การได้เป็นผู้ค้นพบค้นพบอะไรสักอย่างนอกโลกนั้น เป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของใครหลายคน เช่นเดียวกับนักเรียนหญิงชาวอินเดีย 2 คนนี้ ที่ได้เติมเต็มความฝันของตัวเอง เมื่อทั้งคู่ค้นพบดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่เข้ามาใกล้กับโลก ด้วยการสำรวจผ่านภาพจากกล้องโทรทรรศน์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย
ราดิคา ลัคคานิ (Radhika Lakhani) และเวเดฮี เวคารียา (Vaidehi Vekariya) นักเรียนชาวอินเดีย ชั้น ม.4 ค้นพบดาวเคราะห์น้อย จากการร่วมมือกันทำโครงการของสถานศึกษาโดยตอนนี้ พวกเขาตั้งชื่อดาวเคราะห์ดวงนั้นว่า HLV2514 ไปก่อน และกำลังตั้งตารอโอกาสที่จะได้ตั้งชื่อให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นชื่ออื่น เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว
ทั้งคู่มาจากรัฐคุชราฏ (Gujarat) ของอินเดีย และเข้าร่วมในโครงการของ SPACE India และ NASA ซึ่งจะให้นักเรียนวิเคราะห์ภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย
“เราเริ่มโครงการกันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แล้วเราก็ส่งผลการวิเคราะห์กลับไปให้ NASA เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน แล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เขาก็ส่งอีเมลกลับมายืนยันว่า พวกเราสามารถระบุพิกัดของวัตถุที่อยู่ใกล้กับโลกได้” เวคารียา กล่าว
SPACE India สถาบันเอกชนที่ทั้งสองคนเข้ารับการฝึกอบรม กล่าวว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้น ถูกพบใกล้ๆ กับตำแหน่งของดาวอังคาร และคาดว่าวงโคจรของมันจะโคจรรอบโลกด้วยเวลาประมาณหนึ่งล้านปี
อาคาช ดไวเวดิ (Aakash Dwivedi) อาจารย์และนักดาราศาสตร์ จาก SPACE India เล่าว่า นักเรียนทั่วอินเดียได้รับการสอนวิธีสังเกตเทห์ฟากฟ้า หรือวัตถุท้องฟ้า โดยใช้ซอฟต์แวร์ซึ่งวิเคราะห์ภาพที่รวบรวมโดยกล้องโทรทรรศน์ PAN Star ของ NASA แล้วนักเรียนก็จะค้นหาการเคลื่อนย้ายวัตถุท้องฟ้าจากภาพถ่ายเหล่านั้น
ดไวเวดิ ยังกล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของโปรเจกต์นี้ก็คือ การให้นักเรียนมีส่วนร่วม และเป็นการให้ความรู้แก่นักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์
เขายังอธิบายด้วยว่า ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบโดยนักเรียนทั้งสองคนนี้ อยู่ใกล้กับวงโคจรของดาวอังคาร แต่ในอีก 1 ล้านปี มันจะเปลี่ยนวงโคจรและเคลื่อนที่เข้ามาใกล้กับโลกของเรามากขึ้น แม้ว่ามันจะยังคงอยู่ห่างมากกว่า 10 เท่าของระยะห่างระหว่าง โลกและดวงจันทร์ก็ตาม
เวคารียาเล่าว่า เหล่านักเรียนไม่สามารถฉลองการค้นพบครั้งนี้ได้ เพราะ COVID-19 ยังระบาดอยู่ และเสริมด้วยว่า การค้นพบนี้เป็นความฝันเธอ เพราะเธอใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่เด็กๆ
อ้างอิงจาก
https://www.cbc.ca/news/technology/indian-girls-asteroid-1.5666962
#Brief #TheMATTER