือ telehealth ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังห่างไกลกับการมาทดแทนสถานพยาบาล แต่ก็ทำให้ชีวิตของผู้ป่วยหลายๆ คนง่ายขึ้นเยอะ เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาน้อยลง
สำหรับแวดวง telemedicine ในไทย ถือว่ายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ มีผู้ประกอบการอยู่ไม่กี่ราย แต่ก็มีผู้สนใจมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าล่าสุด แพทยสภาได้ออกประกาศเกี่ยวกับ telemedicine ที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องตกใจ เพราะเนื้อหาบางส่วนยังเห็นต่างกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการชื่อเดียวกัน) ของสภาผู้แทนราษฎร มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับแวดวง telemedicine ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมาหารือกัน ถึงโอกาสและอุปสรรคของแวดวงนี้
ทางสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association – TTSA) พร้อมสตาร์ตอัพด้าน telemedicine ทั้ง Ooca, Chiiwii, Doctor A to Z จึงถือโอกาสนี้ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐ ผ่านคณะอนุกรรมาธิการให้ไปศึกษา มีเนื้อหาดังนี้
1.) สนับสนุนให้มีนโยบายหรือการออกกฏหมายรับรองการทำ telemedicine หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาวงการ เพิ่ม liability ให้กับวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ลดความเสี่ยงจากการให้บริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น การให้คำปรึกษาผ่านไลน์ เป็นต้น
2.) การพิจารณาออกกฏหมายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ telemedicine ควรรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ที่มากกว่าแต่ฝั่งแพทย์เท่านั้น และให้มองถึงมุมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อาทิ อาจกำหนดไกด์ไลน์เพื่อสร้างมาตรฐานให้วิชาีพแต่ไม่ควรออกมาเป็นกฎหมาย, ไม่ควรจำกัดให้การบริการยึดโยงกับสถานที่และสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ฯลฯ
3.) ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีไทย เพื่อความเข้มแข็งของประเทศด้าน health informatics มากกว่าบริษัทต่างด้าว
“นวัตกรรม telemedicine ไม่ได้มาทดแทนการรักษาในโรงพยาบาล แต่เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยี” เอกสารข้อเสนอของ TTSA และผู้เกี่ยวข้องระบุ
โลกในยุค COVID-19 ซึ่งมีข้อจำกัดมากมายในทางกายภาพ ทำให้เราพบวิธีใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นเยอะ telemedicine หรือ ‘ก้าวแพทย์ทางไกล’ ก็อาจเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตคนไทยง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก ในอนาคต ก็เป็นไปได้
อ้างอิงจาก
https://techsauce.co/news/thailand-tech-startup-association-suggestion-telemedicine
https://docs.google.com/presentation/d/1L0Xg2k0Vf_-2yTkqCTQKG6R6W-6ykpJvZp3xkuKBOao
https://tmc.or.th/index.php/News/News-and-Activities/Telemedicine
#Brief #TheMATTER