ช่วงนี้เรามีกระแสเรื่องเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) กับประเด็นการเปิดพื้นที่ให้เมือง เพื่อศิลปะวัฒนธรรมและความบันเทิง มีประเด็นเรื่องต่างชาติมาดูคอนเสิร์ตในไทย ไปจนถึงการที่เราและภาครัฐอยากให้ศิลปินระดับโลกมาแสดงคอนเสิร์ตที่ไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่โลก ซึ่งบางเมืองเช่นสิงคโปร์เองก็พัฒนาโดยต้องการเป็นเมืองความบันเทิงและเมืองคอนเสิร์ตระดับโลก โดยเห็นจากคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่สิงคโปร์ถือเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในแผนการทัวร์คอนเสิร์ต
จากกระแสที่ว่าไทยเองก็เป็นพื้นที่คอนเสิร์ต เราเองก็มีศิลปินที่มีแฟนระดับนานาชาติ และด้วยแผนเรื่องซอร์ฟพาวเวอร์ การสนับสนุนให้กรุงเทพฯ ไปจนถึงเมืองอื่นๆ ก้าวสู่การเมืองคอนเสิร์ตในระดับโลก หรืออย่างน้อยก็เป็นเมืองที่ดีต่อคนรักคอนเสิร์ตนั้นจะเป็นไปได้ไหม เพราะเมืองคอนเสิร์ตนอกจากจะว่าด้วยพื้นที่จัดแสดงแล้ว ตัวพื้นที่การแสดงอย่างฮอลล์ที่ลงทุนสร้างขึ้นมานั้น มีข้อคำนึงอะไรในมิติที่สัมพันธ์กับบริบทเมืองทั้งในช่วงที่มีและไม่มีอีเวนต์
The MATTER ชวนคนรักคอนเสิร์ตที่เราก็พอจะนึกภาพออกว่า การไปคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ อาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น พร้อมพาไปชมว่าอะไรคือเมืองของการจัดอีเวนต์ และในการลงทุนพื้นที่ทางวัฒนธรรมหรือพื้นที่จัดแสดงขนาดใหญ่ เช่น จีน กับการลงทุนสร้างพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับการพัฒนาย่านและเมืองนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือแนวคิดและแนวทางสำคัญของ Eventful City ไปจนถึงชวนสำรวจความปวดหัวของกิจกรรมคนดูคอนเสิร์ตในไทย ซึ่งจริงๆ แล้วการเปิดพื้นที่เพื่อการดูคอนเสิร์ตก็น่าจะสัมพันธ์กับพื้นฐานเมืองที่ดีโดยทั่วไปด้วย
Eventful City เมืองที่ดีกับกิจกรรมและวันธรรมดา
เมืองกับอีเวนต์เป็นของคู่กัน และเมืองเองก็รู้จักการใช้งานอีเวนต์ เช่น งานเทศกาลต่างๆ ในการดึงดูด สร้างจุดขาย และสร้างรายได้จากเทศกาลการออกร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอ็อกโทเบอร์เฟสต์ (Oktoberfest) ไปจนถึงตลาดคริสต์มาส (Christmas Market) ที่ย้อนเก่าแก่ไปได้ตั้งแต่ในยุคกลาง ปัจจุบันเมืองส่วนใหญ่ต่างรับรู้ และจัดอีเวนต์ตามเทศกาลเพื่อทำให้เมืองนั้นๆ ได้รับความสนใจจนกลายเป็นจุดหมายปลายทางในระดับโลก
ความน่าสนใจของตัวเมืองแห่งอีเวนต์คือ การวางแผนการพัฒนาให้เมืองเมืองหนึ่งเป็นเมืองอีเวนต์ โดยมีข้อดีที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ด้วยการพัฒนาให้อีเวนต์ หรือกิจกรรมเป็นศูนย์กลางและเกี่ยวข้องไปถึงมิติอื่นๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไปด้วยกัน การลงทุนพื้นที่เพื่ออีเวนต์สำหรับเมืองมีความยืดหยุ่น และลงทุนน้อยกว่าการสร้างพื้นที่ตัวตนของเมือง เช่น อนุสรณ์หรือแลนด์มาร์กต่างๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นมักจะมีการลงทุนมากและค่อนข้างตายตัว แต่การเปิดพื้นที่เพื่ออีเวนต์ก็อาจนำไปสู่กิจกรรม และพื้นที่ที่จะหล่อเลี้ยงหรือส่งเสริมทุนอื่นๆ ให้กับผู้คนอีกต่อไปจากความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลดีต่อกิจการรอบๆ และการเป็นพื้นที่ทางรสนิยม หรือการเป็นพื้นที่พบปะของผู้คน
ทว่าการพัฒนาเมืองโดยมีกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อีเวนต์และคอนเสิร์ตที่เป็นเป้าหมายการพัฒนา ย่อมมีการลงทุนสิ่งก่อสร้างและการพัฒนาพื้นที่ประกอบด้วยเสมอ พื้นที่จัดอีเวนต์ที่เมืองพัฒนาขึ้นอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาด เช่น การลงทุนต่อฮอลล์คอนเสิร์ตและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ แต่การใช้งานจริง การทำรายได้ได้เหมาะสม หรือการพัฒนาขนาดใหญ่อาจถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน และไม่สร้างประโยชน์ที่เหมาะสมให้กับพื้นชุมชนและพื้นที่รอบๆ ไปจนถึงการกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ตอบโจทย์ทุกช่วงเวลา คือในวันที่ไม่มีการจัดงานก็อาจกลายเป็นพื้นที่รกร้างเสื่อมโทรม ซึ่งไม่เชื่อมต่อกับผู้คนและชุมชน
ในข้อเสนอและงานวิจัยเรื่องเมืองอีเวนต์ชื่อ Eventful cities: Strategies for event-based urban development พูดถึงกระแสและประเด็นของเมืองอีเวนต์ ซึ่งหนึ่งในข้อสังเกตคือ การที่เมืองมองเห็นความยืดหยุ่นของพื้นที่การจัดอีเวนต์ที่เป็นการลงทุนอย่างสำคัญ ในมุมของการพัฒนาที่มองว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ต่อไปนั้น เงื่อนไขที่ควรคำนึงคือการลงทุนพื้นที่อีเวนต์ไม่ได้อยู่แค่การสร้างศูนย์แสดง หรือพื้นที่การแข่นขันกีฬาเช่นสเตเดียมใหม่แค่อย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภครอบๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าง ‘การพัฒนาขนส่งโดยรวมให้ดีขึ้นตาม’ การพัฒนาที่เกี่ยวข้องอาจรวมเข้าไปถึงพื้นที่ ‘พื้นที่อยู่อาศัย (Housing)’ และ ‘พัฒนาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม’ ให้ดีขึ้นตามไปด้วย
ความยืดหยุ่นและพื้นที่ที่ใช้ได้ในทุกๆ วันของผู้คน
การลงทุนสาธารณูปโภค เช่น ฮอลล์คอนเสิร์ต ศูนย์วัฒนธรรม หรือศูนย์ประชุม เป็นการลงทุนที่พบได้ทั่วไปในหลายเมืองใหญ่ การลงทุนเหล่านี้ในตัวมันเองก็มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริบท และจุดมุ่งหมายของเมืองนั้นๆ เช่น บางเมืองอาจเลือกสร้างฮอลล์คอนเสิร์ตที่มีขนาดเล็ก บางทีอาจเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนขนาดใหญ่ บางพื้นที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับย่าน บางพื้นที่ก็เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูอาคารอันเสื่อมโทรม หรือพื้นที่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว
ตัวอย่างการใช้ฮอลล์คอนเสิร์ตขนาดเล็ก เช่น กระแสจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) ในสหรัฐอเมริกา ที่มีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ จากพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม มีการลงทุนพื้นที่แสดงดนตรีที่จุคนได้ประมาณ 1,000-6,500 คน จนเป็นพื้นที่ที่ยืดหยุ่นด้วยการรองรับได้ตั้งแต่คอนเสิร์ต การจัดปาร์ตี้ ดีเจเปิดแผ่น ไปจนถึงการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต
ความน่าสนใจของกระแสการพัฒนาโดยมีพื้นที่แสดงคอนเสิร์ตขนาดเล็ก คือการที่ตัวพื้นที่อาจอยู่ห่างไปจากตัวเมือง เช่น River North Art District ย่านอุตสาหกรรมเก่านอกดาวน์ทาวน์ของเดนเวอร์ไป 3 ไมล์ หรือการพัฒนาย่าน North Wynkoo การปรับปรุงโกดังเก่าอีกแห่งของเดนเวอร์ ทั้ง 2 การพัฒนานี้ทำให้ย่านที่เสื่อมโทรมแห้งแล้งกลายเป็นปลายทางที่ท่องเที่ยว มีนักฟังเพลงและนักท่องเที่ยวเดินทางไปหลักครึ่งแสนรายต่อเดือน ซึ่งตัวอย่างจากเดนเวอร์เป็นส่วนหนึ่งของโคโลราโด ทั้งเดนเวอร์และโคโลราโดเองต่างมีแผนการพัฒนาโดยมีดนตรีนำเมือง ทั้งแผน Colorado Music Strategy และ Denver Music Strategy
สำหรับการเปิดเมืองคอนเสิร์ต โดยเฉพาะการพัฒนาให้มีดนตรีนั้นมีความน่าสนใจ และมีรายละเอียดหลายมิติ ทั้งการสนับสนุนกิจการและกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอาชีพนักดนตรี การส่งเสริมให้มีพื้นที่แสดงดนตรีและการฟังดนตรีที่อาจไม่ได้จำกัดแค่การฟังในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือคอนเสิร์ต แต่คือการที่เมืองพัฒนาโดยมีเสียงเพลง ทั้งจากคนรักการฟังและการเล่นให้เติบโต รวมถึงการมีพื้นที่ในเมืองนั้นๆ ได้
ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ การกำหนดแผนการพัฒนา ซึ่งทำให้รัฐและผู้เกี่ยวข้องมองเห็นอุตสาหกรรมดนตรี ที่เชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่เมือง การเริ่มจากแผนการพัฒนาทำให้เราเห็นข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น แผนของโคโลราโดแสดงให้เห็นเม็ดเงินจากพื้นที่ทางดนตรีที่มีมูลค่าสูงถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ กิจกรรมการแสดงดนตรีสดก่อให้เกิดการจ้างงานราว 4,600 ตำแหน่ง และกิจการที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและอุตสาหกรรมดนตรีก็กระทบถึงการจ้างงานราว 16,000 ราย
ฮอลล์ขนาดใหญ่ในชีวิตประจำวัน กับกลยุทธ์จากจีน
จากการพัฒนาฮอลล์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่อเมริกา ในแง่ของการอยากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ การลงทุนเพื่อเป็นหมุดหมายระดับโลกอาจเกี่ยวข้องกับการลงทุนฮอลล์ หรือพื้นที่วัฒนธรรมในระดับโลก นั่นคือการมีขนาดใหญ่ จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาพื้นที่เมืองด้วยตัวเอง ระยะหลังจีนเริ่มสร้างพื้นที่เมือง โดยมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างศูนย์วัฒนธรรมเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นแค่ศูนย์กลางของเมืองเท่านั้น แต่เป็นศูนย์กลางชีวิตของย่านและของผู้คนด้วย
เสินเจิ้นเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการพัฒนาขนาดใหญ่ มีการสร้างย่านใหม่ถึง 10 แห่ง และฟื้นฟูย่านเดิมอีก 10 แห่ง เป้าหมายทิศทางใหม่ของเสินเจิ้นนับตั้งแต่ก่อนปี 2000 เป็นต้นมา คือการที่เสินเจิ้นอยากเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมโลก ในย่านใหม่ที่เกิดขึ้นและพื้นที่อื่นๆ ของเมืองเสินเจิ้น จึงมีรายงานการลงทุนทางสถาปัตยกรรม และการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว่า 10 โครงการ ในย่านใหม่และเก่าของเสินเจิ้นเกือบทั้งหมดมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับการเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม คือเป็นทั้งพื้นที่สีเขียว เป็นสตูดิโอ เป็นพื้นที่จัดแสดงผสมผสาน และอื่นๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ของย่าน พร้อมกับเป็นปลายทางเมืองวัฒนธรรมของโลกต่อไป
ตัวอย่างสำคัญของโปรเจ็กต์ซึ่งเป็นหน้าตาและจินตนาการใหม่ของเสินเจิ้นคือ Shenzhen Bay Culture Park สวนสาธารณะพร้อมอาคารขนาดใหญ่ที่หน้าตาเหมือนหลุดมาจากหนังไซไฟ อาคารในสวนเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า Creative Design Hall และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Shenzhen Science and Technology Museum ทั้ง 2 อาคารขนาบข้างศูนย์ประชุมกลาง (Central Auditorium) พื้นที่นอกจากพื้นที่บ่มเพาะทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นสวนทางวัฒนธรรมยังเป็นการที่สวนแห่งนี้จะสนับสนุนกิจกรรมในหลายรูปแบบ มีอาคารแสดงดนตรีทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีแกลเลอรี่ มีสตูดิโอ และมีพื้นที่บ่มเพาะต้นทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และปรับเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อีเวนต์พิเศษขนาดใหญ่ได้
นอกจากเซินเจิ้นแล้ว เมืองต่างๆ เช่น การพัฒนาเมืองวิทยาศาสตร์ หรือเมืองเทคโนโลยีต่างๆ จีนยังมักจะสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมไว้เป็นพื้นที่หลักของเมืองนั้นๆ อย่าง Jinghe New City Culture & Art Centre ศูนย์วัฒนธรรมใหม่ที่เมืองใหม่เจิ้งเหอในซีอาน หรือเมืองแห่งอนาคตที่เฉิงตู กับการสร้างศูนย์กลางหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Chengdu Science Fiction Museum)
พื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมเหล่านี้มักเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น ออกแบบให้ใช้งาน และปรับประยุกต์ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งมักจะมีแกลเลอรี่ ฮอลล์ ห้องสมุด สตูดิโอ พื้นที่บรรยาย และพื้นที่กิจกรรม ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์นวนิยายวิทยาศาสตร์เฉิงตู ก็เปิดตัวด้วยการจัดงาน The World Science Fiction Convention ซึ่งถือเป็นการจัดงานนิยายไซไฟระดับโลก มีการมอบรางวัลสำคัญอย่างรางวัลฮิวโก ซึ่งนับเป็นงานครั้งแรกในประเทศจีน หรือล่าสุดการลงทุนสร้างสเตเดียมขนาดใหญ่เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาของเมืองกวางโจว โดยสเตเดียมเกือบทั้งหมดถูกคิดเผื่อสำหรับการเป็นพื้นที่ยืดหยุ่นสำหรับชุมชน และปรับไปสู่กิจกรรมหรืออีเวนต์พิเศษได้
ประเด็นเรื่องเมืองคอนเสิร์ต หรือเมืองอีเวนต์ จึงค่อนข้างมีมิติที่หลากหลายและซับซ้อน เวลาเรานึกถึงการไปฟังดนตรีหรือไปดูคอนเสิร์ต ในตัวกิจกรรมก็มีหลายระดับ นับจากฮอลล์ หรือพื้นที่แสดงดนตรีเล็กๆ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบนิเวศทางดนตรี หรือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรีทั้งในระดับท้องถิ่น และในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้น ไปจนถึงการนึกถึงการเปิดพื้นที่เพื่อรองรับการจัดแสดงและจัดงานระดับโลก ซึ่งการพัฒนาอาจเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของเมืองที่ดีอื่นๆ พื้นที่รอบๆ ของความเป็นเมืองที่เชื่อมโยงกับพื้นที่จัดแสดงนั้นๆ บริบทเมืองและเงื่อนไขที่จะทำให้พื้นที่จัดแสดง เช่น สเตเดียมหรือฮอลล์มีความยืดหยุ่น แอ็กทีฟ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนได้ในทุกๆ วัน
ย้อนกลับมามองที่บ้านเราเอง ประเด็นพื้นฐานจากกลยุทธ์การพัฒนาอย่างเมืองแห่งอีเวนต์ก็ฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่เข้าใจได้ เราอาจมีพื้นที่จัดแสดงขนาดใหญ่ที่มีทัวร์มาลง และมีคนรักดนตรีเดินทางไปก็จริง แต่พื้นที่แสดงส่วนใหญ่ยังมักเจอปัญหาซึ่งคิดยังไงก็ไม่น่าจะเข้าใจ ตั้งแต่การเข้าและออกจากพื้นที่จัดแสดง ที่สุดท้ายกลับกลายเป็นช่องของความไม่ถูกต้อง เช่น เมืองทองธานีกับการเข้าไปถึงพื้นที่ของระบบขนส่งสาธารณะ
การที่เราเจอกับสถานการณ์หลังจบคอนเสิร์ต แท็กซี่เป็นร้อยๆ คัน แต่กลับไม่มีคันไหนให้บริการพื้นฐานอย่างถูกต้องด้วยการเปิดมิเตอร์เท่านั้น นี่ยังไม่นับความเหมาะสมของขนส่งสาธารณะที่ควรจะเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ การมองเห็นว่ากิจกรรมเช่นคอนเสิร์ตมักจบลงในเวลากลางคืน กับประเด็นเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพของผู้คน แสงสว่าง ความเพียงพอของการเดินทาง และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งหมดนี้จึงน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นเมืองแห่งอีเวนต์และคอนเสิร์ตได้
อันที่จริงพื้นที่แสดงคอนเสิร์ตของกรุงเทพฯ เองก็อาจจะเป็นประเด็นทั้งอายุของสถานที่ การออกแบบ ความสะดวก ความปลอดภัย คุณภาพในการชมคอนเสิร์ต ข้อคำนึงเรื่องสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่มีต่อย่านและพื้นที่รอบๆ การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ขนาดของสเตเดียม ไปจนถึงการมองพื้นที่อื่นๆ เช่น ย่านชานเมือง หรือการเปิดพื้นที่อื่นๆ เพื่อพัฒนาให้เมืองกลายเป็นพื้นที่แห่งการจัดอีเวนต์และเทศกาลต่อไป
อ้างอิงจาก