เราไม่รู้หรอกว่า เราจะลืมตาดูโลกในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งบนแผ่นดินผืนไหนของโลกกว้างใหญ่ใบนี้ แล้วต้องประสบพบเจอกับอะไรอีกบ้างในทาง ‘ข้างหน้า’ เมื่อเติบโตขึ้น แต่ลึกลงไปเรารู้สึกได้แน่ๆ ว่าเราต้องการใครสักคนโอบอุ้มเราไว้ เราจึงร้องไห้เพื่อบอกความต้องการเหล่านั้น และหยุดร้องไห้เมื่อรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
เราต่างเป็นและเคยเป็นเด็กทารกคนนั้นเหมือนๆ กัน ลืมตาดูโลกใบนี้ พร้อมเสียงร้องไห้ที่บอกถึงความต้องการ ความหวาดกลัว และความเปราะบางในแรกเริ่มการมีชีวิต ขณะเดียวกันพวกเราก็มาพร้อมกับพลังชีวิตบางอย่างในการนั่ง คลาน ยืน เดิน วิ่ง เพื่อเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า
แต่ ‘ข้างหน้า’ ของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนได้เติบโตตามพัฒนาการ มีครอบครัวซัปพอร์ต มีสนามเด็กเล่นให้ได้เล่น มีนิเวศรอบตัวที่ดี และมีโอกาสได้ ‘เรียนรู้’ โลกใบนี้ในหลากหลายแง่มุมที่ช่วยให้ ‘ข้างใน’ หรือ ตัวตน (Self) ของพวกเขาแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการเดินไปข้างหน้าอีกต่อหนึ่ง
กลับกันกับเด็กอีกหลายคนที่โมงยามการเติบโตห่างไกลกันลิบ
“ด้วยพ่อแม่ของเขา ‘หา’ ตอนเช้า ‘กิน’ ตอนค่ำ ดังนั้น เด็กจะได้กินข้าวก็ตอนเย็นแล้ว บางบ้านเด็กจะอยู่ที่ไหนไม่มีใครสนใจ บางบ้านเอาลูกไว้ในบ้านแล้วล็อกประตู บางบ้านล็อกประตูไว้แล้วให้ลูกอยู่นอกบ้าน เด็กก็เล่นกันอยู่ตามถนนจนพ่อแม่กลับมา”
ดูเหมือนว่าสำหรับเด็กบางกลุ่ม นอกจากพื้นที่การสร้างสายสัมพันธ์ (attachment) ในการเติบโตและโอกาสของการเรียนรู้โลกในวัยแรกเริ่มที่จะช่วยสร้าง ‘ตัวตน’ ของพวกเขาขึ้นมาจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและเงื่อนไขที่จำกัดแล้ว บางคน ‘ตัวตน’ ในความหมายทางกฎหมายก็ยังพร่าเลือนทับซ้อนลงไปอีกมิติหนึ่งด้วย
“หนูไม่รู้ว่าหนูเป็นใคร ความรู้สึกเหมือนหนูไม่ได้เป็นเด็กพม่าด้วย ไม่ได้เป็นเด็กไทยด้วย แล้วก็ไม่ได้เป็นเด็กอะไรเลย เกิดที่นี่ (ประเทศไทย) แต่ก็ไม่มีใบอะไรเลย จนถึงวันนี้หนูก็ยังรู้สึกว่าหนูไร้ตัวตน”
The MATTER ชวนเดินทางเข้าไปในชุมชนอิสลาม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชาวมุสลิมพม่าที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำงาน โดยเราได้ไปพูดคุยกับ ตุ่น–ดาราราย รักษาสิริพงศ์ อาสาสมัครสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด (Smile-lay Youth Club Maesot) พื้นที่การเรียนรู้ในบ้านหลังเล็กๆ ที่เปิดให้เด็กในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมและเรียนรู้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ โดยมุ่งมั่นที่จะ ‘สร้างสายสัมพันธ์’ ให้เป็นที่พึ่งพิงระหว่างการเติบโตของเด็กกลุ่มเปราะบางในชุมชน
นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกับ ยัสมิน เยาวชนหญิงที่เกิดและเติบโตในชุมชนแห่งนี้ ผู้ที่ลุกขึ้นมาจากเส้นทางชีวิตอันจำกัด เธออาสาเป็นผู้นำเด็กๆ ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น วงอ่านนิทาน แต่งนิทาน ช่วยดูแลเด็กในชุมชนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่บ้านหลังเล็กๆ ของทีม Smile-lay Club และเธอก็ยังมีความฝันที่อยากจะไปให้ถึง ไม่ต่างจากเด็กและเยาวชนอีกหลายคนในประเทศนี้
ในพรมแดนของการเติบโต ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก เด็กเหล่านั้นมีพื้นที่ในการวิ่งเล่นและเรียนรู้ชีวิตอันเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายนี้อย่างไรบ้าง แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่พวกเขาจะมีความฝันและสามารถมองหาความเป็นไปได้อื่นๆ ในชีวิต นอกจากการเติบโตไปเป็นแรงงานเหมือนผู้ปกครองของพวกเขาในลูปเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ออกไปวิ่งเล่นกัน (ที่ไหน)
“เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพักผ่อน มีเวลาพักผ่อน เข้าร่วมกิจกรรมและการละเล่นทางสันทนาการที่เหมาะสมตามวัย และมีส่วนร่วมอย่างเสรีในทางวัฒนธรรมและศิลปะ รัฐมีหน้าที่เคารพและส่งเสริมสิทธิเด็ก โดยสนับสนุนโอกาสที่เหมาะสมเท่าเทียมกันสำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ศิลปะ สันทนาการ และการพักผ่อนหย่อนใจ”
นี่คือใจความหลักในอนุสัญญาข้อที่ 31 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Rights of the Child) ลงนามในปี 1989 ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเด็กของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และหนึ่งในประเทศที่ลงนามนั้นคือ ‘ประเทศไทย’
การเล่นของเด็กนับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิต ที่พวกเขาจะได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เรียนรู้คนรอบข้างผ่านการเล่น เรียนรู้วินัย การปรับตัว ความยืดหยุ่น การรู้จักตัวเองมากขึ้นตามพัฒนาการ และก่อร่างสร้าง ‘ตัวตน’ ของตัวเองขึ้นมา ในช่วงยามการเติบโตของเด็กหนึ่งคน การได้เล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ตุ่นจาก Smile-lay Club ฉายให้เราเห็นประเด็นการเล่นในระดับ ‘พื้นที่การเล่น’ ของเด็กในชุมชนอิสลามแม่สอดแห่งนี้ที่ค่อนข้างจำกัด ด้วยรูปแบบครอบครัวที่พ่อแม่ไปทำงานตลอดทั้งวันและมีสถานะยากจน ทำให้เด็กต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวระหว่างวัน
“ตอนนั้นเราคิดว่า ทำไมเราต้องมีพื้นที่อย่าง Smile-lay ให้เด็ก พอเรามาทำงานกับเด็กก็พบว่า จริงๆ แล้วเด็กในชุมชนไม่มีที่ไหนให้ไปเล่นเลย ที่เล่นของเขาคือท้องถนน ไม่มีความปลอดภัย ทั้งยังมีการรวมกลุ่มเสี่ยงสู่ปัญหาเรื่องความรุนแรง หรือเรื่องยาเสพติดอีก” ตุ่นสะท้อนประเด็นนี้ให้เห็นภาพมากขึ้นผ่าน ‘นิทรรศการภาพถ่าย โดยเด็กหญิงชาวพม่ามุสลิม ชุมชนอิสลาม อําเภอแม่สอด จังหวัดตาก’ ที่จัดทำขึ้นในปี 2562 สนับสนุนโดย มูลนิธิผู้หญิงองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสหภาพยุโรป (EU) ด้วยการพาเด็กๆ ทำกิจกรรมเรียนรู้ตัวเอง แล้วเดินทางสำรวจชุมชน เพื่อสะท้อนเรื่องราวและปัญหาออกมา แล้วนิทรรศการนี้ก็ทำให้ได้เห็นว่า พื้นที่เล่นหรือพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตเพื่อเติบโตขึ้นมานั้น มีตั้งแต่ท่อน้ำ บ่อเก็บน้ำ คลองชลประทานที่เต็มไปด้วยขยะ ไปจนถึงตึกร้าง ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาด้านสุขภาวะอย่างชัดเจน และแม้เวลาจะผ่านมาหลายปีจากนิทรรศการครั้งนั้น สภาพของพื้นที่เหล่านั้นก็ยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ภาพบ่อน้ำ โดยซาฮีดา อายุ 15 ปี “ในชุมชนของหนูมีบ่อน้ำแค่บ่อเดียว ชาวบ้านกว่า 200 ครอบครัวมาใช้น้ำที่นี่ ถึงจะมีคนใช้น้ำเยอะแต่น้ำก็ไม่เคยแห้ง คนที่มีเงินจะต่อปั๊มน้ำจากบ่อน้ำเข้าบ้านตัวเอง คนที่ไม่มีเงินต้องตักน้ำและขนไปที่บ้าน บางวันมีคนไปตักน้ำเยอะ น้ำในบ่อจะขุ่น มีฝุ่นตะกอนเยอะ บางวันมีเด็กซนเอากิ่งไม้ เอาปลามาปล่อยในบ่อทำให้น้ำสกปรก พ่อของหนูเป็นอาสาสมัครในชุมชนต้องเอาสารส้มมาใส่ให้น้ำใสขึ้น และทำความสะอาดบ่อเดือนละครั้ง”

ภาพคลองชลประทาน โดยวินวินโช่ อายุ 13 ปี “ภาพคลองที่เห็นตอนนี้ดูไม่ค่อยสวย เพราะเขายังไม่ได้ปล่อยน้ำ ปกติเขาจะปล่อยน้ำเดือนละครั้ง คนในชุมชนจะไปตักน้ำ ไปซักผ้า เด็กๆ ก็ชอบไปเล่นน้ำที่นี่ ถ้าเขาปล่อยน้ำทุกวันก็คงจะดี เพราะจะได้ไปตักได้ทุกวัน สะดวกกว่าไปตักน้ำจากที่บ่อน้ำ”
มากกว่าสนามเด็กเล่น ‘ข้างนอก’ คือสนามของการเติบโต ‘ข้างใน’
นอกจากสุขภาวะด้านพื้นที่หรือสถานที่การเล่น ซึ่งเป็นปัญหาที่มองเห็นด้วยตาเนื้อแล้ว เมื่อถอยออกมามองถึงสนามของการเติบโตในเลนส์ที่กว้างขึ้น ปัญหาที่ลึกเข้าไปข้างในของเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในชุมชนแห่งนี้ ยิ่งซับซ้อนลงไปอีกหลายมิติ เรียกได้ว่า ‘สนามเด็กเล่น’ เพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถปลดปล่อยหัวใจของพวกเขาให้เป็นอิสระออกมาจากปัญหาต่างๆ ได้ง่ายๆ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องความรุนแรงและความสัมพันธ์ในครอบครัว การถูกคุกคามทางเพศ ยาเสพติด การไร้สิทธิและตัวตน ไปจนถึงกรอบเกณฑ์ของสังคมรอบข้างที่จำกัดการเติบโตในช่วงเวลาสำคัญ นำไปสู่ความขาดพร่องของตัวตน ‘ข้างใน’ ทั้งการขาดการตระหนักรู้ในตัวเอง การเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ปัญหาเรื่องการสื่อสาร เป็นต้น
“การเล่นไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่หรือกายภาพเท่านั้น หลายคนพยายามมุ่งทำเฉพาะกายภาพ หรือปรับปรุงสถานที่ หรือทำสนามเด็กเล่น ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญระดับหนึ่ง แต่ที่เราคิดว่าสิ่งที่เด็กกลุ่มนี้ต้องการมากที่สุดคือ ‘เรื่องภายใน’ มันต้องมีพื้นที่ในการเติบโตหรือเรียนรู้ภายในตัวเองตามบริบทที่ยืดหยุ่นไปกับปัญหาพวกเขา เพื่อให้เขารับมือกับชีวิตที่ยากนั้นได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสถานที่ คือ ‘คน’ เด็กๆ ต่างต้องการการเอาใจใส่ ต้องการคนที่อยู่กับเขาและเห็นตัวตนของเขา เราเลยพยายามมีครู มีเพื่อนเด็กอาสาสมัครมาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เวลาที่เด็กเข้ามาทำกิจกรรม เขาจะได้สร้างสายสัมพันธ์ขึ้นมาด้วย เพื่อให้ตัวเขาเองได้รู้สึกว่า เขามีใครสักคน”
ตุ่นยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการวางรากฐานข้างในให้กับเด็กๆ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ได้ผลักดันให้เด็กคนหนึ่งไปทดลองฝึกงานในร้านทำผม เพื่อจะได้เห็นโอกาสของงานที่หลากหลายขึ้น แต่ปรากฏว่าเด็กคนนั้นทำได้ไม่นาน
“เด็กของเรายังขาดวินัย ขาดความตั้งใจ เพราะพวกเขาถูกทำให้ self-esteem ต่ำมาตั้งแต่เด็กๆ พวกเขายังรู้สึกว่าต้องใช้ชีวิตตามยถากรรม เราเลยต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้แข็งแรงก่อน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สะท้อนกลับไปให้พวกเขาสามารถจัดการตัวเองได้”
ตุ่นเล่าว่า การมองเห็นความเป็นไปได้ในชีวิตตัวเองของเด็กๆ ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขชีวิตและการเติบโตของพวกเขามาอย่างซับซ้อน นอกจากเรื่องความยากของการได้สิทธิเพราะการไม่มีบัตรประจำตัวแล้ว ความแข็งแรงข้างในใจที่จะใช้รับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงความเชื่อมั่นในการมองหาความเป็นไปได้ในการเติบโตด้านอาชีพ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายพอกัน
ไม่เพียงเท่านั้น เส้นทางชีวิตที่พวกเขาเคยพบเจอจากรุ่นสู่รุ่นจนเคยชิน ก็เป็นกรอบอันแน่นหนาที่ทำให้เด็กๆ เห็นความเป็นไปได้ในชีวิตเพียงการอยู่ในลูปของการเป็นแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย พอเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นอายุราว 13 – 15 ปี หลายคนก็เริ่มต้องไปทำงานหาเงิน กลายเป็นแรงงานเด็ก เด็กผู้หญิงหลายคนหากไม่เข้าไปเป็นแรงงาน ก็อาจถูกบังคับให้แต่งงานมีครอบครัว หรือบางคนก็หลุดร่วงไปอยู่ในเส้นทางที่เสี่ยงและเป็นอันตราย ดังนั้น ช่วงเวลาของการได้เป็นเด็ก ได้เรียนรู้ ได้รับการศึกษา ได้ค้นหาตัวเองแบบที่เด็กและเยาวชนคนหนึ่งควรจะได้รับ จึงหดหายลงไป เหลือเพียงการเป็นแรงงานในโรงงานที่พ่อแม่อาจทำงานอยู่ ถ่ายทอดกันไปเป็นรุ่นๆ
“สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนได้ก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับสถานะทางกฎหมาย สถานะบุคคล สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มั่นคงมาก ถ้าเขามีบัตร เขาก็สามารถหางานที่ดีกว่านี้ได้ หรือถ้าเขามีการศึกษาที่ดี เขาก็จะมีทางรอดได้ เราจึงพยายามคิดว่าทำอย่างไรให้เด็กได้รับการศึกษา หรือได้เข้าถึงการเรียนรู้ และมีแรงที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ”
“เราพยายามพาเด็กที่เข้ามาไปเจอคนโน้นคนนี้ ให้เจอโลกทัศน์ใหม่ๆ ถ้าเขาไม่เคยพบเจอคนอื่นๆ ที่เป็นแบบอย่างที่ดี หรือมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ นอกจากชีวิตที่เป็นอยู่เลย เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นได้แค่นี้แหละ ฉันก็ทำงานโรงงานเชือดไก่เหมือนพ่อ ซึ่งเด็กที่เราเห็นหลายคนเป็นแบบนั้น ช่วยพ่อเชือดไก่ในโรงงานเชือดไก่ตั้งแต่เล็ก สุดท้ายเขาก็ทำงานในโรงงานเชือดไก่”
โตขึ้นฉันอยากเป็น…. ความฝันที่มีตัวตนอยู่ ‘จริง’ ในโลกไร้ตัวตน
“หนูคิดตลอดเลยว่า ถ้าหนูโตมา หนูจะทำยังไง จะไปทำงานที่ไหนดี หรือสุดท้ายต้องไปทำงานเย็บผ้า เพราะในหัวหนูเจอมาแต่แบบนี้ มีแต่แบบนี้”
บางเสียงบอกเล่าจากข้างในของ ‘ยัสมิน’ เยาวชนหญิงอายุ 19 ปี ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่มีพี่น้องร่วมกัน 4 คน เธอเป็นลูกคนที่ 3 มีพี่ชาย 2 คน น้องสาว 1 คน พี่ชายคนโตมีครอบครัวแล้ว ส่วนพี่ชายอีกคนย้ายไปกรุงเทพฯ เพื่อทำงาน แต่ก็ยังไม่ได้งาน “พอพี่หนูตกงาน อยู่กับเพื่อนต้องจ่ายค่าบ้านด้วย หนูต้องทำงานส่งไปให้ กลายเป็นปัญหาของหนูด้วย” ยัสมินเล่าถึงสถานการณ์ครอบครัวในปัจจุบัน
ตอนเป็นเด็กอายุประมาณ 8 ขวบ พ่อออกไปทำงานกรุงเทพฯ “พวกหนูกับแม่ต้องอยู่ที่นี่ พ่อก็ส่งเงินมาบ้าง ไม่ส่งมาบ้าง เขาไปกับนายหน้า ไม่มีบัตร เป็นคนรับเหมา”
ช่วงเวลาที่พ่อไปทำงาน ยัสมินได้เข้าเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ อยู่พักหนึ่ง ก่อนพ่อจะให้นายหน้ามาพาเธอเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน “ตอนนั้นมีโรงเรียนไทยในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้ๆ หนูบอกพ่อว่า หนูอยากเรียน พ่อก็พาไปสมัคร พอไปสมัครเขาก็ไม่รับ เขาบอกว่าหนูไม่มีใบเกิดไทย แต่หนูเกิดที่นี่ มีใบเกิดคลินิกแม่ตาว เขาก็บอกว่า ถ้าไม่ใช่ใบเกิดไทยก็ไม่รับ หนูเลยไม่ได้เรียนไป 2 ปี แต่สุดท้ายก็ได้ไปเรียนภาษาในโรงเรียนศาสนาอิสลามใกล้ๆ ที่นั่นมีครูพม่าคนหนึ่งเขาสอนภาษาพม่า เลยทำให้หนูเขียนและอ่านภาษาพม่าได้ตั้งแต่ตอนนั้น”
พออยู่กรุงเทพฯ ไปช่วงหนึ่ง ย่าก็ไม่สบาย ทำให้พ่อพาทุกคนกลับมา ตอนนั้นเธออายุประมาณ 12 ปี และได้ไปสมัครเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ อีกครั้ง แต่พอเรียนไปได้สักพัก ครอบครัวก็จะให้ลาออกจากโรงเรียน ด้วยปัญหาในครอบครัวและไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เพื่อนเลยชวนยัสมินไปที่ Smile-lay Club เพื่อปรึกษาและหาทางออกกับคุณครูในศูนย์ เพราะยัสมินเองก็ยังอยากเรียนอยู่ จนในที่สุดจึงหาทางในการเรียนต่อได้ โดยสมัครเข้าเรียนในศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัย แม่สอด
“หนูเริ่มมองเห็นทางจากที่นี่ จากการได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งกิจกรรมศิลปะ กิจกรรมควบคุมตัวเอง ป้องกันตัวเอง หนูไม่เคยเจอแบบนี้ในชีวิตเลย และบางทีที่นี่ก็พาไปที่ต่างๆ ไปเจอกับคนข้างนอกเยอะมาก ทำให้หนูเห็นว่า มีงานที่เราสามารถทำได้เยอะเลย และหนูก็ได้จับพู่กันเป็นครั้งแรก ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนเรากำลังได้ลองสิ่งใหม่ๆ รู้สึกมีความสุข การวาดรูปทำให้หนูมีสติมากขึ้น มันพาไปอีกโลกหนึ่ง โลกที่ไม่มีใคร และไม่มีความเครียด ทำให้รู้สึกว่าฉันโชคดีมากเลยที่ได้มาที่นี่ แล้วการได้คุยกับครูก็เหมือนได้ครอบครัว รู้สึกอบอุ่น”
การได้มีพื้นที่การเล่น พื้นที่การเรียนรู้ การได้มีโมงยามในการทำสิ่งใหม่ๆ ไปจนถึงการได้ลองเป็นผู้นำในกิจกรรมต่างๆ และการได้ค้นหาตัวเองในพื้นที่ที่รู้สึกปลอดดภัย เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เธอเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ยัสมินอธิบายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ก่อนที่เธอยกมือข้างขวาขึ้นมา แล้ววางมือไปที่หัวใจของเธอพร้อมเน้นย้ำต่ออีกว่า
“หนูพูดจริงๆ จากใจ ที่นี่ทำให้หนูกล้าที่จะไปต่อ…หนูอยากจะไปต่อ”
ปัจจุบันยัสมินก็ยังคง ‘ไปต่อ’ อย่างที่เธอว่าจริงๆ เธอเรียนจบและได้รับใบประกาศวุฒิ ม. 3 จากศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัย แม่สอด แม้ว่ากว่าจะได้ใบจบนี้มาจะต้องใช้เวลาและเรี่ยวแรงไม่น้อยในการติดตาม ส่วนตอนนี้เธอก็ยังเรียนต่อในระดับสูงขึ้น ที่ศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัยแห่งเดิม พร้อมกับได้เข้าไปทำงานในบทบาทของล่ามและผู้แปลภาษาพม่า-ไทยในมูลนิธิเพื่อการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education Foundation – Mae Sot, Thailand) และทำกิจกรรมอาสาให้เด็กๆ ในชุมชนตามโอกาสและเวลาว่างเสมอ
เธอยังไปต่อและมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยให้ได้ แม้จะรู้สึกท้อแท้อยู่มากทีเดียวกับสถานะบุคคลที่ยังคงไร้ตัวตนในระบบ “หนูท้อมากกับการตามบัตรมา 3 ปี แล้วตอนนี้หนูก็ตามมายังไม่ได้ หนูกลัวว่าจะไปเรียนต่อมหา’ลัยไม่ได้ พอไปตามที่อำเภอเขาก็ดูไม่ค่อยสนใจ แต่หนูจะไม่หยุด จะตามไปเรื่อยๆ”
เมื่อถามถึง ‘ความฝัน’ ที่เธอกำลังจะเดินทางไปต่อให้ถึงว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เธอก็ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นและนัยตาเป็นประกาย ราวกับไม่มีกำแพงใดๆ กั้นกลางระหว่างความฝันนั้นกับชีวิตของเธอได้
“ตอนเด็กๆ หนูเคยฝันอยากเป็นหมอ แต่พอโตมาก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ พอรู้ว่าหนูไม่เก่งด้านนี้ เลยไม่แน่ใจว่าจะไปต่อรอดไหม และงานที่หนูทำตอนนี้ก็ไม่ใกล้เคียงกับอาชีพที่หนูใฝ่ฝันตอนเด็กเลย เลยคิดว่าถ้าทางนั้นไปไม่ได้ อาจจะลองไปทางนี้ คือ การทำงานในองค์กรที่ช่วยเหลือเด็กๆ ด้านการศึกษา เพราะว่าตอนแรกหนูไม่ได้เรียน ได้เข้าเรียนก็ช้า ไม่มีใบเกิด ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เหมือนเด็กหลายๆ คน เลยอยากให้เด็กที่เป็นเหมือนหนูได้เรียน”
พรมแดนของประเทศ เชื้อชาติ ศาสนา อาจมีเส้นแบ่งบางประการด้วยรูปแบบของมัน แต่เส้นแบ่งนั้นก็ไม่อาจแบ่งแยกความจริงที่ว่า เราทุกคนต่างมี ‘ความเป็นคน’ อย่างเท่าเทียมกันได้ และไม่ว่าเราจะลืมตาขึ้นมาบนแผ่นดินผืนไหนในโลก หรือกำลังเตาะแตะอยู่บนพรมแดนของประเทศใด เราก็ควรมีสิทธิที่จะได้นั่ง คลาน ลุก เดิน และเข้าถึงพรมแดนในการเรียนรู้และเติบโต เพื่อที่จะสามารถจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า และพัฒนาตัวเองต่อไปได้ด้วยก้าวที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่า หากมองด้วยสายตาแคบลงมาโดยมี ‘ขอบเขต’ ของประเทศและความเป็นชาติครอบทับอยู่ หลายคนอาจมองว่า เด็กๆ เหล่านี้มีสิทธิอะไร ทั้งที่ไม่ใช่ลูกหลานคนไทย? ซึ่งนอกจากคำตอบของคำถามนี้จะยืนยันด้วย ‘หลักการสิทธิมนุษยชนสากล’ ที่เด็กและเยาวชนทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันแล้ว คำตอบอย่างคับแคบที่สุดก็คงจะเป็น การตั้งคำถามกลับอีกสักต่อหนึ่งว่า
จะไม่ดีกว่าหรอกหรือ หากคนที่เติบโตขึ้นมาบนแผ่นดินเดียวกันกับตัวเราและลูกหลานของเรา จะเติบโตขึ้นได้อย่างดี และสามารถเป็นอีกหนึ่งกำลังที่เข้มแข็งในการลงแรง ลงความคิด ในการสร้างสรรค์สังคมนี้ให้เติบโตต่อไปด้วยกันได้