ไม่ว่าคราวใด ภาพผู้บริโภคที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักก็มักถูกฝ่ายหนุนรัฐบาลฉวยใช้มา ‘อวย’ ว่าเศรษฐกิจดี ไม่ว่าจะเป็นคนต่อคิวซื้อไอโฟนออกใหม่ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกต่างประเทศอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และล่าสุดคือคนอัดแน่นเต็มสนามกีฬาแห่งชาติเพื่อมาชมคอนเสิร์ตบัตรราคาหลายพันบาท
เห็นภาพอย่างนี้แล้ว ใครกันนะช่างกล้ามาบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี?
ภาพดังกล่าวสอดรับกับเทรนด์โลกที่หลังการระบาดของโควิด-19 แม้เราจะเผชิญสงคราม ความผันผวน และเงินเฟ้อ แต่ผลประกอบการบริษัทขายสินค้าหรูหราราคาแพง อาทิ ดิออร์, หลุยส์ วิตตอง และเวอร์ซาเช่ กลับทำยอดได้ทะลุเป้า ขณะที่แบรนด์ชนชั้นกลาง-ล่าง เช่น วอลมาร์ท, เบสท์บาย และแก๊ป ต่างหั่นประมาณการกำไรในอนาคต
นี่คือสาเหตุที่เราต้องระมัดระวังในการตีความภาพจากมุมใดมุมหนึ่งเพียงมุมเดียว สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และเงินเฟ้อนั้นกระทบต่อคนแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน คนที่จนที่สุดคือคนกลุ่มแรกที่จะรู้สึกถึงความทุกข์ยาก ส่วนคนที่ร่ำรวยล้นฟ้าก็แทบไม่รู้สึกรู้สาอะไรเพราะมี ‘ถุงลมนิรภัย’ คือความมั่งคั่งที่สะสมไว้และอัตราหนี้สินที่ต่ำ
แต่ก่อนจะอธิบายต่อ ผมขอฉายภาพ ‘รายได้’ ของคนไทยเสียใหม่เพื่อให้เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า ไอโฟน การท่องเที่ยวต่างประเทศ และบัตรคอนเสิร์ตนั้นคือ ‘ความหรูหรา’ เมื่อเทียบกับระดับรายได้ของทุกคนในประเทศ
สมมติว่าเราเอาตัวแทนประชากรไทย 100 คนมาเรียงตามระดับรายได้ ลองทายดูเล่นๆ สิครับว่าคนที่รวยที่สุดลำดับที่ 10 ตามสถิติปีของ 2564 จะมีรายได้และค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่?
รายได้ 100,000 บาท ค่าใช้จ่าย 80,000 บาท – สูงเกินไป
รายได้ 50,000 บาท ค่าใช้จ่าย 40,000 บาท – ก็ยังสูงเกินไปอีก
คำตอบที่ถูกต้องคือ. . . รายได้ 34,500 บาท และค่าใช้จ่าย 19,200 บาท
เห็นไหมว่าของใช้อย่างไอโฟนนั้นถือเป็นสินค้าหรูหราแค่ไหน เพราะคนที่รวยที่สุดลำดับที่ 10 ของไทยทำงานเต็มเดือนก็ยังซื้อได้แค่ไอโฟน 14 รุ่นเริ่มต้นเท่านั้นเอง ถ้าเราเข้าใจภาพตรงนี้ตรงกัน ก็คงสรุปได้ไม่ยากว่าภาพผู้บริโภคที่แก่งแย่งกันจับจ่ายใช้สอยนั้นเป็นเพียง ‘ยอดของภูเขาน้ำแข็ง’ ที่ไม่ได้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด
โลกโซเชียล กับการสร้างภาพลวงตาจากการบริโภคเพื่ออวดอ้าง
เราจ่ายเงินซื้อของหรูหราราคาแพงไปทำไม?
คำถามนี้ดูงี่เง่าไม่น้อย เพราะคำตอบก็แสนจะตรงไปตรงมาว่าซื้อมา ‘ใช้’ แต่หากมองแค่การใช้งาน ทำไมเราต้องใช้ไอโฟน 14 รุ่นท็อป หรือกระเป๋าแบรนด์เนมราคาหลักแสนล่ะ ก็ในเมื่อสมาร์ทโฟนทั่วไปหรือถุงผ้าราคาหลักร้อยก็มี ‘ฟังก์ชั่น’ ไม่ต่างกัน
ธอร์สไตน์ เวเบลน (Thorstein Veblen) นักสังคมวิทยาอธิบายพฤติกรรมดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1899 ว่านี่คือการบริโภคเพื่ออวดอ้างสถานะทางสังคม เพราะการรวยเพียงลำพังอาจไม่ได้ทำให้พึงพอใจมากเท่ากับการรวยแล้วประกาศให้โลกรู้ พฤติกรรมดังกล่าวมักจะพบในชนชั้นนำที่มีเวลาว่างและต้องการสร้างภาพลักษณ์ทางบวก โดยหวังเพื่อแสดงตนให้เหนือว่าชนชั้นแรงงาน และมีรสนิยมสูงพอที่จะเข้าสังคมร่วมกันชนชั้นนำคนอื่นๆ ได้
อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมดังกล่าว เพราะพื้นที่ออนไลน์ไม่ต่างลานกว้างสำหรับอวดสถานะทางสังคม ในประเทศไทยเองก็มีผลการศึกษายืนยันว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียทำให้เราอิจฉากันและกันมายิ่งขึ้น แรงจูงใจดังกล่าวทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมเป็นหนี้ยาวๆ เพื่อซื้อหาสินค้าแบรนด์เนมมาใช้ หรือเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แปลกแปร่งอย่างการถ่ายหน้าจอไอโฟนเมื่อจำหน่ายให้เสมือนหนึ่งว่าเราเป็นผู้ใช้งานเอง บางครั้งก็ไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจสีเทากลายเป็น ‘วัยรุ่นทรงเอ’ ที่ร่ำรวยแบบไร้สาเหตุ
ดังนั้น การพิจารณาภาพรวมบนโลกออนไลน์แล้วด่วนสรุปว่า ‘เศรษฐกิจดี’ ก็ไม่ต่างจากตีความข้อมูลที่อุดมไปด้วยอคติ เพราะบนลานกว้างของโซเชียลมีเดีย คนจำนวนมากต่างพยายามทำทุกทางเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตัวเองมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าความเป็นจริง โดยอาจมีเป้าหมายเพื่อความอิ่มเอมใจ หรืออาจเป็นแค่นักต้มตุ๋นที่หวังหลอกล่อเหยื่อมาปอกลอกก็เป็นไปได้เช่นกัน
เศรษฐกิจดี วัดจากจีดีพีได้หรือไม่?
“เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว” พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง
จากข้อความข้างต้น เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์ก็แสดงว่าเศรษฐกิจไทยดีใช่หรือไม่?
คำตอบคือทั้งใช่และไม่ใช่ แม้คำตอบจะฟังดูกวนประสาทแต่นี่คือความเป็นจริง
การจะตอบว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีนั้น ต้องเริ่มด้วยการถามตัวเองว่าเรากำลังเทียบเคียงกับอะไร หากเทียบกับปีที่ผ่านมาก็จะสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่าปีที่แล้วเพราะเติบโตขึ้นถึง 3.4 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็ยังถือว่าย่ำแย่ โดยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเท่าปีก่อนการระบาดด้วยซ้ำแม้จะผ่านมาสองปีเศษแล้วก็ตาม หรือจะเทียบกับค่าเฉลี่ยการเติบโตตลอดสามทศวรรษของไทยที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ก็ยังถือว่าเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์
นอกจากจะคำถามว่าเทียบเคียงกับอะไรแล้ว เรายังต้องพิจารณาด้วยว่าตนเองอยู่ตรงไหนของสังคม เพราะจีดีพีคือ ‘ค่าเฉลี่ย’ ของการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ หากเศรษฐกิจเติบโตขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจเป็นไปได้ว่าทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์แบบเสมอหน้า หรือคนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกมีรายได้เพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่เหลือในสังคมมีรายได้ลดลง 7.4 เปอร์เซ็นต์ จีดีพีก็จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
การเติบโตของรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันของคนแต่ละกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อทัศนคติต่อสภาพเศรษฐกิจ หากพิจารณาจากสถิติรายได้ต่อเดือนระหว่างปี 2564 และ 2562 ของไทย พบว่ากลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยากจนที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น กลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ที่รวยที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 2 เท่าตัวของกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าคนรวยจะบอกว่า ‘เศรษฐกิจดี’ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาดแต่อย่างใด
ประเด็นหนึ่งที่หลายคนรวมถึงผู้กำหนดนโยบายมักหลงลืมไปคือ ‘จีดีพี’ เป็นเครื่องมือที่แสนจะล้าสมัย เกิดร่วมรุ่นกับนวัตกรรมอย่างรถโฟล์คสวาเกนและฟิล์มสี น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยยังศรัทธากับตัวเลขดังกล่าวอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งที่ตัวเลขนี้มีข้อด้อยสำคัญคือมันไม่ได้สะท้อนการกระจายรายได้แต่อย่างใด
นี่คือสาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์อย่างกาเบรียล ซุคมัน (Gabriel Zucman) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เสนอวิธีการคำนวณจีดีพีแบบแบ่งตามชนชั้นแล้วเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Realtime Inequality เพื่อให้เห็นภาพแบบชัดๆ ว่าใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่
การตอบว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด การพิจารณาปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วตีขลุมเอาเองว่านี่คือตัวชี้วัดว่า ‘เศรษฐกิจดี’ หรือ ‘เศรษฐกิจไม่ดี’ จึงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องใช้การวิเคราะห์และพูดคุยอย่างรอบด้านกับคนหลากหลายสถานะทางสังคม เพื่อให้เห็นภาพว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวกลับมองว่าแทนที่จะถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราควรร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะยกระดับชีวิตคนไทยที่ยากจนที่สุดหลายล้านคนที่ต้องประทังชีพด้วยเงินเดือนละ 2,100 บาทให้มีความเป็นอยู่สมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
Luxury market forecast to grow despite global recession fears
Ultra-rich fueling sales of luxury brands despite inflation and recession fears
ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 และ 2566