เรียกได้ว่าเป็นนาทีชีวิต เมื่อนักวิจัย พบซากฟอสซิลของ ‘มดยมโลก’ กำลังงับแมลงสาบสายพันธุ์หนึ่งเอาไว้ อยู่ในก้อนอำพันอายุ 99 ล้านปี โดยแมลงทั้งสองเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ยุคโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เห็นถึงขั้นตอนทางวิวัฒนาการ
รายงานระบุว่า มีการค้นพบก้อนอำพันในพม่า เมื่อปี ค.ศ.2017 ซึ่งข้างในก้อนอำพันนั้น มีซากฟอสซิลของมดยมโลก (Hell ant) ซึ่งเป็นสัตว์ในยุคโบราณ กำลังกัดลูกของบรรพบุรุษแมลงสาบสายพันธุ์โบราณเอาไว้ โดยแมลงทั้งสองเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
การค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่ทำให้เห็นขั้นตอนสำคัญทางวิวัฒนาการ ที่ส่งผลต่อความอยู่รอดและการสูญพันธุ์ของเผ่าพันธุ์ เพราะตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เจ้าแมลงชนิดนี้สูญพันธุ์ไปได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว มดยมโลกเป็นชื่อที่เรียกกันเล่นๆ แต่ชื่อที่เป็นทางการก็คือ Ceratomyrmex ellenbergeri จัดอยู่ในวงย่อย Haidomyrmecine อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ และอาศัยอยู่บนโลกมานานกว่า 20 ล้านปี
โดยมดยมโลกนั้น เป็นมดชนิดเดียวที่มีขากรรไกรล่างซึ่งวางตัวและเคลื่อนไหวขึ้นลงในแนวตั้ง แตกต่างจากบรรดามดที่เราคุ้นชินกันตอนนี้ ที่มีขากรรไกรในแนวขวางและขยับไปมาทางด้านข้าง แถมยังมีเขาอยู่ที่กลางหน้าผากอีกด้วย
ฟิลิป บาร์เดน (Phillip Barden) ผู้นำทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเจอร์ซีย์ (NJIT) กล่าวว่า นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการขุดพบมดยมโลกขึ้นมาเมื่อประมาณร้อยปีก่อน ก็เป็นปริศนามาตลอดว่า ทำไมแมลงที่สูญพันธุ์ไปแล้วชนิดนี้ ถึงได้แตกต่างอย่างชัดเจนจากมดที่เราพบเจอกันในปัจจุบัน
นอกจากนี้ บาร์เดนยังกล่าวอีกว่า ซากฟอสซิลนี้อาจพิสูจน์ว่า อวัยวะที่ไม่เหมือนใครนี้จำกัดการเคลื่อนไหวส่วนหัวของมันมากเกินไป และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องสูญพันธุ์ โดยไม่มีมดชนิดใดในปัจจุบันตามรอยวิวัฒนาการไปในแนวนี้
“99% ของสิ่งมีชีวิตทุกสปีชีส์ที่เคยอยู่บนโลกได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และเราก็กำลังเข้าใกล้การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 6 เข้าไปทุกที จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ถึงธรรมชาติและลักษณะของการสูญพันธุ์หลากหลายแบบเอาไว้ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ตัดสินให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดหรือสูญพันธุ์ไป”
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.co.uk/newsround/53720076
https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_4677281
#Brief #TheMATTER