อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการที่วงดนตรีหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้แนวเพลงในทุกวันนี้เริ่มมีความหลากหลาย และส่งผลให้พฤติกรรมคนฟังเองเปลี่ยนไปเช่นกัน จากที่ฟังเพลงตามที่สื่อกระแสหลักเปิดให้ ก็เปลี่ยนเป็นท่องโลกสตรีมมิ่ง และเสาะหาเพลงฟังด้วยตัวเองมากขึ้น
เรียกได้ว่าเป็นความสนุกสนาน
ของทั้งคนฟังและคนผลิตเพลงก็ว่าได้
แต่ปริมาณและความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นมานั้น ก็นับว่าเป็นความยากและความท้าทายของศิลปินอินดี้ไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาจะต้องดันตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมาจากคนอื่นๆ หรือวงอื่นๆ เพื่อที่จะครองใจคนฟังให้อยู่หมัด ซึ่งถึงแม้จะมีกลิ่นอายที่โดดเด่นมากพอแล้ว แต่เมื่อเทียบกับโอกาสในการได้พิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็น ประเทศไทยเราก็ถือว่ามีเวทีและพื้นที่ในการให้โอกาสนี้น้อยเหลือเกิน
ทำให้จู่ๆ เราก็นึกถึง ‘Safeplanet’ วงดนตรีแนวอินดี้ป็อป ที่ประกอบไปด้วย เอ-ฐิติภัทร อรรถจินดา (ร้องนำ,กีตาร์) ยี่-ชยปัญญ์ จันทรานุสนธิ์ (เบส) และ ดอย-อภิวิชญ์ คำฟู (กลอง) ซึ่งถือว่าเป็นวงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก โดยเฉพาะเสียงกีตาร์ในท่อนอินโทร ที่แม้จะเปิดขึ้นมาฟังเพียงแค่ 5 วินาที ก็จดจำได้ไม่ยากว่าเป็นเพลงของใคร
ในฐานะที่พวกเขาผ่านจุดที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และต้องแลกอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้เป็นที่จดจำของใครหลายคน จนเดินมาถึงจุดที่คอนเสิร์ตเต็มไปด้วยผู้ชมคับคั่ง ทำให้เราสนใจในความเป็น Safeplanet และอยากให้พวกเขาช่วยเล่าถึงเส้นทางการเป็นศิลปินอินดี้ในอุตสาหกรรมเพลงไทยให้ฟัง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่พวกเขาออกเพลงใหม่มาให้ฟังด้วยพอดี นั่นก็คือเพลง ‘ถ้าเธอได้รู้’ (The Secret)
ช่วงที่ผ่านมา หลังปล่อยอัลบั้ม Safeboy ไป ทำอะไรกันมาบ้าง?
เอ : หลังอัลบั้มเสร็จก็ทัวร์ซะส่วนใหญ่ครับ แล้วก็มีเก็บเพลงที่ยังเหลืออยู่
ยี่ : ก็มีปล่อยเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อยออกมาด้วย
เอ : แล้วก็ทำคอนเสิร์ตใหญ่กัน ระหว่างนั้นก็ทำเพลงใหม่สะสมไปเรื่อยๆ
ช่วงนั้นเป็นช่วงโรคระบาด COVID-19 แพลนล่มไปเยอะมั้ย?
เอ : ก็ล่มหมดครับ ล่มยาวเลย จริงๆ จะมีวางแพลนไว้อีกสองเดือนเลย แต่ก็ยกเลิกหมดตั้งแต่เดือนมีนาคม แล้วก็จะมีโอกาสไปต่างประเทศด้วย ก็โดนยกเลิกไปเหมือนกัน
เพลงล่าสุดนี้ก็โดนเลื่อนวันปล่อยด้วยหรือเปล่า?
เอ : จริงๆ เพลงล่าสุดเป็นเพลงที่ทำในช่วง COVID-19 ครับ เป็นช่วงที่เราอยู่บ้านกัน
ในที่สุดก็มีเพลงออกมาให้พวกเราฟังจนได้ นั่นก็คือเพลง ‘ถ้าเธอได้รู้’ ช่วยเล่าถึงเพลงนี้หน่อย
เอ : เพลงใหม่นี้ตั้งใจจะเล่าในมุมที่ต่างออกไป เป็นมุมโรแมนติกของ Safeplanet บ้าง จากที่ผ่านมาปกติจะเป็นการค้นหาตัวเองซะส่วนใหญ่ แต่เพลงนี้ พูดตรงๆ ก็คือการแอบชอบ หรือมีความรู้สึกดีๆ อะไรให้คนๆ หนึ่ง
พอเล่าในมุมของ Safeplanet ก็จะเป็นมุมที่เรายังไม่เคยได้แสดงออกมา ซึ่งก็มีอีกหลายมุมเลยที่เราอยากแสดงออกมา ก็จะมีอีกในเพลงต่อๆ ไป เพลงนี้เป็นเพลงเปิดทิศทางให้กับมัน คิดว่าก็พอใจและค่อนข้างแฮปปี้ครับ
อยากรู้ว่าวัตถุดิบที่ Safeplanet หยิบมาทำเพลงบ่อยที่สุดส่วนใหญ่มาจากไหน เช่น ภาพยนตร์ หนังสือ หรือเรื่องราวของคนใกล้ตัว?
เอ : ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของคนใกล้ตัวด้วยครับ หรือเรื่องของพวกเราเองด้วย ส่วนเรื่องจากภายนตร์หรือหนังสือ ผมพยายามทำหลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ มันเหมือนจะยกมาตรงๆ ก็แปลกๆ แต่ก็อาจจะหล่อหลอมกันมา ที่เราดู ที่เราฟัง มันก็หล่อหลอมออกมาให้เราหยิบมาทำเพลงอะไรแบบนี้
ดอย : ก็มีหยิบมาจากคนรอบตัวด้วยครับ มีทั้งเรื่องการเล่นเฟซบุ๊ก เล่นโซเชียลมีเดียด้วย ก็จะได้เห็นความรู้สึกของเพื่อน ของคนใกล้ตัวที่มีหลากหลายความรู้สึกมาก บางทีเราก็จับเรื่องพวกนั้นมาทำเพลงบ้าง
แล้วในเรื่องการทำดนตรีล่ะ ตอนนี้มีแนวเพลงใหม่ๆ ที่อยากเอามาใส่ในเพลงหลังจากนี้หรือเปล่า?
เอ : มีอีกเยอะเลยครับที่อยากเอามาใส่ เพลงที่ยังไม่ได้ปล่อยออกมาก็มีผสมอะไรหลายอย่าง อาจจะได้เห็นพวกเราเล่นแบบฟังกี้ อาจจะร็อคขึ้น มีช้าลงด้วย ก็พยายามสำรวจอะไรที่มันอยู่นอกจากคอมฟอร์ตโซนของเรา ออกไปจากดนตรีที่อยู่ในอัลบั้มแรก ออกจากอัลบั้ม Safeboy อะไรแบบนั้น
ถือว่าจะมีความหลากหลายกว่าอัลบั้ม Safeboy มากๆ เลยใช่มั้ย
ยี่ : ใช่ครับ เราเองยังตื่นเต้นเลย คิดว่าแฟนเพลงก็น่าจะรู้สึกถึงอะไรใหม่ๆ ด้วย
พูดถึงแฟนเพลง จากวงดนตรีอินดี้เล็กๆ กลายมาเป็นวงที่คนรู้จักเยอะขึ้นมาก รู้สึกยังไงบ้าง คิดว่ามาถึงจุดที่ตัวเองคาดหวังแล้วหรือยัง?
เอ : จริงๆ ก็ถึงแล้วนะครับ เราก็หวังเหมือนกับทุกๆ วงที่อยากจะมีทัวร์คอนเสิร์ต การทำเพลงก็เหมือนเป็นงาน แล้วก็งานอดิเรก เป็นทุกๆ อย่างที่เราทำด้วยแพชชั่น ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในความสำเร็จขั้นแรกแล้ว
มองย้อนกลับไปวันแรกที่ทำวงขึ้นมา ตอนนั้น Safeplanet ต้องเจอความยากลำบากของการที่ยังไม่มีชื่อเสียงยังไงบ้าง?
ยี่ : ยากกว่าตอนนี้เยอะเลยครับ ต้องย้อนกลับไปที่ตอนแรก พี่เอกับพี่ดอยทำวง Shadow Flare มาก่อน แล้วจากนั้นก็มาชวนผมทำวง ตอนแรกชวนมาอัดเฉยๆ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมาถึงจุดนี้ แบบว่าค่อยๆ ไปทีละสเต็ป
เอ : ถ้าถามว่ายากกว่าวันนี้มั้ย ก็ยากกว่าเพราะเราค่อยๆ สะสมฐานแฟนเพลงมาเรื่อยๆ และด้วยความที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของโซเชียลมีเดียด้วย เหมือนตอนนั้นเพจเฟซบุ๊ก หรือเพจวงไม่ได้เป็นที่นิยมขนาดนั้น เพจดังๆ หลายเพจก็ยังไม่ค่อยมา วงใหญ่ๆ ก็ไม่ค่อยได้ตอบเพจ หรือเป็นแอดมินกันซะส่วนใหญ่ เราเลยต้องทำคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก กดหัวใจให้กับทุกโพสต์ กดเข้าไปอ่านทุกอัน คุยตอบกับแฟนเพลงตลอด ซึ่งมันก็น่าจะค่อยๆ สร้างมาจากตรงนั้น ถือเป็นคววามยากครับ
ช่วงที่ Safeplanet เริ่มทำวงแรกๆ ตอนนั้นวงการเพลงอินดี้อาจจะยังไม่บูมขนาดนี้ เคยคิดจะเปลี่ยนแนวเพลงตัวเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพลงหรือเปล่า?
เอ : ไม่เลยครับ คิดแค่ว่าอยากจะว่ายทวนน้ำมากกว่า เพราะช่วงที่เราเริ่มทำวง มันเป็นช่วงที่เพลงอิเล็กทรอนิกส์ หรือ dream pop กำลังมา แต่จริงๆ มันก็เป็นความชอบด้วย เราอยากทำอะไรที่ในตลาดเพลงตอนนั้นยังไม่มี
แล้วเราก็ประเมินตัวเองตลอด เรารู้ว่าสิ่งที่เรามีอาจจะไปแข่งในเวย์อื่นไม่ไหว ผมก็ไม่ใช่นักร้องที่เสียงดีแบบ vocalist เราก็เป็นเด็กเซอร์ๆ กัน ก็เลยเอาความเซอร์นั้นมาทำเพลงดีกว่า
ก็เลยไปสุดทางในแบบของเรามากกว่า
ยี่ : ใช่ครับ มันเป็นทิศทางที่กำหนดเอาไว้แต่แรกแล้ว ไม่ได้เอาตลาดเป็นตัวตั้ง แค่ทำออกไปแล้วเราไม่เขินก็พอ เอาความชอบมาผสมกันจนเป็นผลงานเพลงอะครับ
ได้ยินมาว่า ศิลปินหน้าใหม่จะต้องยอมแลกกับการเล่นแบบไม่มีค่าตัวไปก่อนในช่วงหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่รู้จัก เราเองก็เป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า?
ยี่ : แน่นอนครับ เล่นฟรีมาเป็นปี ประมาณปีกว่าๆ ก็น่าจะเหมือนทุกคนที่เราต้องทำเองทุกอย่าง ก็ไม่ได้หวังอะไรตรงนั้นอยู่แล้ว
แสดงว่ามันคุ้มค่ากับการที่เราต้องแลกอะไรบางอย่างเพื่อโปรโมตตัวเองไปเรื่อยๆ?
เอ : ครับ เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีมูลค่าพอที่จะขอเงินอยู่แล้ว โดยเฉพาะร้านใหญ่ๆ หรืองานดนตรีใหญ่ๆ เราก็ขอไปเล่นฟรี บางทีก็ไม่มีสล็อตให้เรา ถ้ายิ่งไปเรียกเงินก็จะยิ่งหนักไปอีก
เราทำได้แค่ทำงานของเราให้มันดี แล้วก็สร้างมูลค่าให้กับมัน ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ มีโอกาสได้เล่นเราก็ไปเล่น พอมีคนรู้จักมากขึ้น เราก็ปล่อยเพลงมากขึ้น ทีนี้ก็เริ่มเรียกเรทได้ตามความเหมาะสม ผมมองว่ามันก็คือการเดินทางอย่างหนึ่ง
อยู่ในช่วงโปรโมตแบบไม่มีค่าตัวมานานมั้ย?
เอ : ไม่มีค่าตัวจริงๆ ไม่นานมากครับ แต่ว่าในช่วงเริ่มแรกก็มีน้อยอยู่ดี แล้วก็เข้าเนื้อมาตลอด อย่างผมกับดอยก็ว่าจะขายเสื้อผ้ามือสองกัน
ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นนักดนตรีกลางคืน แล้วผมก็บอกว่าไม่อยากเล่นกลางคืน ไม่อยากขับรถออกไปเล่นกลางคืน ซึ่งเราก็ต้องแลกทุกอย่าง ผมก็ไปสอนดนตรีให้กับเด็กๆ ตามบ้านบ้าง ไปทำงานประจำบ้าง แล้วเอาเงินส่วนนั้นมาทำวง
ยี่ : ตอนนั้นผมยังเรียนไม่จบ ก็มีเคว้งอยู่ช่วงหนึ่ง ผมก็ไปเล่นดนตรีช่วงกลางคืนนั่นแหละครับ วงเราเพิ่งจะมาอยู่ได้จริงๆ แบบไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเสริมก็ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง
คิดว่าในช่วงที่ยังเป็นวงดนตรีเล็กๆ วิธีไหนที่ทำให้คนรู้จักเราได้มากที่สุด?
เอ : ก็เป็นการโปรโมตแบบบ้านๆ เลยครับ ก็คือติดต่อกับแฟนเพลงในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กขอวง ทวิตเตอร์ หรือแม้กระทั่งในเฟซบุ๊กส่วนตัว
ยี่ : ด้วยความที่แฟนเพลงไม่ได้เยอะมาก เราก็เลยพยายามคุยกับทุกคนให้ทั่วถึง กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราก็เป็นเพื่อนกัน
เอ : แต่ส่วนหลักจริงๆ ก็คือเพลงนั่นแหละครับ เราน่าจะตั้งใจทำตรงนั้นมากที่สุด มากกว่าเรื่องโปรโมชั่น อะไรพวกนั้นก็ทำมาหมดแล้ว บูสต์โพสต์อะไรอย่างงี้ (หัวเราะ)
เราก็ทำเท่าที่ทำได้ แชร์ผลงานในโซเชียลมีเดีย ตอนแรกที่ไม่มีคนรู้จัก โพสต์ของเราไม่มีแบบออร์แกนิกเลย ต้องบูสต์โพสต์กันบ้าง น่าจะเหมือนกับทุกคนในช่วงแรกๆ ที่จะต้องพยายามนำงานของเราไปให้คนอื่นๆ เห็น
ในฐานะที่เราอยู่ในวงการเพลงอินดี้มาตั้งแต่แรกๆ คงได้เห็นอะไรหลายอย่างในอุตสาหกรรมเพลงไทย คิดว่าตอนนี้มันยังขาดอะไรอยู่?
เอ : ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐครับ ถ้าพูดตรงๆ ก็คือเราจะเห็นศิลปินแห่งชาติตามแขนงศิลปะต่างๆ ซึ่งผมว่ามักจะเกี่ยวกับ ‘ความเป็นไทย’ ซะส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆ เด็กไทยเก่งในหลายศาสตร์ เล่นดนตรีก็คนละแนว มีเล่นแบบสากลด้วย แถมยังได้ไปเล่นในเทศกาลดนตรีต่างประเทศ แต่ไม่มีสื่อไหนรู้ จริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ อย่างภูมิ วิภูริศ หรืออีกหลายคนที่ได้ไปทัวร์ที่ยุโรป
ยี่ : มันกลายเป็นเรื่องที่พูดคุยกันในวงการเล็กๆ ซึ่งจริงๆ มันควรจะเป็นเรื่องระดับประเทศด้วยซ้าว่าประเทศไทยเรามีเด็กเก่งขนาดนี้เลยหรอ
ก็คงจะดีขึ้นถ้ามีทุนสนับสนุนด้วยอีกทางหนึ่ง?
ดอย : ใช่ครับ อย่างประเทศเกาหลีก็มี K-pop บางทีบ้านเราก็อาจจะมี Thai pop หรือ Thai indy บ้างก็ได้
เอ : หลายๆ วงก็ได้ไปเล่นในหลายๆ ประเทศ น่าตกใจเหมือนกันนะ อย่าง Safeplanet เองก็ได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นและไต้หวัน แล้วเขาดูแลเราดีมาก ไม่ได้ไปเล่นแล้วไม่มีคนฟัง แต่มีคนที่รอเราจริงๆ แล้วก็ทำของขวัญมาให้ด้วย
ถ้าภาครัฐหรือทุกคนช่วยกันสนับสนุน ไม่ได้พูดถึงแค่อินดี้นะ ไม่ว่าจะเป็นป็อปหรือฮิปฮอป อะไรก็ได้ มันน่าจะสร้างชื่อเสียงให้ได้มากกว่านี้ มากกว่าการที่ต้องเล่นดนตรีไทย เพราะเด็กไทยเล่นได้ทุกรูปแบบเลย
ยี่ : อย่างประเทศเกาหลีก็เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้ารัฐมองเห็นโอกาสและส่งเสริม มันจะสร้างอะไรได้หลายอย่างเลย สร้างชื่อเสียงประเทศ สร้างรายได้ และก็สอดแทรกวัฒนธรรมของเราเข้าไปได้ด้วย
เอ : เพราะเราใช้ภาษาไทยอะครับ ผมไปเล่นทุกที่ก็ไม่มีการแปลงเพลงเป็นภาษาอังกฤษเลย ร้องแบบทื่อๆ อย่างนั้นเลยครับ
เรามองว่าเพลงที่มีภาษาไทย ก็คือการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างหนึ่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นดนตรีไทยแบบสุดทางก็ได้
เอ : ใช่ครับ การที่เราจะได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ ก็คงมีแต่อะไรเดิมๆ อย่างรำ ไม่ก็ฟันดาบ ซึ่งเขาอาจจะเอาเงินส่วนนั้นมาสนับสนุนวงดนตรีอินดี้บ้างก็ได้ เช่น ค่าเครื่อง ค่าที่พัก เพราะพวกเราก็คงจ่ายเองไม่ไหว
ซึ่งเผลอๆ ในภายหลัง อาจจะมีคนบินมาไทยเพื่อมาดูวงเหล่านี้ก็ได้ มันน่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศได้ด้วย อาจจะเป็นประโยชน์ในระดับโครงสร้างเลย ผมว่ามันน่าจะไปได้ไกล
ดอย : เด็กไทยเก่งอยู่แล้ว แค่รัฐหันมาสนับสนุนพวกเขาแค่เสี้ยวหนึ่ง หรือมองเห็นโอกาสสักนิดก็น่าจะดี
ยี่ : ไม่ใช่แค่ดนตรีอย่างเดียวนะ แต่รวมถึงศิลปะทุกแขนงเลย
ย้อนกลับมาที่ประเทศเรา คิดว่าช่องทางในการแสดงความสามารถของศิลปิน หรือช่องทางให้การให้คนฟังมาเปิดหูฟังเพลงใหม่ๆ รู้จักวงดนตรีใหม่ๆ มีเพียงพอแล้วหรือยัง?
เอ : ไม่พอครับ ไม่พอเลยจริงๆ ส่วนใหญ่งานเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ จะต้องเป็นวงที่มีชื่อเสียงเท่านั้น หรือมีเพลงที่ติดในกระแสอยู่แล้ว ซึ่งมันทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายๆ คนที่เก่งรู้สึกเหนื่อยไปก่อน เลิกทำไปก่อน เพราะมันรอพื้นที่ในการเปิดโอกาสให้พวกเขาไม่ไหว ก็อยากให้มีพื้นที่ตรงนี้มากขึ้นเหมือนกัน
ยี่ : ผมเข้าใจในเรื่องค่าใช้จ่ายนะ เพราะถ้าไม่มีสปอนเซอร์ เขาก็จัดกันยาก
ดอย : จริงๆ งานดีๆ ในไทยมีเยอะนะครับ ที่เป็นงานแบบโซนฟรีให้วงนอกกระแส ซึ่งเป็นงานที่นานมาแล้ว แต่พอทำไปจริงๆ เขาก็จัดไม่ไหว อาจจะเพราะไม่ได้สร้างรายได้ด้วยหรือเปล่า
เอ : ทุกอย่างก็ต้องสอดคล้องกันอะครับ ถ้าทำแล้วเจ๊งก็ไม่มีใครจัด แล้วถ้ามันมีแต่อะไรเดิมๆ สปอนเซอร์ก็คงไม่เข้าอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็ด้วย ถ้าเขาสนับสนุนวงใหม่ๆ หรือวงที่เพิ่งเริ่ม วันหนึ่งวงนั้นก็มีชื่อเสียงได้เหมือนกัน เขาก็จะมีกำลังใจทำต่อ แล้วก็กลับมาพัฒนาประเทศเหมือนเดิม
ถ้าภาครัฐสนับสนุนวงการเพลง วงการศิลปะ คิดว่าเราจะได้ดูคอนเสิร์ตที่บัตรราคาถูกลงกว่านี้มั้ย?
ดอย : ถ้าพูดถึงงบประมาณในกระทรวงวัฒนธรรม เราอาจจะได้ดูฟรีไปเลยก็ได้ครับ
เห็นตอนนี้กำลังมีการผลักดันเรื่อง Festival Economy อยู่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเทศกาลดนตรี โอกาสสำคัญของศิลปินที่มีความสามารถอาจจะอยู่ไม่ไกลนี้ก็ได้
เอ : ดีเลยครับ เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกัน เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทุกคนแอ็กทีฟ คล้ายๆ กับกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นหรือเปล่า แต่ผมว่าคนที่จะจัดการเรื่องนี้เขาต้องมีความเข้าใจนิดนึง อาจจะต้องเอาคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในนั้นเยอะๆ ไปอยู่ในการตัดสินใจ การเลือกวง
เหมือนจริงๆ วงการเพลงไทยก็มีคนเก่งๆ เยอะ อย่างในเทศกาลดนตรีมหรสพ หรือ Very ถ้าเอาคนพวกนั้นไปอยู่กับภาครัฐ เราอาจจะได้มี Fuji Rock อาจจะมี Summer Sonic อาจจะมี Glastonbury ของเราก็ได้
แล้ว Safeplanet มีเวทีในฝันที่อยากเล่นมั้ย?
เอ : ที่บอกไปเมื่อกี้คือใช่หมดเลยครับ ใกล้ตัวสุดก็ Summer Sonic ของเอเชีย ถ้าพูดถึง Glastonbury อาจจะยังไกลไปหน่อย แต่มันก็อยู่ในฝันอยู่แล้วครับ ถ้าเป็นไปได้
วันนี้ถือว่าเดินมาไกลจากจุดแรกมากๆ แล้ว ถ้าย้อนเวลากลับไปบอก Safeplanet ในวันที่เริ่มเดินทาง เริ่มทำวงดนตรีแรกๆ ได้ อยากบอกว่าอะไร?
เอ : อดทนครับ อดทนหน่อยนะ ใจเย็นๆ แล้วขยันให้มากขึ้นหน่อย
ยี่ : ก็คงไม่บอกอะไรมาก เพราะมันเป็นตัวเราอะครับ ไม่ได้เสียใจกับสิ่งที่ตัดสินใจลงไป
ดอย : ก็แค่อย่าหยุดทำครับ ผมคงให้กำลังใจมากกว่า
Safeplanet ทำให้เราเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงไทยยังไปได้ไกลอีกมาก เพียงแค่ต้องมีช่องทาง หรือประตูที่เปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้ได้เดินต่อไป และไม่ใช่แค่ดนตรีเท่านั้นที่ควรจะได้รับการผลักดัน เพราะคนไทยที่มีความสามารถนั้นแฝงอยู่ทุกๆ แขนง และทุกๆ ศาสตร์ของศิลปะเลย