“ผมเป็นนักพากย์ขายยา ผมพากย์เสียงคุณทุกวันเลยครับ”
หากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปสัก 50-60 ปี ระหว่าง 2506-2516 เป็นช่วงที่คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักนักแสดงชายมาดดี ใบหน้าคมเข้ม รูปร่างสูงใหญ่ที่ชื่อ ‘มิตร ชัยบัญชา’ ท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวไกลเหมือนอย่างวันนี้ การมีผลงานภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่าปีละ 30 เรื่อง หรือราวๆ เดือนละ 3 เรื่อง ได้เชื้อเชิญทุกสายตาให้จับจ้องมายังความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์นี้ และเมื่อพูดถึงภาพยนตร์ ใบหน้าแรกๆ ที่คนในยุคนั้นคิดถึงก็คือมิตร ชัยบัญชา พระเอกที่หากจะนิยามว่าเป็นสัญลักษณ์ของวงการหนังไทยยุคเฟื่องฟูก็ดูจะไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ขอเพียงในเรื่องมีมิตร ชัยบัญชาปรากฏตัว ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศก็พร้อมตบเท้าซื้อตั๋วเข้าไปดูต่อให้ฉากที่เขาเล่นจะมีไม่ถึง 5 นาทีก็ตาม สิ่งนี้ตอกย้ำความเป็นที่นิยมระดับปรากฏการณ์ที่ส่งให้ชื่อของมิตรกลายเป็นตำนานค้างฟ้าข้ามยุคสมัย
อย่างไรก็ดี ขวบปีที่ผันผ่านค่อยๆ ลบเลือนภาพตำนานของพระเอกยุค 70 ไปทีละน้อย และอันที่จริงก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้สึกผูกพันคลั่งไคล้นักแสดงรุ่นคุณปู่ที่เขาและเธอไม่เคยดูผลงานกับตาของตัวเองด้วยซ้ำ แต่แล้วการมาถึงของภาพยนตร์ที่เป็นดั่งจดหมายรักถึงหนังไทยในอดีตอย่าง มนต์รักนักพากย์ ก็ได้ช่วยชุบชีวิตมิตร ชัยบัญชาให้กลับมาโลดแล่นบนหน้าจออีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้ เขาไม่ได้ลั่นไกปืนบนผืนผ้าใบในโรงภาพยนตร์ แต่แสดงฝีมือสู่สายตาประชาชนบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
“แค่มีชื่อมิตร ฉายเมื่อไหร่ก็โรงแตกเมื่อนั้น”
คือคำที่นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์มนต์รักนักพากย์กล่าวถึงพระเอกที่ยืนอย่างสง่างามอยู่ใจกลางความทรงจำวัยเด็กของเจ้าตัว และเมื่อได้รับโอกาสจากเน็ตฟลิกซ์ เขาก็ไม่ลังเลที่จะรวบรวมเรื่องราวในวันนั้น มาเนรมิตเป็นผลงานที่เป็นทั้งตำราประวัติศาสตร์และภาพเคลื่อนไหวที่ให้ความบันเทิง เพราะอย่างน้อยที่สุด การเดินทางของแก๊งนักพากย์หนังช่วงปี 2513 นำโดยหัวหน้ามานิตย์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) ไอ้เก่า (จิรายุ ละอองมณี) ลุงหมาน (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) และเรืองแข (หนึ่งธิดา โสภณ) คงช่วยให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจว่า มรดกที่มิตร ชัยบัญชาฝากไว้แก่วงการภาพยนตร์ไทยนั้นยิ่งใหญ่และสำคัญเพียงใด
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของมนต์รักนักพากย์*
เด็กวัด นักมวย และนักบิน
เพราะพ่อกับแม่แยกทางกัน ชื่อแรกเกิดของมิตร ชัยบัญชาจึงเป็น บุญทิ้ง ระวีแสง ชีวิตในวัยเด็กของบุญทิ้งเรียกได้ว่าผ่านประสบการณ์มาโชกโชนไม่ต่างจากการผจญภัยในภาพยนตร์ที่เด็กน้อยจะได้เล่นเมื่อเติบใหญ่ เขาเริ่มจากการเป็นเด็กวัดผู้ต้องติดสอยห้อยตามสามเณรแช่ม ระวีแสง น้องชายของพ่อที่ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดสนามพราหมณ์ จังหวัดเพชรบุรี ทำให้บุญทิ้งถูกเลี้ยงดูและขัดเกลาด้วยข้าวก้นบาตรและพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่ออายุประมาณ 9 ขวบ ผู้เป็นแม่ได้รับบุญทิ้งมาอยู่ด้วยกันที่ย่านนางเลิ้ง และบุญทิ้ง ระวีแสงก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสุพิศ พุ่มเหม ซึ่งเป็นนามสกุลของพ่อบุญธรรมผู้เป็นสามีของคุณน้า
งานอดิเรกที่มิตรโปรดปรานในตอนนั้นคือการชกมวย โดยเขาสามารถคว้าเหรียญทองมวยนักเรียนได้ถึง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2492 และ 2494 จึงคาดกันว่า ทักษะนี้น่าจะติดตัวเขามาจนถึงวันที่ต้องแสดงบทบู๊ในภาพยนตร์หลายสิบเรื่อง
แต่กระนั้น จริงๆ แล้วการเป็นนักแสดงไม่เคยอยู่ในสายตาของมิตร เพราะเป้าหมายหนึ่งเดียวที่เขาคิดฝันคือการเป็นนักบิน ในวัย 20 ปี เขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนพระนครวิทยาลัย เพื่อมาเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ สุดท้ายเขาก็ได้รับบรรจุเป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง และได้เปลี่ยนชื่อเป็นจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม หรือที่เพื่อนเรียกสั้นๆ ว่า ‘จ่าเชษฐ์’
แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าเส้นทางของมิตร ชัยบัญชาไม่ได้หยุดอยู่ที่การเป็นจ่าฯ ด้วยหน้าตาอันหล่อเหลา ส่วนสูง 185 เซนติเมตร ไปจนถึงอุปนิสัยที่ใจกว้าง เข้ากับคนง่าย ท้ายที่สุดจ่าอากาศโทจึงได้รับการทาบทามให้เข้าสู่สงการภาพยนตร์ และกลายบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีนักแสดงคนใดทำได้มาก่อน
มิตร ชัยบัญชา ประกบ เพชรา เชาวราษฎร์
หลายคนอาจคิดว่า ก้าวย่างในฐานะนักแสดงของมิตรคงโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่าเปล่าเลย กว่าที่เขาจะได้รับงานแสดงครั้งแรกนั้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน เขาเคยจำใจปฏิเสธหนังเนื่องจากติดภารกิจทางราชการในวันที่ต้องเข้าพบผู้สร้าง เคยถูกทีมงานตำหนิรูปร่างหน้าตา ทั้งจมูก โหนกแก้ม และความสูงที่สร้างความยุ่งยากในการหานางเอกมาประกบคู่ด้วย แต่จนแล้วจนรอด ปี 2501 ราวกับว่าคราวนี้บุญขอคืนดีกับมิตร ชัยบัญชา เพราะประทีป โกมลภิส ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ชาติเสือ ที่เดิมทีได้วางตัวพระเอกไว้ก่อนแล้ว ดันต้องการเปลี่ยนมาใช้ดาราหน้าใหม่แทน ซึ่งทุกฝ่ายเองต่างพึงพอใจในความสามารถของจ่าเชษฐ์ จึงพร้อมใจส่งบทพระเอกให้เขาเป็นครั้งแรก และได้มอบชื่อในวงการที่กลายเป็นตำนานอย่างมิตร ชัยบัญชาให้กับเขา
ความโด่งดังของมิตร ชัยบัญชาค่อยๆ เพิ่มพูน กระทั่งในปี 2505 คู่พระนางขวัญใจมหาชนก็ถือกำเนิด มิตร ชัยบัญชาโคจรมาเจอกับนางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้งอย่างเพชรา เชาวราษฎร์ ใน บันทึกรักของพิมพ์ฉวี หนังเรื่องนี้เป็นที่นิยมในวงกว้างจนผู้สร้างจับทั้งคู่มาร่วมจอกันอีก และไม่ว่าจะร่วมจอกันกี่ครั้งก็จะได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามทุกครั้งไป ส่งให้ในเวลาเพียง 8 ปี มิตรกับเพชราเล่นหนังคู่กันไปมากกว่า170 เรื่อง ครองตำแหน่งคู่ดาราแม่เหล็กของประเทศไปโดยปริยาย
รถเร่ขายยา กับ มิตร ชัยบัญชาถือผ้า ถือปืน ใส่หน้ากาก
ช่วงปี 2506 มิตร ชัยบัญชามีรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 4 แสนบาท ซึ่งถ้าเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบันอาจจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว และหากถามว่า จำนวนเงินที่มากขนาดนี้มาจากไหน คำตอบคือใน 1 ปี มิตร ชัยบัญชาจะปรากฏตัวในหนังไทยประมาณ 35-40 เรื่อง ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งของภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในแต่ละปี และปัจจัยหนึ่งซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อความนิยมของมิตรคงหนีไม่พ้นรถเร่ขายยาและรถเร่ล้อมผ้า
ภาพยนตร์มนต์รักนักพากย์ เลือกจับภาพไปยังความเป็นไปของทีมรถเร่ขายยา หนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อยต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคนั้น โดยรถเร่ขายยาคือพาหนะที่จะขนหยูกแบกยาไปขายยังพื้นที่ต่างๆ ทว่าอะไรล่ะที่จะดึงความสนใจให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่มารวมตัวกันและจับจ่ายซื้อยาเหล่านั้น แน่นอนว่าความบันเทิงซึ่งทุกคนนิยมชมชอบตรงกันก็คือหนังกลางแปลง
ปลายทางของทีมรถเร่ส่วนมาก ได้แก่ ลานวัดหรือแปลงขนาดกว้าง พวกเขาจะจัดฉายหนังตรงกลางลานเพื่อให้ทุกคนมาเสพสมความบันเทิงร่วมกัน และด้วยความที่เทคโนโลยีภาพยนตร์ในยุคนั้นยังไม่สามารถบันทึกเสียงลงไปกับภาพได้ ทำให้ทีมรถเร่จำเป็นต้องพากย์เสียงตัวละครและเอฟเฟ็กต์ทั้งหมดแบบสดๆ ก่อนเริ่มพากย์ก็ขายยาก่อน พากย์ไปครึ่งเรื่องก็พักโฆษณาสินค้าอีกครั้ง และเมื่อหนังจบก็จะขายอย่างเต็มที่เป็นการปิดท้าย ทางฝั่งรถเร่ล้อมผ้าก็ใช้หลักการคล้ายๆ กัน นั่นคือพเนจรไปยังท้องที่ต่างๆ เพียงแต่เปลี่ยนจากขายยามาเป็นเก็บค่าเข้าชม ซึ่งคนที่ไม่ซื้อตั๋วก็จะมองไม่เห็นจอเพราะมีผ้าล้อมพื้นที่อยู่นั่นเอง
ทั้งการฉายหนังของรถเร่ขายยาและรถเร่ล้อมผ้า ไม่มีหนังของใครที่จะซื้อใจคนจากทุกท้องที่ได้มากไปกว่าหนังของมิตร ซึ่งหนังของมิตรในยุคนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ นั่นคือ มิตรถือผ้าเช็ดหน้า มิตรถือปืน และมิตรใส่หน้ากาก โดยมิตรถือผ้าเช็ดหน้าจะเป็นหนังรักดราม่า น้ำตาแตก ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเพศหญิง ขณะที่มิตรถือปืนก็ได้แก่หนังบู๊ล้างผลาญทุกประเภท จำพวกระเบิดภูเขาเผากระท่อมที่ผู้ชายชื่นชอบ และสุดท้าย หนังมิตรใส่หน้ากากอันหมายถึงหนังตระกูลอินทรีแดง ซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติไทยที่ช่วยให้มิตรเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กๆ ผู้ชื่นชอบตัวละครพระเอกสวมหน้ากากพิทักษ์ความยุติธรรม เท่ากับว่าดาราคนนี้มีหนังให้ครบทุกกลุ่มผู้ชม ดูได้ทุกเพศวัย จึงไม่แปลกที่เขาจะได้รับความนิยมและไม่มีใครไม่รู้จัก
ชื่อมิตรเพราะรักเพื่อน
อย่างที่ได้เล่าไปว่าประทีป โกมลภิส ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องชาติเสือ คือผู้ที่มอบชื่อมิตร ชัยบัญชาให้กับดาราดังแห่งสยามประเทศ ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือสาเหตุของชื่อดังกล่าว
ประทีบเริ่มขั้นตอนการหาชื่อใหม่ให้จ่าเชษฐ์ โดยถามไปว่า “ในชีวิต สิ่งใดสำคัญที่สุด”
“เพื่อนครับ” มิตรตอบ ก่อนที่ผู้กำกับอย่างประทีปจะปิดด้วยประโยคที่ว่า
“เพื่อนคือมิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดี ให้ใช้ชื่อใหม่ว่า ‘มิตร’ ก็แล้วกัน”
ส่วนนามสกุล ‘ชัยบัญชา’ มาจากความภาคภูมิใจที่มิตรได้รับเลือกให้เป็นผู้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชเป็นประจำทุกปี
ชื่อของมิตรสะท้อนได้อย่างดีถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่เขามีต่อพวกพ้อง โดยนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับมนต์รักนักพากย์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“หนังบางเรื่องที่เพื่อนสร้างแล้วไม่มีคุณมิตรอยู่ในนั้น พอคุณมิตรรู้ว่าไปไม่รอดแน่ มิตรก็เดินเข้าไป ถ่ายหนังให้ 2 วัน หนังเรื่องนั้นก็มีชื่อมิตร ชัยบัญชาขึ้นมาทันที ทั้งที่ไม่ได้มีบทบาท นี่คือความรักที่อยากช่วยเพื่อน”
และความรักที่มิตรมีต่อญาติมิตรก็ไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่คนที่เขารู้จักมักจี่ ทว่าส่งต่อไปถึงแฟนหนังจากทั่วทุกภูมิภาค สังเกตได้จากการที่มิตร ชัยบัญชาจะอ่านจดหมายที่แฟนหนังส่งมาวันละหลายร้อยฉบับ ก่อนจะพูดตอบจดหมายเพื่อให้ผู้ช่วยเขียนตามแล้วส่งกลับไป หรือในภาพยนตร์มนต์รักนักพากย์เอง ก็มีฉากหนึ่งซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นคนอัธยาศัยดีของมิตรได้อย่างเด่นชัด
“ผมพากย์เสียงของคุณทุกวันเลยครับ” มานิตย์ หัวหน้าทีมพากย์ขายยาบอกกับมิตร ชัยบัญชาในครั้งเดียวที่ทั้งคู่ได้พบกัน ก่อนที่พระเอกในหน้ากากอินทรีแดงจะตอบกลับทันควัน
“ขอบคุณมากครับ ผมดูดีได้เพราะเสียงของคุณ”
มิตรเป็นมากกว่านักแสดง
จำเลยรัก, อวสานอินทรีแดง, เก้ามหากาฬ, จ้าวนักเลง, สิงห์ล่าสิงห์, 5 พยัคฆ์ร้าย, อินทรีมหากาฬ, ดาวพระศุกร์, มือนาง, พนาสวรรค์, สววรค์เบี่ยง, ไทรโศก, พระอภัยมณี, ทรชนคนสวย, 7 พระกาฬ, พยัคฆ์ร้ายใต้สมุทร, ฟ้าเพียงดิน, เงิน เงิน เงิน, เพชรตัดเพชร, มนต์รักลูกทุ่ง ฯลฯ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ท่ามกลางผลงานที่นับแทบไม่ถ้วนของมิตร ชัยบัญชา ทว่านอกเหนือจากผลงานการแสดงแล้ว เขายังมีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ในด้านอื่นๆ ด้วย
ปี 2510 เมื่อมีทั้งชื่อเสียงและการเงินที่มั่นคง มิตรพยายามผลักดันคนในวงการหนังโดยก่อตั้งสหชัยภาพยนตร์ เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ผลัดกันเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับหนังที่เขาเล่นเป็นพระเอก ซึ่งทุกเรื่องที่รับเล่น มิตรไม่เคยคิดค่าตัวแม้แต่บาทเดียว มากไปกว่านั้น ถ้าหากผู้สร้างแต่ละเจ้ามีปัญหาด้านเงินทุน เขาก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ และหลายครั้งก็สบทบทุนร่วมสร้างด้วย
ข้ามมาที่ปี 2513 ยุคที่ภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเข้ามามีอิทธิพลในประเทศจนหนังไทยหลายเรื่องไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ มิตร ชัยบัญชาในวัย 36 ปี เห็นท่าไม่ดี จึงตัดสินใจนำที่ดิน บ้าน และทรัพย์สินไปขายและจำนองธนาคาร เพื่อรวบรวมเงินมาซื้อที่ดินบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าในราคา 7 ล้านบาท หวังสร้างโรงภาพยนตร์มาตรฐานสำหรับจัดฉายหนังไทยโดยเฉพาะเพื่อเป็นเครื่องการันตีที่ช่วยให้ผู้สร้างวางใจได้ว่า อย่างน้อยที่สุดจะมีพื้นที่ให้กับหนังไทยโดยที่พวกเขาไม่ต้องไปแก่งแย่งต่อรองกับหนังต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน
ในปีเดียวกันนี้เอง มิตร ชัยบัญชายังมีส่วนสำคัญต่อหนังอย่าง มนต์รักลูกทุ่ง ที่ไม่เพียงรับบทนำ แต่ยังช่วยวางโครงเรื่องและเสนอให้จัดทำภาพยนตร์ออกมาในรูปแบบมิวสิคัลที่ใช้เพลงลูกทุ่ง จากเพลงประกอบทั้งหมด 14 เพลง มิตรร่วมร้องด้วย 2 เพลง และหลายเพลงจากวันนั้นก็ยังได้รับความนิยมจนวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงมนต์รักลูกทุ่ง สิบหมื่น น้ำลงนกร้อง ฯลฯ
มนต์รักลูกทุ่งฉายยืนระยะในโรงภาพยนตร์ได้นานถึงครึ่งปี กวาดรายได้ทั่วประเทศไปกว่า 13 ล้านบาท ตอกย้ำความสำเร็จของคู่พระนางมิตร-เพชรา ถึงขั้นที่หลายคนเข้าใจผิดว่า ‘เพชรา’ คือนามสกุลจริงๆ ของมิตร แต่ที่สำคัญที่สุดคือภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถจุดกระแสความนิยมจนเพลงลูกทุ่งกลับมาฮิตติดตลาดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งยังส่งให้มิตร ชัยบัญชากลายเป็นที่รักของทุกคนในวงการบันเทิงอย่างแท้จริง เขาอยู่ในจุดสูงสุดจนไม่มีใครคาดคิดว่า เจ้าตัวจะต้องลาจากโลกนี้ไปในปีเดียวกันนั้นเอง…
อยู่กับหนังไทยจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต
8 ตุลาคม 2513 มิตร ชัยบัญชาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ในภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง ด้วยเหตุผลด้านความสมจริง ประกอบกับความไม่พร้อมของเสื้อผ้านักแสดงแทน ทำให้มิตรตัดสินใจแสดงฉากสุดท้ายของเรื่องด้วยตัวเอง แต่เพราะความผิดพลาดทางเทคนิคที่คาดว่าเกิดจากแรงกระตุกของเฮลิคอปเตอร์ ผนวกกับการที่ตัวมิตรเองไม่ได้เหยียบบันไดเชือก ทำให้เขาต้องใช้เพียง 2 มือโหนตัวอยู่กับบันไดที่ความสูง 300 ฟุต ก่อนที่สุดท้ายจะตกลงมากระแทกพื้นเสียชีวิต
9 ตุลาคมปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวข่าวการตายของนักแสดงหนุ่มผู้เป็นที่รัก ความโศกเศร้าปกคลุมไปทั่วแคว้นแดนไทยเพราะไม่มีใครคาดคิดว่ามิตร ชัยบัญชาจะจากโลกนี้ไปในวัยเพียงแค่ 36 หลายคนถึงกับบอกตัวเองว่านี่ไม่ใช่เรื่องจริง
ศพของมิตร ชัยบัญชาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้งท่ามกลางความอาลัยของประชาชน และด้วยความที่หลายคนยังไม่เชื่อว่ามิตรตายจริงๆ หรือคนที่เชื่อก็อยากจะเห็นใบหน้าของนักแสดงชายคนนี้อีกสักครั้ง ผู้ที่ร่วมจัดพิธีจึงต้องทำถึงขนาดยกศพของมิตรขึ้นเพื่อให้สาธารณะชนได้เห็นร่างของมิตรเป็นครั้งสุดท้ายด้วยตาตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ก็ปรากฏในมนต์รักนักพากย์เช่นเดียวกัน
หลังจากครบ 100 วัน ก็มีการพระราชทานเพลิงศพ วันนั้นมีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงานมากกว่า 3 แสนคน ถึงขนาดที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่านั่นคืองานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และถ้าประเมินกันตามความเป็นจริง ก็อาจจะไม่มีการจากไปของสามัญชนคนไหนที่จะยิ่งใหญ่และเป็นที่จดจำได้มากเท่ามิตร ชัยบัญชาอีกแล้ว
นี่คือเส้นทางของนักแสดงที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย แม้ตัวจะจากไปก่อนเวลาอันควร ทว่าผลงานภาพยนตร์ มรดกที่ตกทอดอยู่ในอุตสาหกรรมหนังไทย ตลอดจนแรงบันดาลใจบนแผ่นฟิล์มจะคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราไปอีกยาวนานดังคำที่เพชรา เชาวราษฏร์ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
“เขาเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือคน เอาใจใส่คนอื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส คุยได้กับทุกคน ไม่มีมาด ไม่ถือตัว ตรงนี้แหละที่ทำให้เขายังเป็นพระเอกตลอดกาล ยังไม่ตายไปจากใจแฟนๆ จนถึงวันนี้”
อ้างอิงจาก