เธอดูหนัง ส่วนฉันก็ขอดูเธอดูหนังอีกทีละกัน
เคยไหมเวลาศิลปินที่ชอบปล่อยเพลงใหม่ ซีรีส์เรื่องโปรดเพิ่งฉายตอนล่าสุด หรือเวทีนางงามกำลังจะประกาศผลรอบสุดท้าย จะให้นั่งดูคนเดียวก็ได้แหละ แต่บางทีก็อยากมีใครสักคนมานั่งดูไปด้วยพร้อมกับเรา เลยขอเปิดวิดีโอรีแอ็กชั่นที่วิจารณ์แบบออกรส ตกใจแบบสุดขีด หรือตะโกนเชียร์แบบสุดเสียง จนบางครั้งยังแอบรู้สึกเลยว่า พวกเขาดูอินแทนเราไปเรียบร้อยแล้ว
เพราะอะไรกันนะ ทำไมวิดีโอรีแอ็กชั่นเหล่านี้ถึงกลายเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ยอดนิยมบนโลกอินเทอร์เน็ต จนหลายคนเปิดดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมบางคนยังอินไปกับเจ้าของช่อง จนเผลอมีอารมณ์ร่วมไปด้วย แม้ตัวจะไม่ได้นั่งชมอยู่ตรงนั้นกับพวกเขาเลยก็ตาม
เหตุผลของคนชอบดูวิดีโอรีแอ็กชั่น
เวลาเราหาคอนเทนต์อะไรดูสักอย่างบนยูทูบ เราไม่ได้เลือกจิ้มคลิปนู้น หรือกดเข้าคลิปนี้แบบสุ่มๆ ไร้จุดหมายนะ แต่การจะเลือกบริโภคสื่ออะไรสักอย่างของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและความตั้งใจของเราด้วยเช่นกัน
ตามที่ทฤษฎีทางด้านการสื่อสารอย่าง ‘Uses and Gratifications Theory’ หรือ ทฤษฎีการใช้สื่อเพื่อประโยชน์และความพึงพอใจ อธิบายเอาไว้ว่า ผู้ชมซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับสาร จะไม่ได้รับสารมาเฉยๆ แต่มักมีแรงจูงใจและแรงกระตุ้นบางอย่างสำหรับการเลือกบริโภคสื่ออยู่เสมอ เพื่อให้สื่อที่เลือกมาตอบสนองต่อความต้องการของตัวผู้ชมเอง
ที่ยกทฤษฎีนี้ขึ้นมาพูดก่อน ก็เพื่อยากให้ทุกคนเห็นภาพว่า การเลือกรับชมวิดีโอรีแอ็กชั่นของเราเองก็มีจุดประสงค์ด้วย เช่นเดียวกันกับคอนเทนต์ประเภทอื่น
แล้วผู้ชมอย่างเราต้องการอะไรจากคอนเทนต์เหล่านี้กันล่ะ? คำตอบของคำถามนี้ สามารถอธิบายได้ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า ‘Mediated Voyeurism’ เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงความชื่นชอบหรือความพึงพอใจที่ผู้คนได้รับ จากการเฝ้ามองหรือสังเกตการณ์ชีวิตของผู้อื่นผ่านสื่อต่างๆ มากกว่าการได้ดูผ่านชีวิตจริงโดยตรง ซึ่งถือเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหนึ่งของการดำรงชีวิต
การได้เฝ้าติดจอรอติดตามผู้อื่นผ่านสื่อต่างๆ มักทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนตนเองได้หลุดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ราวกับเราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ หรือกระทั่งได้อยู่ร่วมกันในช่วงเวลาเดียวกับผู้ถูกสังเกตการณ์ ก่อเกิดเป็นอารมณ์ร่วมต่อฝ่ายตรงข้ามขณะที่รับชมสื่อตัวนั้นอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลเบื้องหลังเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ในงานวิจัยระดับปริญญาโทของ แคโรไลนา คาร์เรโล (Carolina Carrêlo) จาก Malmo University ได้ศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์การบริโภควิดีโอรีแอ็กชั่นบนยูทูบผ่านทฤษฎีการใช้สื่อเพื่อประโยชน์และความพึงพอใจ และแนวคิด Mediated Voyeurism โดยดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ (Qualitative Content Analysis) และการสนทนาแบบกลุ่ม (Focus Group) จนนำมาสู่คำตอบว่า เหตุผลที่ทำให้ผู้คนนิยมรับชมคอนเทนต์แนวรีแอ็กชั่น คือความต้องการในการหาแนวทางและความคิดเห็นที่ตรงกับตนเอง เพื่อสนับสนุนอัตลักษณ์บางอย่างในตนเอง พร้อมทั้งต้องการรับรู้แนวโน้มความเป็นไปของสังคม ณ ช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
แล้วอะไรทำให้เราอินไปกับคอนเทนต์รีแอ็กชั่น?
ไม่ว่าเราจะชอบดูคอนเทนต์รีแอ็กชั่นด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ก็น่าคิดต่อว่า…แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมและยังคงนั่งดูคนในคลิปรีแอ็กชั่นจนจบกันนะ ทั้งที่บางทีก็ตั้งใจว่าจะกดเปลี่ยนไปดูอย่างอื่นตั้งนานแล้ว แต่ดูไปดูมา ก็อยู่ดูจนจบคลิปจนได้
แท้จริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้เรานั่งชิดติดจอชมรีแอ็กชั่นเหล่านี้จนจบ แถมมีอารมณ์ร่วมไปด้วย สามารถอธิบายได้ผ่านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่า ในสมองของเรามีเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ‘Mirror Neuron’ เป็นเซลล์ประสาทประเภทหนึ่งที่จะทำงานเมื่อเรามองเห็นบุคคลอื่นทำหรือแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่าง เซลล์ตัวนี้จะกระตุ้นสมองเราให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมเหล่านั้น ด้วยการแสดงออกตาม
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าเจ้าเซลล์ Mirror Neuron ทำงานอย่างไร ลองนึกภาพ ขณะกำลังนั่งล้อมวงคุยกับเพื่อน จู่ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็หาวขึ้นมากลางวงบทสนทนา เราที่เห็นเพื่อนกำลังหาว เราก็หาวตามเพื่อนโดยไม่รู้ตัว แม้เราจะไม่รู้สึกง่วงเลยก็ตาม
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ตอนเรากำลังรับชมวิดีโอรีแอ็กชั่น แล้วเราเห็นเขากำลังตลกกับคลิปที่ดูอยู่ เราก็จะรู้สึกตลกและหัวเราะไปพร้อมกับเขา หรือกระทั่งเวลาที่คอนเทนต์เหล่านี้ รีแอ็กชั่นโฆษณาหรือซีรีส์ฉากเศร้าๆ แล้วร้องไห้ น้ำตาไหล เราก็มักจะรู้สึกเศร้า จนบางครั้งก็มีน้ำตาซึมร่วมไปกับคนในคลิปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เรายังพบเหตุผลเพิ่มเติมว่าทำไมเราถึงอินไปกับคอนเทนต์รีแอ็กชั่นวิดีโอเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเราอยากได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการดู ตัวอย่างเช่น การดูหมอมารีแอ็กชั่นซีรีส์เกี่ยวกับการแพทย์ หรือการดูคนเบื้องหลังจากทั้งวงการหนังหรือวงการเพลงมารีแอ็กชั่นสื่อบันเทิงต่างๆ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเฉพาะทางก็น่าสนใจไม่น้อย
แถมบางครั้งการดูคอนเทนต์รีแอ็กชั่นวิดีโอเหล่านี้ ยังเป็นเหมือนพื้นที่ให้เราได้เจอคนที่อินในเรื่องเดียวกัน เพราะบางครั้งในชีวิตจริง เราอาจจะไม่ได้มีเพื่อนที่อินในเรื่องนี้ไปด้วย การมีคอนเทนต์รีแอ็กชั่นจึงช่วยเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ให้กับเราได้ อย่างน้อยเวลากินข้าวหลังเลิกงาน ก็มีคนในคลิปมาร่วมอินซีรีส์ไปกับเรา
ดังนั้นแล้ว การดูรีแอ็กชั่นวิดีโอจึงไม่ใช่แค่การติดตามหรือเฝ้าสังเกตคนอื่นเพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เหมือนการได้มีเพื่อนร่วมแบ่งปันโมเมนต์และความรู้สึกอยู่ข้างๆ ไปพร้อมกับเรา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงนั่งดูพวกเขาทั้งหลายรีแอ็กวิดีโอกันจนจบคลิป
สุดท้ายนี้ การได้เจอใครสักคนที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกับเรา แม้จะเป็นแค่บนอินเทอร์เน็ต แต่ถ้ามันก็ชุบชูหัวใจเราได้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ชอบดูนี่นา
อ้างอิงจาก