หากนกกาเหว่าไม่ขัน ท่านจะทำอย่างไร ?
คำถามที่สะท้อนทัศนคติและความคิดของสามยอดซามูไรแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง โอดะ โนบุนางะ (Oda Nobunaga) โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) และโตกูกาวะ อิเอยะซึ (Tokugawa Ieyasu) ผู้มีส่วนในการรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น เมื่อครั้งเจอนกกาเหว่าที่ถูกร่ำลือว่ามีเสียงขันอันไพเราะ แต่มันกลับไม่ขันเสียงร้องให้สามยอดนักรบได้สดับรับฟัง จนเป็นที่มาของสุภาษิตที่ให้เลือกระหว่าง ฆ่านกกาเหว่านั้นเสีย บังคับให้มันขัน หรือเฝ้ารอจนกว่ามันจะขับเสียงขันออกมาเอง ที่ช่วยอธิบายยุทธวิธีในการเอาชนะข้าศึกของสามยอดซามูไรได้เป็นอย่างดี
ชื่อของ 3 ซามูไรดังกล่าว อาจเป็นที่คุ้นหูของคนที่นิยมดูอนิเมะ หรือมังงะของญี่ปุ่นมาบ้าง โดย 3 บุคคลดังกล่าวนั้นมีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ และเมื่อไม่กี่วันก่อน Netflix เพิ่งได้ปล่อยซีรีส์สารคดีสั้น 6 ตอน ชื่อ ‘Age of Samurai: Battle for Japan’ ที่เริ่มเล่าเรื่องอิงประวัติศาสตร์ ของญี่ปุ่นในเซ็งโงกุจิได (Sengoku Jidai) หรือยุคแห่งสงครามกลางเมือง เพื่อครองความเป็นหนึ่งเหนือแผ่นดินญี่ปุ่น และการขึ้นสู่อำนาจ เพื่อเป็นโชกุนหนึ่งเดียวในดินแดนแห่งพระอาทิตย์นี้
ตัวซีรีส์พูดถึงญี่ปุ่นก่อนที่จะเป็นประเทศ อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ หรือเมื่อราว 500 ปีก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองกว่าหลายศตวรรษก่อน ส่งผลต่อญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย The MATTER จึงขอพาคุณไปทำความเข้าใจ ถึง ‘มหาบุรษ’ ที่เป็นทั้งนักรบซามูไรในการ์ตูน แต่คือผู้รวบรวมให้เกาะญี่ปุ่นผนึกรวมกันกลายเป็นชาติอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้
“หากนกกาเหว่าไม่ขัน จงฆ่ามันเสีย”
สารคดีเปิดมาด้วยการขึ้นสู่อำนาจของ ‘โอดะ โนบุนางะ’ (ค.ศ.1534-1582) ในฐานะหัวหน้าประจำตระกูลโอดะ แห่งแคว้นโอวาริคนใหม่ หลังผู้เป็นบิดาอย่าง โอดะ โนบุฮิเดะ (Oda Nobuhide) เสียชีวิตลง ถึงแม้ว่าโนบุนางะ จะไม่ใช่ลูกชายคนโต แต่ด้วยความที่เขาเกิดจากแม่ผู้เป็นภรรยาเอกของโนบุฮิเดะ โนบุนางะจึงขึ้นครองตำแหน่งหัวหน้าตระกูลโอดะ ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของชนชั้นซามูไรในแคว้นโอวาริ จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือ The Making of Modern Japan ว่าโนบุนางะถูกเรียกขานวว่าเป็น “จอมโง่แห่งโอวาริ” จากพฤติกรรมของเขาที่เอาแต่ใจตน และไม่เข้ารูปเข้ารอยกับวัฒนธรรมประเพณี
ฉายาของความโง่ดังกล่าวของโนบุนางะ มิได้เกิดขึ้นเพราะระดับสติปัญญาของเขา แต่มันถูกก่อข้อครหาจากบุคลิก ของความเป็นคนเลือดร้อนในตัวของโนบุนางะเอง ความเป็นคนไม่ยึดติดกับประเพณีโบราณ เช่นเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในเมอิโชเกนโคโรกุ (Meishogenkoroku) ว่า โนบุนางะเองแสดงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมในงานศพของบิดาตน ด้วยการขวางธูปใส่แท่นบูชา เนื่องจากความรู้สึกที่เขามีให้ต่อผู้เป็นพ่อ ก็ห่างเหินกันแต่โดยทุนเดิมอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว มันเป็นเรื่องปกติในยุคเซ็งโงกุ ที่พี่น้องจะหันมาฆ่าฟันกันเอง อย่างกรณีการฆ่าโนบุยูกิ (Nobuyuki) น้องชายผู้เป็นที่นิยมของคนในตระกูล ที่วางแผนทำรัฐประหาร และลอบสังหารโนบุนางะ พี่ชายของตน จากการที่เขามองว่า โนบุนางะไม่เหมาะสมต่อการเป็นหัวหน้าครอบครัวคนใหม่ อย่างไรก็ดี โนบุยูกิล้มเหลวในการล้มอำนาจของพี่ชาย การตัดศีรษะโนบุยูกิด้วยมือของโนบุนางะ คือ เหตุการณ์ที่ทำให้โนบุนางะ กลายเป็นที่เกรงกลัวของคนไปทั้งแคว้น ด้วยเหตุว่าเขาเองพร้อมเผชิญหน้าต่อทุกสิ่งอย่าง ถึงแม้ว่านั้นจะหมายถึงชีวิตของเขาก็ตาม
โนบุนางะครองแคว้นโอวาริได้อย่างเด็ดขาด ภายหลังจากที่เขายกทัพเข้าตีโอวาริทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของญาติตน ผู้ซึงมีกำลังพลกว่า 3,000 นาย ถึงแม้ว่าโนบุนางะ จะยังคงเป็นซามูไรที่ถือเกียรติตามวิถีและชั้นยศ แต่เขาไม่ลังเลที่จะเกณฑ์พลเรือนอย่างชาวบ้านทั่วไป ที่ถูกบรรยายในหนังสือโชเซน-เอกิ (Chousen-eki) ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีเชื้อหน่อของการเป็นชนชั้นนักรบซามูไรเข้าร่วมทัพ ด้วยการติดอาวุธอย่าง ยาริ หรือ หอกยาว เป็นกำลังพลที่มีชื่อเรียกว่า ‘อาชิการุ’ (Ashigaru)
ความก้าวหน้าของโนบุนางะ มิได้จบลงแค่การนำชาวบ้านธรรมดามาร่วมรบกับซามูไรผู้ทรงเกียรติ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในหนังสือ Tanegashima: The Arrival of Europe in Japan ระบุว่า ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 เกิดความผิดพลาดในการเดินเรือของชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งใจจะเดินทางจากมาเก๊าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แต่กลับต้องประสบกับลมพายุซัดเรือ จนมาติดเข้าที่เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ความบังเอิญนี้มาพร้อมกันกับอาวุธอันไร้เกียรติอย่าง ‘ปืนอาร์ควิบัส’ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการสังหาร จากการประลองดาบตัวต่อตัวของยอดนักรบ ไปเป็นการใช้ลูกเหล็กยิงปลิดชีพจากระยะไกล ปืนเป็นของใหม่ในญี่ปุ่น และเหล่าไดเมียวก็ต่างลังเลที่จะใช้มัน แต่ไม่ใช่กับโนบุนางะ
โนบุนางะเปลี่ยนรูปแบบสงครามของญี่ปุ่น จากเดิมที่เป็นเพียงการฆ่าฟันระหว่างซามูไรทรงเกียรติไม่กี่คน กลายเป็นการประจัญบานระหว่างกองทัพขนาดยักษ์ ที่ประกอบไปด้วยกำลังเสริมจากชาวบ้านธรรมดา และปืนกลไฟที่นักรบซามูไรไม่เคยใช้มาก่อน ด้วยเหตุนี้ โนบุนางะจึงครองโอวาริ และขยายอิทธิพลของตนในแถบตอนล่างของญี่ปุ่นกว่าครึ่งแผ่นดิน จนตัวเขาเองสามารถถืออำนาจนำในญี่ปุ่น ได้กว่า 2 ทศวรรษ
โนบุนางะล้มตระกูลซามูไรสำคัญ ทางตอนใต้และตอนกลางของญี่ปุ่นได้หลายตระกูล รวมถึงกลุ่มนักรบ ‘อิกโก-อิกกิ’ (Ikko-Ikki) กลุ่มกำลังพลของพระ ชาวนา และพ่อค้า ที่ต้องการปลดแอกตนเองออกจากการปกครองของไดเมียว ความโหดร้ายของโนบุนางะ ยังคงประสิทธิภาพตามคำร่ำลือ ไม่มีใครรอดพ้นไปจากคมดาบของโบุนางะได้ เช่นเดียวกันกับตระกูลทาเคดะ (Takeda) ผู้ปกครองแคว้นเคอิ ก็ต่างต้องปราชัยให้แก่โนบุนางะ ภายหลังจากที่หัวหน้าตระกูลคนสำคัญอย่าง ทาเคะดะ ชิงเง็ง (Takeda Shingen) เสียชีวิตลงได้เพียงแค่ 9 ปี มีหลักฐานระบุในหนังสือโกโยะกุนคัน (Koyo Gunkan) หนังสือบันทึกทางการทหารของตระกูทาเคดะระบุว่า ถึงแม้ว่าชิงเง็งเองจะวางแผน ให้ปิดเรื่องการตายของเขาให้เป็นความลับกว่า 3 ปี เพื่อให้บุตรชายอย่าง คัตสึโยริ (Katsuyori) สามารถสร้างฐานอำนาจของตนเอง ในเคอิได้อย่างเป็นปึกแผ่น แต่ก็ต่างต้องพ่ายแพ้ให้แก่โบบุนางะในท้ายที่สุด
ถึงแม้ว่าชื่อเสียงและอำนาจนำของโนบุนางะ จะกระจายเป็นวงกว้างในญี่ปุ่น แต่แล้ว จุดจบของโนบุนางะก็มาถึง ซาโตะ ฮิโรอากิ (Sato Hiroaki) นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นระบุว่า ใน ค.ศ.1582 โนบุนางะถูกหักหลังจากขุนศึกผู้เป็นลูกน้องคนสำคัญอย่าง อาเคจิ มิตสึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide) ถึงแม้ว่ามิตสึฮิเดะจะจงรักภักดีต่อโนบุนางะมาโดยตลอด จากการที่มิตสึฮิเดะเคยเป็นโรนิน หรือซามูไรไร้นาย ที่ได้รับความไว้วางใจจากโนบุนางะ จนเขาได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเป็นนายพลระดับสูงของตระกูลโอดะ แต่ด้วยความที่โนบุนางะ เคยสั่งประหารผู้เป็นแม่ของมิตสึฮิเดะ มิตสึฮิเดะจึงผูกใจเจ็บโนบุนางะมาตลอด 11 ปี
มิตสึฮิเดะสบโอกาสลอบสังหารโนบุนางะในคืนหนึ่ง ขณะที่โนบุนางะและพรรคพวกไม่กี่คนกำลังพำนักอยู่ในวัดฮอนโนจิ (Honno-ji) มิตสึกฮิเดะออกอุบายว่า ตนกำลังจะยกทัพออกจากเกียวโต เพื่อนำกองกำลังไปช่วยเหลือ โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ขุนพลเอกของโนบุนางะอีกคน ที่กำลังสู้รบกับไดเมียวตระกูลโมริ (Mori) ในแคว้นอิกะ ในทางกลับกัน มิตสึฮิเดะกลับนำทัพของเขาวกกลับเข้าเกียวโต และล้อมโนบุนางะในวัด ที่ไม่มีกำลังพลพอจะตอบโต้
โนบุนางะสู้จนเขารู้ตัวว่าไม่มีทางถอย วาระสุดท้ายได้มาถึง เขาตัดสินใจทำเซปปุกุ หรือการคว้านท้องตนเอง เพื่อการตายอันสมเกียรติอย่างซามูไร หลังมรณกรรมของไดเมียวตระกูลโอดะที่ทรงอำนาจที่สุดในญี่ปุ่น ไม่มีใครพบศพของโนบุนางะ อย่างไรก็ดี ถึงแม้โนบุนางะจะใช้เวลากว่า 20 ปี จากการเป็นผู้ปกครองในแคว้นเล็กๆ จนเขาสามารถยึดพื้นที่ของญี่ปุ่นได้กว่าครึ่งของทั้งเกาะ แต่ภารกิจการรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์
“หากนกกาเหว่าไม่ขัน จงทำให้มันขันเสีย”
สูญญากาศทางการเมืองของญี่ปุ่น โหมกระหน่ำซ้ำกับภาวะสงครามการเมือง ที่รบพุ่งกันมากว่าหลายสิบปี หลังจากไดเมียวที่เรืองอำนาจที่สุด อย่างโนบุนางะได้เสียชีวิตลง ข่าวการตายของเจ้านายอย่างโนบุนางะส่งไปถึง โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ขุนพลซามูไรคนเอกของโนบุนางะ ในเวลาไม่กี่วัน มิตสึฮิเดะกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของฮิเดโยชิ ฮิเดโยชิสาบานว่าเขาจะแก้แค้นให้แก่เจ้านาย ที่ต้องเสียชีวิตไป จากการก่อกบฏของสหายร่วมรบอย่างมิตสึฮิเดะให้จงได้ ถึงแม้ว่าการแก้แค้นในครั้งนี้ จะหมายถึงชีวิตของเขาเอง
จากหนังสือ The Samurai Sourcebook ระบุว่า หลังจากการตายของโนบุนางะได้ 11 วัน ฮิเดโยชิเจรจาสงบศึกกับไดเมียวตระกูลโมริ ก่อนที่จะยกทัพตนเองกลับเข้าสู่เกียวโต ที่ตอนนี้ถูกครองโดยมิตสึฮิเดะ เพื่อล้างแค้นให้แก่เจ้านายของเขา มิตสึฮิเดะไม่ได้คาดการณ์ว่า ฮิเดโยชิจะเคลื่อนพลมหาศาลของตน กลับเข้าสู่ตอนกลางของญี่ปุ่นได้รวดเร็วมากนัก และมิตสึฮิเดะก็เพียงได้แต่คาดว่า เขาน่าจะพอมีวิธีการรับมือกับกองทัพของฮิเดโยชิได้บ้าง
ทาคายานากิ มิตซูโตชิ (Takayanagi Mitsutoshi) นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นระบุว่า ยุทธศาสตร์ยามาซากิ (Yamazaki no tatakai) ถูกวางไปตามแผนการ ที่มิตสึฮิเดะนำมาใช้รับมือ กับฮิเดโยชิที่กำลังโกรธแค้น ด้วยการใช้กำลังพลขนาดเล็กของตนที่เหลืออยู่ ดักรอในช่องแคบระหว่างภูเขาและแม่น้ำ เพื่อรอให้กำลังพลของฮิเดโยชิ ที่มีมากกว่าตน หลงกลและเคลื่อนพลผ่านช่องแคบนั้น มิตสึฮิเดะคิดว่า เขาอาจใช้โอกาสนี้ในการลอบโจมตีทัพของฮิเดโยชิ และชัยชนะก็อาจจะตกมาอยู่ในมือของเขาได้อย่างง่ายดาย เพราะมันเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการตั้งรับที่ดีที่สุด แต่นั้นกลับเป็นความผิดพลาดมิตสึฮิเดะ
มิตสึฮิเดะไม่ได้นำกำลังพลของตนไปตั้งรับบนภูเขาเทนโน ที่ขนาบถนนสายเล็ก ซึ่งเขาคาดว่าฮิเดโยชิจะยกทัพผ่าน ยิ่งไปกว่านั้น ฮิเดโยชิดันยกทัพมาถึงบริเวณดังกล่าวก่อนมิตสึฮิเดะ และครอบครองพื้นที่บนภูเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ห่ากระสุน กำลังพลติดหอก และคมดาบเข้าโจมตีมิสึฮิเดะกับกองกำลังขนาดเล็กที่เขาเหลืออยู่ ฮิเดโยชิแก้แค้นให้กับโนบุนางะสำเร็จ ด้วยการตัดหัวมิตสึฮิเดะ ก่อนเสียบประจาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์การตายของคนทรยศ ภายหลังจากวันที่โนบุนางะทำเซปปุกุเพียงแค่ 13 วัน
ญี่ปุ่นมีไดเมียวทีทรงอำนาจที่สุดขึ้นมาใหม่อีกคน นั้นคือ ฮิเดโยชิ ถึงแม้ว่าเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่พูดถึงพื้นเพของฮิเดโยชิจะมีหลงเหลืออยู่น้อยมาก แต่เป็นที่รู้กันในวงนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นว่า โดยเดิมที ฮิเดโยชิเป็นเพียงแค่ลูกชาวนาธรรมดา ที่ฝากตัวเข้ามารบเป็นทหารของโนบุนางะ แต่ด้วยนโยบายของโนบุนางะ และความสามารถของฮิเดโยชิ มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปเลย ที่ฮิเดโยชิเลื่อนชั้นจนกลายมาเป็นชนชั้นซามูไรผู้ทรงเกียรติ ในตอนนี้ เขาได้เริ่มเข้าพิชิตญี่ปุ่น และสานฝันของโนบุนางะ ในการผนึกญี่ปุ่นเข้าเป็นแผ่นดินเดียว ภายใต้อำนาจของเขาเองแล้ว
จากหนังสือของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดระบุว่า ฮิเดโยชิมีความทะเยอทะยานอย่างสูง ที่อยากจะขึ้นมาครองตำแหน่งโชกุนของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ด้วยชาติตระกูลของเขาที่ไม่ใช่ผู้สูงส่ง และเขาเองก็ไม่ได้สืบทอดเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะ (Minamoto) ตระกูลซามูไรชั้นสูงตั้งแต่ยุคเฮอัง (Heian) อย่างไรก็ดี สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นกลับเห็นความตั้งใจของเขา จึงได้แต่งตั้งให้ฮิเดโยชิครองตำแหน่งคัมปะกุ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ฮิเดโยชิขยายอำนาจของตนเข้าสู่เกาะคิวชู แต่เขากลับพบว่า บนเกาะคิวชูเองนั้น มีทั้งหมอสอนศาสนาชาวคริสต์ และนักบวชคาทอลิกมากมาย ที่เข้ามาอยู่อาศัยและเผยแพร่ศาสนาคริสต์เมื่อหลายสิบปีก่อน ใน ค.ศ.1587 ฮิเดโยชิเริ่มการห้ามสอนศาสนาคริสต์ และขับไล่นักบวชคริสต์ในบริเวณเกาะคิวชู อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ.1597 นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นทำการประหารนักบวชและชาวญี่ปุ่นที่เข้ารีตคริสต์จำนวน 26 คน ด้วยการจับตรึงกางเขน หลักฐานในเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงถูกพูดถึงในพิพิธภัณฑ์ 26 นักบุญมรณสักขี ที่จังหวัดนางาซากิของญี่ปุ่น
ฮิเดโยชิขึ้นครองอำนาจสูงสุดในญี่ปุ่น และยังได้ออกกฎหมายควบคุมอาวุธพลเมือง ตลอดจนการออก ‘กฎหมายสันติ’ ที่ไม่อนุญาตให้ไดเมียวทำสงครามกันเอง และยกอำนาจการตัดสินใจการทำสงครามใดๆ ให้ตกอยู่ในการตัดสินใจของฮิเดโยชิแต่เพียงผู้เดียว
ถึงแม้ว่าฮิเดโยชิจะออกกฎหมายควบคุมญี่ปุ่นได้ แต่ศัตรูคนสำคัญอีกสองตระกูลที่ยังคงท้าทายฮิเดโยชิ คงหนีไม่พื้นไดเมียวจากตระกูลโฮโจ (Hojo) ที่ยังคงท้าทายอำนาจของฮิเดโยชิ รวมถึงตระกูลดาเตะ (Date) ภายใต้การนำของ ดาเตะ มาซามูเนะ (Date Masamune) ที่อำนาจของเขาเริ่มขยายตัวมากขึ้นในตอนเหนือ และอาจเป็นภัยต่อฮิเดโยชิ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงคราวที่ฮิเดโยชิยกพลล้อมตระกูลโฮโจในบริเวณคันโต ไดเมียวฝ่ายเหนือทุกคนต่างรีบสวามิภักดิ์ต่อฮิเดโยชิทันที เหลือเพียงแต่มาซามูเนะ ที่ตอบรับการลงสวามิภักดิ์ต่อไดเมียวที่ทรงอำนาจที่สุดในญี่ปุ่นล่าช้ากว่าใครเพื่อน
อย่างไรก็ดี ถึงจะช้ากว่าไดเมียวคนอื่น แต่มาซามูเนะก็ตัดสินใจเข้าสวามิภักดิ์ต่อฮิเดโยชิ จนกระทั่งฮิเดโยชิได้ปราบตระกูลโฮโจจนอยู่มือ มาซามูเนะเดินทางมาหาอิเดโยชิ เพื่อถ้าหากว่าเขาจะมีชีวิตรอดอยู่ต่อไป เขาก็อาจจะถูกฮิเดโยชิสั่งประหาร จากการเข้าสวามิภักดิ์ที่ล่าช้าจนผิดสังเกตว่า เขาอาจเป็นภัยอันตรายต่อการรวมญี่ปุ่นเป็นแผ่นดินเดียวในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี ในบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า ฮิเดโยชิยกโทษให้แก่มาซามูเนะ ด้วยเหตุผลว่า “เขาอาจมีประโยชน์ในอนาคต” ตระกูลดาเตะสวามิภักดิ์ต่อฮิเดโยชินับแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังสู้รบกันมากว่า 120 ปี ตลอดจนการเข้าสวามิภักดิ์ของตระกูลดาเตะต่อฮิเดโยชิ และจุดจบของตระกูลโฮโจที่แข็งข้อ ใน ค.ศ.1590 ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การนำของฮิเดโยชิ ขุนศึกซามูไรคนเดียวที่พิชิตญี่ปุ่นได้ทั้งแผ่นดิน ขุนศึกที่เกิดจากตระกูลชาวนา จนกลายมาเป็นผู้ครองอำนาจตัวจริงในแผ่นดินอาทิตย์อุทัย
ฝันของโนบุนางะสำเร็จแล้วในยุคสมัยของฮิเดโยชิ อย่างไรก็ดี ฮิเดโยชิไม่ได้หยุดแผนการของเขาลงแค่การยึดญี่ปุ่นทั้งเกาะ ให้ตกมาอยู่ภายใต้อำนาจของเขาเพียงผู้เดียว แต่เขาตั้งใจจะประกาศศักดิ์ศรีของตน ตลอดจนเกาะญี่ปุ่น ด้วยการบุกตีจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ปกครองโดยราชวงศ์หยวน โดยจำต้องอาศัยทางผ่านของเกาหลี อย่างไรก็ดี จากบันทึกของราชวงศ์โชซ็อนของเกาหลีระบุว่า เกาหลีได้ปฏิเสธการให้ทางผ่าน เนื่องจากญี่ปุ่นและเกาหลีเองก็ต่างเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต ฮิเดโยชิจึงเริ่มจากการบุกตีเกาหลีใน ค.ศ.1592 ถึงแม้จะเกิดการสู้รบระหว่างเกาหลีและจีน กับญี่ปุ่นอย่างยาวนาน แต่ทุกอย่างต้องหยุดลง หลังจากที่ฮิเดโยชิเสียชีวิตใน ค.ศ.1598 ฝันที่ญี่ปุ่นจะพิชิตแผ่นดินใหญ่จบลงไปพร้อมกับลมหายใจของฮิเดโยชิ
“หากนกกาเหว่าไม่ขัน จงรอให้มันขันเสีย”
อาจกล่าวได้ว่า ยุคแห่งสงครามระหว่างไดเมียวจบลง เมื่อฮิเดโยชิพิชิตตระกูลโฮโจได้สำเร็จใน ค.ศ.1590 อย่างไรก็ดี ฮิเดโยชิมีขุนพลไดเมียวจากหลายแคว้นที่สวามิภักดิ์ต่อตน เช่นเดียวกันกับ โตกูกาวะ อิเอยะซึ (Tokugawa Ieyasu) ไดเมียวผู้นำตระกูลโตกูกาวะ แห่งแคว้นมิกาวะ ซึ่งเป็นสหายร่วมรบกับฮิเดโยชิ และต่างก็รับใช้โนบุนางะครั้งที่เขายังคงมีชีวิตอยู่ แต่ถึงแม้ว่าโนบุนางะจะจบชีวิตตัวเองลง จนถึงวันที่ฮิเดโยชิขึ้นมาเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดของญี่ปุ่น อิเอยะซึกลับไม่เคยคิดคดต่อฮิเดโยชิ และเป็นสหายร่วมรบที่ดีต่อเขามาโดยตลอด
จากจดหมายลายมือของฮิเดโยชิเองระบุว่า ฮิเดโยชิวาดหวังจะให้ลูกชายในวัยไม่ถึง 5 ขวบ อย่างฮิเดโยริ (Hideyori) สืบทอดอำนาจการปกครองญี่ปุ่นต่อจากเขา อย่างไรก็ดี ฮิเดโยชิรู้ว่า เขาอาจอยู่ไม่ถึงวันที่ฮิเดโยริเติบใหญ่พอจะปกครองได้ด้วยตนเอง ฮิเดโยชิจึงจัดตั้งสภาห้าอาวุโสขึ้น โดยมีสมาชิกของสภามาจากไดเมียวอาวุโส 5 ตระกูล ในการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินไปพลางๆ เพื่อรอวันที่ฮิเดโยริจะบรรลุนิติภาวะ
จากหนังสือของโมริตะ เคียวจิ (Morita Kyoji) ชื่อ ฮิเกคิ โนะ ฮิโร โตโยโตมิ ฮิเดโยริ (Higeki no hīrō Toyotomi Hideyori) ระบุว่า เมื่อฮิเดโยชิเสียชีวิตลง ไดเมียวทั่วทั้งญี่ปุ่นก็ตระหนักได้ว่า พวกเขาพร้อมจะทำสงครามอีกรอบ เพื่อแย่งชิงอำนาจศูนย์กลาง และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดของญี่ปุ่นให้ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ดูจะมีอำนาจใกล้เคียง และความสนิทที่ใกล้ชิดกับโตโยโตมิผู้ล่วงลับที่สุด คงหนีไม่พ้น อิเอยะซึ 1 ใน 5 สมาชิกสภาห้าอาวุโส
หลังจากที่อิเอยะซึรอคอยมานานหลายสิบปี วันนี้ช่องว่างทางอำนาจได้เปิดออกแล้ว แต่ยังติดอยู่ที่ว่า ฮิเดโยริ ทายาทอันชอบธรรมของฮิเดโยชิ กลับอยู่ภายใต้การดูแลของหนึ่งในสมาชิกสภาห้าอาวุโสอย่าง มาเอดะ โทชิเอะ (Maeda Toshiie) ที่ประจำการอยู่ในปราสาทโอซากา เพื่อคอยดูและอบรมฮิเดโยริ จนกว่าวันที่ลูกชายวัย 5 ขวบ ของฮิเดโยชิผู้ล่วงลับจะบรรลุนิติภาวะ และขึ้นครองตำแหน่งผู้นำสุงสุดของญี่ปุ่น
อิเอยะซึกลับไม่คิดเหมือนโทชิเอะว่า ไดเมียวทุกคนควรจะรอเวลา ที่ฮิเดโยริจะขึ้นครองอำนาจ และด้วยความที่อิเอยาซึเอง กำลังเป็นไดเมียวที่มีอำนาจมากที่สุดในญี่ปุ่น ตลอดจนความใกล้ชิดที่เขาเคยมีกับฮิเดโยชิ อิเอยาซึจึงแทบจะเป็นผู้ที่ถืออำนาจเต็มในการบริหารญี่ปุ่นทั้งประเทศ
อิเอยาซึอดทนต่อการรอให้ศัตรูของเขาตายลงไปทีละคน และอดทนต่อการสร้างพันธมิตรตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนการตายของฮิเดโยชิมาถึงใน ค.ศ.1598 อย่างไรก็ดี ในหนังสือ Sekigahara 1600: The Final Struggle for Power ยังระบุถึงศัตรูคนสำคัญของอิเอยาซึอย่าง อิชิดะ มิตสึนาริ (Ishida Mitsunari) ที่แม้ว่าเขาจะเป็นแต่เพียงไดเมียวผู้น้อย แต่เขาเองกลับวางแผนใหญ่ เพื่อโค่นล้มอำนาจของอิเอยาซึ จากความจงรักภักดี ที่เขามีให้แก่ตระกูลโตโยโตมิมาโดยตลอด มิตสึนาริพยายามขอความร่วมมือจากโทชิเอะ เพื่อล้มอำนาจของอิเอยาซึ แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากโทชิเอะในวัยบั้นปลาย ไม่อยากนำชะตากรรมของวงตระกูลเข้าไปเสี่ยงกับอำนาจของอิเอยาซึ
โทชิเอะเสียชีวิตลงเมื่อ ค.ศ.1599 อิเอยาซึจึงเดินทางเข้าปราสาทโอซากา และควบคุมฮิเดโยริภายใต้อำนาจนำของเขาเองอยางเต็มรูปแบบ ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การนำของอิเอยาซึขึ้นมาอีกขั้น อย่างไรก็ดี สภาผู้สำเร็จราชการ ภายใต้การนำของมิตสึนาริ และสมาชิกอีก 3 คนที่เหลือ ได้ส่งคำเตือนถึงอิเอยาซึ ให้หลีกทางให้แก่ฮิเดโยริ เพื่อความชอบธรรมในการครองอำนาจต่อจากผู้เป็นพ่อ แต่อิเอยาซึกลับไม่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน
จากการรวบรวมบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนังสือ Sekigahara, 21 October 1600 เล่าว่า ญี่ปุ่นแตกออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้ง โดยฝ่ายหนึ่ง คือ ไดเมียวที่สนับสนุนอิเอยาซึ ในฐานะไดเมียวผู้ทรงอำนาจที่สุดในญี่ปุ่น เป็นตระกูลญี่ปุ่นในฝั่งตะวันออก และอีกฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจของฮิเดโยริ ในฐานะทายาทตระกูลโตโยโตมิที่ชอบธรรม ภายใต้การนำของมิตสึนาริ เป็นตระกูลในญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก นำมาซึ่งศึกครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น อย่างยุทธการที่เซกิงาฮาระ (Sekigahara no Tatakai)
ตามแผนการแต่เดิม มิตสึนาริวางตำแหน่งกองทัพขนาบสองข้างทาง เพื่อรอปราบอิเอยาซึที่จะยกพลมาในบริเวณตรงกลางของสมรภูมิ โดยจะเป็นกองทัพของตนในฝั่งซ้าย กับกองทัพของโคบายาคาวะ ฮิเดอากิ (Kobayakawa Hideaki) ในฝั่งขวา อย่างไรก็ดี ฮิเดอากิเองกลับมีปัญหาส่วนตัวกับ มิตสึนาริ ตั้งแต่สงครามกับเกาหลี ประกอบกับอิเอยาซึที่มีบุญคุณต่อฮิเดอากิมานาน ฮิเดอากิจึงตัดสินใจแปรพักต์เข้าร่วมกับฝ่ายของอิเอยาซึ ด้วยการส่งจดหมายไปหาอิเอยาซึ ระบุว่าตนเองจะหักหลัง และเข้าตีมิตสึนาริในยุทธการเซกิงาฮาระ
จนกระทั่งวันตัดสินชะตากรรม ในยุทธการเซกิงาฮาระก็มาถึง มิตสึนาริจัดเตรียมกำลังพลซุ่มรออิเอยาซึตามแผน กองกำลังของอิเอยาซึในครั้งแรกนั้นมีจำนวนน้อยกว่ามิตสึนาริมาก ในขณะที่ทหารของมิตสึนาริและอิเอยาซึกำลังรบพุ่งกันอยู่นั้น กองพลของฮิเดอากิกลับหยุดอยู่กับที่ นิ่งเฉย และไม่เข้าตีกองทัพใดๆ สร้างความสับสนให้แก่ทั้งอิเอยาซึและมิตสึนาริ อย่างไรก็ดี อิเอยาซึที่ต้องการวัดใจฮิเดอากิ ว่าจะยอมแปรพักต์มาเข้าร่วมฝั่งตนจริงหรือไม่ อิเอยาซึจึงได้ทำการสั่งให้พลปืน ยิงปืนเข้าหาทัพของฮิเดอากิ เพื่อให้ฮิเดอากิตัดสินใจว่าจะยอมแปรพักต์ หรือพุ่งตรงมาสังหารพวกตนให้สิ้น และเมื่อปืนถูกยิงไปยังกองทัพของฮิเดอากิ ฮิเดอากิจึงตัดสินใจยกทัพเข้าตีกองทัพของมิตสึนาริ สร้างชัยชนะเด็ดขาดให้แก่อิเอยาซึ มัตสึริโดนจับกุมตัวในสนามรบ และถูกประหารในท้ายที่สุด
จากบันทึกของฮายาชิ กาโฮะ (Hayashi Gaho) ที่ถูกเขียนขึ้นในช่วง ค.ศ.1652 ระบุว่า อิเอยาซึขึ้นครองอำนาจเด็ดขาดในญี่ปุ่น เมื่อ ค.ศ.1600 โดยอิเอยาซึยังคงให้ฮิเดโยริ และมารดาอาศัยอยู่ในปราสาทโอซากาต่อไป ภายใต้การกำกับการของอิเอยาซึเอง ในขณะที่ไดเมียวที่ลุกขึ้นคานอำนาจอิเอยาซึ ในสงครามที่เซกิงาฮาระต่างถูกประหาร หรือถอดยศ และริบที่ดิน ก่อนจะถูกย้ายให้ไปอยู่อาศัยตามชายแดนไกลโพ้น ส่วนผู้ภักดีต่างได้รับปูนบำเน็จ และย้ายที่อยู่อาศัยเข้ามาใกล้ยังจุดศูนย์กลาง อิเอยาซึครองอำนาจเป็นโชกุนที่แท้จริงของญี่ปุ่นใน ค.ศ.1603
อย่างไรก็ดี มีความพยายามของอริเก่าหลายฝ่าย ที่สนับสนุนให้ฮิเดโยริ ทายาทที่ยังเหลือยู่ของฮิเดโยชิทำการกบฎ เพื่อล้มอำนาจอิเอยาซึ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ด้อยกว่าของฮิเดโยริ จุดจบของฮิเดโยริจึงเป็นการถูกปิดล้อมปราสาทโอซากา ด้วยกำลังพลเกือบ 2 แสนนายของอิเอยาซึจากเกียวโต ใน ค.ศ.1615 ปราสาทโอซากาได้แตกลง ในบันทึกของนักบวชคณะเยสุอิตระบุว่า ฮิเดโยริ ทายาทที่เหลือของฮิเดโยชิ ทำการเซปปุกุตนเอง เป็นการปิดฉากการแย่งชิงอำนาจในญี่ปุ่น อิเอยาซึกลายเป็นโชกุนที่ถืออำนาจเด็ดขาด จนตระกูลโตกูกาวะครองตำแหน่งโชกุนของญี่ปุ่นตลอดยุคเอโดะ (Edo) มาได้อีก 265 ปี
ยอดนักรบซามูไรทั้งสามต่างมีวิถีทางของการยึดครองอำนาจ เพื่อสถาปนาอำนาจนำในหมู่ไดเมียวทั่วทั้งเกาะญี่ปุ่นที่ต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าอย่างหักหาญ ทะเยอทะยานอยาก หรืออดทนรอจนกว่าวันเวลาจะมาถึง แต่ละวิธีการย่อมมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ดี โนบุนางะ ฮิเดโยชิ และอิเอยาซึ ต่างถูกยกให้เป็นสามมหาบุรุษผู้รวมแผ่นดินญี่ปุ่น และการปกครองของเขาทั้งสาม ต่างส่งรากอิทธิพลทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ 5 ศตวรรษก่อน จนมาถึงญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันนี้
อ้างอิงจาก