สำหรับเราหลายๆ ครั้ง การเข้าไปยืนในฮอลล์คอนเสิร์ตคือวิธีการเสพดนตรีที่ดีงามที่สุด
ศิลปินคนโปรดของเราอยู่ใกล้ราวจะจับต้องได้ ระยะห่างที่เกิดจากการอัดเสียงในสตูดิโอหายไป เสียงร้องที่เราไม่มั่นใจว่านักร้องเขาร้องได้ยังไงให้ดียิ่งกว่าเสียงที่เราตกหลุมรักอยู่แล้วในหูฟัง เสียงเบสเขย่าพื้นที่เรายืนอยู่สร้างแรงสั่นไหวในตัวของเราให้ขยับไปพร้อมท่วงทำนอง เสียงเครื่องดนตรีสดแทรกในอากาศรอบตัว เชื่อมโยงเราเข้ากับทุกคนในฮอลล์นั้น เปลี่ยนดนตรีจากสิ่งที่เราฟังเพื่อฆ่าเวลาหรือเพื่อความบันเทิงเฉยๆ ยกระดับเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์นั้นๆ ย่อมมาพร้อมกับการสุ่มดวงครั้งใหญ่ เพราะแตกต่างจากการฟังเพลงแบบอื่นๆ เราไม่มีตัวเลือกที่จะฟังเพลงในคอนเสิร์ตคนเดียว และเรามักระแวงเพราะได้ยินการแชร์ประสบการณ์แปลกๆ ในคอนเสิร์ตอยู่บ่อยๆ ถ้าเราเจอคนสูบบุหรี่ในหลุมล่ะ? เราต้องดูคอนเสิร์ตผ่านจอไอแพดใครมั้ย? แล้วแฟลชจากเซลฟี่ใครจะมาพุ่งชนหน้าเราหรือเปล่า? มนุษย์คือสิ่งที่เราไม่อาจคาดเดาได้ และส่วนหนึ่ง ความคาดเดาไม่ได้นั้นเองอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘มารยาทในการชมคอนเสิร์ต’ ขึ้นมา
ต่างจากกฎเกณฑ์แบบอื่นๆ มารยาทหรือธรรมเนียมปฏิบัติไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนลงไปเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่เราถูกคาดหวังให้รู้อยู่แล้ว และมันยิ่งซับซ้อนเมื่อเราเข้าไปใหญ่เมื่อเราพูดถึงมารยาทในพื้นที่ที่ทุกคนคาดหวังจะไปสนุก และกฎเกณฑ์คือสิ่งที่ขัดขวางความคาดหวังนั้น หรือว่าเพื่อปกป้องความสุขส่วนรวม? และดนตรีเป็นสิ่งที่วางอยู่ในจุดตัดของความบันเทิง บรรทัดฐานสังคม และวัฒนธรรม ความหลากหลายนั้นสามารถสร้างความไม่มั่นใจให้เกิดกับเราได้ เราควรทำอะไรดีนะ หรือแม้แต่ถามว่าทำไมกันนะที่ไม่มีใครมีมารยาทตามธรรมเนียมกันเลย
คำถามแรกที่เราอาจต้องนึกกันก่อนว่า อะไรคือมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติในคอนเสิร์ต? ลองไปดูในที่ที่เราน่าจะเข้มงวดที่สุดในประเด็นนี้ นั่นคือที่คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก แค่ได้ยินประเภทดนตรี ภาพในหัวของเราก็ชัดเจน ฮอลล์คลาคล่ำไปด้วยผู้คนใส่ชุดทางการ เสียงเงียบเชียบตลอดการแสดง และการลุกขึ้นปรบมือนาน 10 นาที ที่ที่ธรรมเนียมปฏิบัติดูจะแข็งแกร่งจนเรียกว่าเป็นกฎได้มากที่สุด
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย ธรรมเนียมปฏิบัติของมันจึงมักไม่ใช่ความรู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการหาข้อมูล เราพบเข้ากับประกาศหนึ่งในเว็บไซต์ Western Michigan University ซึ่งดูเหมือนว่ามาจากอาจารย์ถึงนักศึกษาของเขาในคลาสเรียน LIVE MUSIC listening หรือการฟังดนตรีสด ประกาศดังกล่าวเขียนเกี่ยวกับธรรมเนียมการชมคอนเสิร์ตคลาสสิคด้วยท่าทีขึงขังติดจิกกัด และที่ใดจะมาสอนเราได้ดีเท่ากับคลาสเรียนที่สอนเรื่องนี้โดยตรง?
“ไม่ต้องกังวล โดยมากพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับได้ในการชมคอนเสิร์ตคือการมีมารยาททางสังคมโดยทั่วไป” อาจารย์กล่าวก่อนจะแปะจดหมายคอมเพลนว่าผู้ชมในฮอลล์ของมหาวิทยาลัยนี้เป็นกลุ่มคนที่ ‘ไร้มารยาทและไร้ความเคารพ’ ที่สุดที่ผู้เขียนจดหมายเคยพบเจอ อาจารย์บอกว่าคนเหล่านี้คงเป็นส่วนน้อยและคงไม่ใช่นักศึกษาวิชานี้หรอก อย่างไรก็ดีเขาก็ลิสต์พฤติกรรมที่ควรและไม่ควรทำดังนี้
- มาถึงคอนเสิร์ตก่อนเวลาที่กำหนด
- และหากมาช้า ก็ยืนอยู่หลังฮอลล์จนกว่าจะถึงเวลาพักแล้วจึงเดินเข้าที่
- ปิดโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสาร “ในชีวิตนี้มีอะไรที่ยากกว่าการไม่เล่นโทรศัพท์เป็นเวลา90 นาที จงพัฒนาสกิลหักห้ามใจตัวเองเสีย”
- ไม่วิจารณ์เกี่ยวกับดนตรีจนกว่าผู้เล่นจะลงจากเวที
- ไม่เขียนโน้ตเวลาดู
- ตั้งใจดู ห้ามออกก่อน “เอาใจเขาใส่ใจเรา คุณจะชอบไหมอากผมอ่านเปเปอร์ที่คุณตั้งใจทำแค่ท่อนเดียว?”
- ปรบมือให้ถูกเวลา คุณปรบมือเฉพาะตอนมูฟเมนต์สุดท้ายของงานชิ้นนั้น หรือเพลงสุดท้ายในเซ็ต
- ปิดนาฬิกาปลุกและโทรศัพท์
- ห้ามนำเครื่องมือที่ใช้บันทึกภาพเข้า
- แต่งตัวดีๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือธรรมเนียมที่บิดมาจากนักเขียนคอลัมน์จูดิธ มาร์ติน (Judith Martin) หรือนามปากกา Miss Manners ผู้เขียนเกี่ยวกับมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ มาตั้งแต่ราวๆ ปี 1980 หากจะมีอะไรบวกเพิ่มขึ้นมา ก็มาจากการพัฒนาเทคโนโลยี การเดินเข้าไปสู่คอนเสิร์ตฮอลล์ที่เล่นดนตรีคลาสสิกอาจเปรียบได้กับการเดินย้อนเวลากลับไปในอดีต อย่างน้อยก็ในเชิงการที่ผู้ฟังปฏิบัติตน
ในอีกฟากฝั่งแนวดนตรี เมทัล หากมองจากข้างนอก ดนตรีสายฮาร์ดคอร์แบบนี้ ที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาวลุคโหดๆ นี่เข้าจะมีธรรมเนียมปฏิบัติกันด้วยเหรอ? ในระดับหนึ่งคือมี โดยจะแตกต่างจากสายคลาสสิกตรงที่กฎของแฟนๆ เมทัลนั้นไม่ได้สากลเท่า เนื่องจาธรรมชาติของดนตรีทั้ง 2 แนวนั้นแตกต่างกัน โดยจากการรวบรวมความเห็นทั้งจากเว็บไซต์เกี่ยวกับเพลงเมทัลโดยตรง หรือเว็บบอร์ดที่เป็นพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับเพลงเมทัล ธรรมเนียมในการรับชมคอนเสิร์ตมีประมาณนี้
- อย่าเมาหัวทิ่ม
- สังเกตให้ดีว่าจะมีมอชพิต (Mosh-pit) ตรงไหน ถ้าไม่อยากมอช อย่ายืนขวางบริเวณหลุม
- ถ้าเห็นใครล้มให้ช่วยดึงพวกเขาขึ้น
- ระวังหนามแหลมจากเสื้อผ้าของคนอื่น และระวังหนามของเสื้อผ้าตัวเองจะไปแทงใคร
- อย่าหวงที่ ธรรมชาติของคนดูเมทัลคือมักมีการเปลี่ยนผัดที่ผ่านการมอช วอลล์ออฟเดธ ฯลฯ อยู่บ่อยๆ
ดูเหมือนว่าแม้จะอยู่กันคนละฟากฝั่งแนวดนตรี สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 มีร่วมกันคือธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้มีรากมากจากการคงไว้ซึ่งมารยาททางสังคม แต่สิ่งที่ทำให้ทั้ง 2 แตกต่างกันคือธรรมชาติของดนตรีที่แตกต่าง ความรู้สึกที่มันต้องการสร้าง และวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมย่อยมีส่วนในการเปลี่ยนพฤติกรรม เมทัลส่งเสริมความสนุกสนานที่สะท้อนภาพความดุดันของเสียงดนตรี ภายใต้กรอบเกณฑ์ที่สนับสนุนความปลอดภัย ส่วนธรรมเนียมการดูดนตรีคลาสสิกดูคล้ายคลึงกับธรรมเนียมปฏิบัติชาวยุโรปซึ่งงอกงามมาจากโบสถ์อีกทีอย่างไม่น่าแปลกใจ เช่นเดียวกันกับมารยาท บรรทัดฐานทางสังคมมีส่วนสำคัญในการปั้นแต่งธรรมเนียมปฏิบัติในคอนเสิร์ต
ธรรมเนียมปฏิบัติที่สื่อสารประเด็นนี้ได้ชัดเจนสุดๆ คือคอนเสิร์ตญี่ปุ่น บ่อยครั้งที่เราได้ยินสิ่งที่ไม่ชินหูที่สุด คือคนญี่ปุ่นไม่ร้องเพลงในคอนเสิร์ต เราหลายๆ คนอาจจะแทบจินตนาการไม่ออกเพราะเราเกิดและเติบโตในประเทศที่เปลี่ยนฮอลล์ให้กลายเป็นห้องคาราโอเกะ ซึ่งโดยมากแล้วเหตุผลที่ทำให้พวกเขาทำเช่นนั้นส่วนมากมาจากมุมมองของการไม่รบกวนผู้อื่นมากที่สุดที่จะทำได้ ซึ่งมุมมองนั้นๆ มาจากแนวคิดคติรวมหมู่หรือ Collectivism ที่ฝังรากอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างยาวนาน
การพูดถึงคอนเสิร์ตและวัฒนธรรมดนตรีญี่ปุ่น ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือวัฒนธรรมในคอนเสิร์ตไอดอลที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมคติรวมหมู่ญี่ปุ่นตั้งแต่หัวจรดหาง เช่น วิธีการที่ผู้ฟังมีส่วนร่วมกับคอนเสิร์ตนั้นไม่ใช่การร้องเพลงตาม แต่มีส่วนร่วมผ่าน Fan Chant และแม้จะไม่ได้เป็นกฎตายตัว เกือบทุกคนจะมีแท่งไฟเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว อย่างไรก็ตาม แม้วัฒนธรรมดังกล่าวจะมาพร้อมกับประเภทดนตรี บ่อยครั้งก็เกิดการ ‘รีมิกซ์’ กันขึ้น เช่น คนไทยทำทุกอย่างที่กล่าวมา แต่ร้องและเต้นตามด้วย อาจเพราะธรรมชาติของความเป็นปัจเจกที่มากกว่า ความเคยชินกับบรรยากาศการเล่นดนตรีในท้องถิ่นตั้งแต่หมอลำไปจนศิลปินที่ชอบให้ร้องตาม หรือวัฒนธรรมความ ‘สบายๆ’ ของเรา
ถ้าวัฒนธรรมของสังคม คือตัวกำหนดวิธีการที่เราดูคอนเสิร์ต อย่างนั้นแล้วในปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้มีการทะเลาะและท้าทายกันในเรื่องมารยาทการดูคอนเสิร์ต? เช่นเดียวกันกับที่คนญี่ปุ่นต่อว่าคนต่างชาติในคอนเสิร์ตเทเลอร์ สวิฟต์ที่โตเกียวโดมอย่างสุดกำลัง สิ่งที่เรากำลังประสบพบเจอในปัจจุบันคือการชนกันอย่างจังระหว่างธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมในประเทศของเรา และธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ที่เกิดจากแหล่งใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต
วัฒนธรรมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันเชื่อมโยงโดยตรงกับโซเชียลมีเดีย เราทุกคนเป็นตัวละครหลัก เราไม่ได้แค่ใช้ชีวิตในประสบการณ์ แต่เราต้องเผยแพร่มันผ่านโซเชียลมีเดียของเราด้วยเพราะนั่นคือตัวตนของเรา เราจะพูดได้หรือไม่ว่าหลายๆ สิ่งที่คนทำในคอนเสิร์ตยุคปัจจุบันที่รบกวนคนด้วยกัน เช่น ยกมือถือถ่ายคอนเสิร์ตทั้งคอนเสิร์ตเก็บไว้ เซลฟี่สาดแฟลชเพื่อรอเอาไปลงหลังคอนเสิร์ตจบ ฯลฯ
เช่นนั้นแล้วเราจะทำยังไง? การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในระดับตัวตนของเราไปแล้ว และดูเหมือนไม่มีใครหยุดยั้งธรรมเนียมปฏิบัติใหม่นี้ได้ในโลกที่นิยมคอนเทนต์แห่งนี้ เราควรมองข้ามไปแล้วกลายเป็นคนที่คอยพูดเสมอว่า ‘ไอ้เด็กสมัยนี้’
หรือว่าเราควรมีบทสนทนาจริงๆ จังๆ กันในประเด็นวิธีที่เราและคนรอบตัวมองชีวิตในโลกออนไลน์?
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Editorial Staff: Runchana Siripraphasuk