จอห์น อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการ iLaw กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังคงไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เยาวชนเกือบทุกจังหวัดที่จัดกิจกรรมถูกคุกคามโดยหน่วยงานของรัฐ และแม้การรวบรวมรายชื่อครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขในทันที แต่อย่างน้อยมันก็จะเป็นด่านแรกที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยแท้จริง
ขณะที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าวถึงข้อเสนอของ iLaw โดยแบ่งเป็นสองด้าน ดังนี้ คือ
5 ยกเลิก
1) ปิดทางนายกฯ คนนอก – ยกเลิกมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดทางให้สภาสามารถเสนอชื่อนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้
2) บอกลายุทธศาสตร์ 20 ปี – ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
3) ไม่ต้องมีแผนปฏิรูปประเทศ – ยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ และข้อกำหนดที่ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน และยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดแผนดังกล่าว
4) ยกเลิกผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ – ยกเลิกข้อความในมาตรา 252 ซึ่งอาจทำให้มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
5) พังเกราะที่คุ้มครอง คสช. – ยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้การกระทำทุกอย่างของ คสช. ไม่ต้องรับผิด หรือกล่าวคือเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อนิรโทษกรรมการกระทำที่ผ่านมาของ คสช.
5 แก้ไข
1) นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น
2) สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน – โดยขั้นแรกต้องยกเลิก 250 สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และให้ลดจำนวน สว. ให้เหลือ 200 คน ซึ่งได้มาโดยระบบเลือกเลือกตั้งตามเขตจังหวัด แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540
3) แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรอิสระ – ลำดับแรกให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากอำนาจ ก่อนจัดให้มีการสรรหาใหม่โดยวิธีเดียวกับรัฐธรรมนูญ2540
4) ปลดล็อควิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ – แก้ไขให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องพึ่งเสียงของ สว. และไม่บังคับให้ต้องลงประชามติ
5) จัดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ – กำหนดให้มีการเลือกตั้ง สสร. จำนวน 200 คน และ สสร. ชุดดังกล่าวต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน
ทางด้านภาคประชาสังคมที่มาเข้าร่วมในงานครั้งนี้ ต่างมีข้อเสนอที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มองว่ารัฐธรรมนูญต้องมีการระบุคำว่าสิทธิทางยุติธรรมลงไป เพื่อให้มีการจัดทนายให้แก่ทุกคนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือข้อเสนอจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยให้ยกเลิกระบบ ส.ว. และเหลือแต่ ส.ส. อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมทั้งหมดต่างมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ ต้องเปิดทางขั้นแรกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ก่อน โดยการล่ารายชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อ
ทั้งนี้ การเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำได้โดย 4 ช่องทางคือ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, ส.ส.เข้าชื่อมากกว่า 100 คน, ส.ส. และ ส.ว. รวมกันมากกว่า 150 คน และประชาชนลงชื่อ 50,000 รายชื่อ โดยในขั้นตอนต่อไป หรือขั้นตอนการพิจารณานั้นเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เนื่องจาก รัฐธรรมนูญบังคับให้ในวาระพิจารณาต้องอาศัยเสียงของสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง กล่าวคือ ต้องอาศัยทั้งเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสมาชิกวุฒิสภานั่นเอง
ถ้าหากสนใจลงชื่อเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กับ iLaw สามารถเข้าไปดูวิธีการเข้าร่วมได้ที่
https://web.facebook.com/iLawClub/posts/10164220167810551
#Brief #TheMATTER