การจากไปของอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิตรถือเป็นข่าวร้ายของเหล่าคนรักหนังสือรับต้นปี ความพิเศษที่เรามักนึกถึงผลงานของอาจารย์ผูกโยงทั้งกับงานแปลวรรณกรรมเยาวชนโดยเฉพาะงานจากประเทศญี่ปุ่น และการเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกับอาจารย์เป็นการส่วนตัว แต่สูญเสียในครั้งนี้เหมือนกับการเสียผู้ใหญ่อันเป็นที่รักยิ่งของเราไป ตลอดชีวิตของเรา เราต่างเคยจับหนังสือสำคัญหลายเล่มที่อาจารย์แปล ผลงานส่วนใหญ่ที่ทั้งงดงาม อบอวลไปด้วยนุ่มนวลอ่อนหนาว เป็นงานที่เราทั้งเคยเปิดอ่าน หลายเล่มอยู่บนชั้นที่เราได้พบหน้าทุกครั้งยามเดินเตร่ในโซนวรรณกรรมเยาวชน เป็นความรู้สึกอันประหลาดที่เมื่อเราเจอกับหนังสือเด็กๆ ที่เล่าเรื่องเด็กๆ เหล่านั้น เช่น เมื่อเราเห็นปกของโต๊ะโตะจัง หรือหนังสืออีกหลายเล่มที่เราคุ้นเคย บางมุมของความรู้สึกคือเหมือนว่า เราได้พบกับผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่มาอย่างยาวนาน
โต๊ะโตะจังที่เป็นแม้เด็กเสมอมา แต่ลึกๆ แล้วเราอาจรู้สึกว่าโต๊ะโตะจังนั้นอาจจะกลายเป็นคุณยายที่ยิ้มพรายและพร้อมจะมอบความอบอุ่นและบทเรียนให้เราเมื่อกลับไปเปิดอ่าน หนังสือที่กลายเป็นผู้ใหญ่ไปพร้อมๆ กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังหนังสือเล่มนี้
ด้วยพลังโต๊ะโตะจัง ทำให้เวลาเราพูดถึงวรรณกรรมสำหรับเด็กเรามักนึกถึงงานวรรณกรรมเด็กจากประเทศญี่ปุ่นอยู่เสมอ เรานึกถึงงานแปลและการสร้างสรรค์หนังสือระดับขึ้นหิ้งของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ประณีตในทุกด้าน เป็นผลงานที่เราไม่ต้องคิดทวนเรื่องคุณภาพและมั่นใจได้ว่าเด็กๆ จะได้รับประสบการณ์จากวรรณกรรมอย่างดีเยี่ยมอย่างแน่นอน
เพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไป เราจึงขอชวนกลับไปสำรวจความสำคัญของวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่น ตั้งแต่การแปลเข้าสู่สารบบของการอ่านเขียนร่วมสมัยของไทย ไปจนถึงว่าอะไรคือพลังพิเศษของวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่น งานเขียนจากประเทศที่บอบช้ำจากภาวะสงคราม การผสมผสานปกรณัมตำนานเข้ากับมุมมองสมัยใหม่ เป็นงานเขียนที่แม้จะมีรากฐานรอยแผลแต่ก็ยังมอบความหวังและบอกกับเด็กๆ ว่า จงอยู่และเติบโตต่อไป
โต๊ะโตะจังกับ การแปลและการเติบโตขึ้นของการศึกษาภาษาญี่ปุ่นในช่วงหลังปี ค.ศ.2500
ประเด็นเรื่องความรับรู้ต่อวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นของเราสัมพันธ์กับวงการการแปลและวงการการศึกษาภาษาต่างประเทศในสังคมไทยเป็นสำคัญ ซึ่งในการที่เราจะมีงานเขียนจากภาษาใดๆ เข้าสู่สารบบวรรณกรรมการอ่านเขียนของไทยนั้นย่อมสัมพันธ์กับบริบทการเกิดขึ้น ในงานศึกษา การอุปถัมภ์การแปลหนังสือภาษาญี่ปุ่นในไทยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ช่วง ค.ศ.1970-1980 ชี้ให้เห็นว่าความเฟื่องฟูของการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นสัมพันธ์ กับการเติบโตขึ้นของภาควิชาภาษาญี่ปุ่นโดยเฉพาะที่คณะอักษรศาสตร์
การเข้ามาสนับสนุนทุนขององค์กรเช่นสมาคมนานาชาติเพื่อความรู้ทางการศึกษา ประเทศญี่ปุ่น (International Society for Educational Information, Inc.) หรือการสนับสนุนงานแปล ในโครงการของ UNESCO Collection of Representative Works และแน่นอนการแปลโต๊ะโตะจังที่ทำให้วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นกลายเป็นกระแสในบ้านเรา
ในช่วงหลังยุค 2500 เป็นช่วงที่วงการการศึกษา และอุดมศึกษาของไทยกำลังเบ่งบาน ในการศึกษาด้านภาษาเองมีการเปิดวิชาภาษาต่างประเทศขึ้นในหลายมหาวิทยาลัย ในตอนนั้นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถือเป็นคณะที่บุกเบิกด้านการสอนภาษาต่างประเทศ ในช่วงก่อนปี ค.ศ.2500 เริ่มเปิดเป็นวิชาเลือก และค่อยๆ กลายเป็นสาขาวิชาเอกให้นิสิตเลือกเรียนได้ มีนิสิตเอกญี่ปุ่นรุ่นแรกในปี ค.ศ.2516 ในยุคนั้นจึงค่อยๆ ผลิตบุคลากรด้านภาษาขึ้น โดยนอกจากการเปิดสอนในระดับอุดมศึกษาอย่างจริงจังแล้ว ยังมีการให้ทุนการศึกษา ซึ่งอาจารย์ผุสดีเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เดินทางไปศึกษาด้านวรรณกรรมเยาวชนและใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นกว่า 10 ปี
ในแง่แวดวงวรรณกรรม จุดเปลี่ยนสำคัญของวรรณกรรมญี่ปุ่นแปลไทยคือเด็กหญิงโต๊ะโตะจังที่แปลออกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ก่อนหน้านี้ในบ้านเราก็มีการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ เช่น ยูเนสโก ผู้แปลและคัดเลือกเรื่องจึงมักเป็นนักวิชาการที่มักเลือกงานสำคัญๆ เป็นงานชิ้นเอก หรืองานยุคหลังสงครามโลกที่ขึ้นหิ้งเป็นวรรณคดี งานแปลภาษาญี่ปุ่นฉบับภาษาไทยยุคแรกๆ จึงค่อนข้างจำกัดวงของผู้สนใจและผู้อ่าน แต่การสนับสนุนทุนนี้ทำให้สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เริ่มแปลและตีพิมพ์ผลงานภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น
จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1980 หรือราวปี ค.ศ.2524 ที่มีการแปลโต๊ะโตะจังออกเป็นภาษาไทย ในตอนนั้นใช้ชื่อสำนักพิมพ์กะรัด ก่อนจะเป็นที่รู้จักในชื่อสำนักพิมพ์ผีเสื้อในเวลาต่อมา การแปลโต๊ะโตจังหรือการเลือกแปลวรรณกรรมเยาวชนนี้ถือเป็นการแปลภาษาญี่ปุ่นชุดแรกๆ ที่แปลโดยไม่มีการสนับสนุนทุน คือแปลเพื่อการพาณิชย์ และโต๊ะโตะจังก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญ เกิดกระแสความนิยมวรรณกรรมเยาวชนและวรรณกรรมญี่ปุ่นขึ้นในสังคมไทย ทำให้ในช่วงทศวรรษ 1990 มีการแปลวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยตามมาอีกมากมาย สำนักพิมพ์ต่างๆ หันมาสนใจงานจากญี่ปุ่นและผลิตงานแปลอย่างกว้างขวางและหลากหลายขึ้น
จากหนังสือภาพสู่ประเภทวรรณกรรมสำหรับเด็กๆ
วรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และแน่นอนในประเภทวรรณกรรมเองก็ค่อนข้างมีความหลากหลาย การอธิบายถึงพลังพิเศษของความเป็นวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นจึงเป็นเพียงข้อสังเกตคร่าวๆ จากบริบทเฉพาะของงานเขียนอ่านที่มีผู้อ่านเป็นเด็กๆ เป็นสำคัญ
ญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งดินแดนที่มีผลงานสำคัญเด็ก อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่โบราณกาล หนังสือเด็กที่สัมพันธ์ทั้งกับงานเขียนและงานภาพประกอบ ขอย้อนไปได้ตั้งแต่ต้นยุคเมจิหรือราวทศวรรษ 1860 และ 1890 ยุคที่ญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างยุคดั้งเดิมและก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในตอนนั้นญี่ปุ่นมีการแต่งเหมือนนิทาน นิทานภาพ หรือกระทั่งมีหนังสือที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและมีภาพประกอบ
ด้วยบริบทและเทคโนโลยีเฉพาะของญี่ปุ่นคือเทคนิคการใช้ภาพพิมพ์ไม้ ทำให้งานศิลปะ งานวรรณกรรมในตอนนั้นก็เลยสัมพันธ์ปะปนกันทั้งภาพและเรื่องราว ตรงนี้เองที่ในยุคต่อมางานหนังสือเด็กของญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ไปสู่งานภาพประกอบที่ใช้เทคนิคสีน้ำแบบดั้งเดิมจนกลายเป็นซิกเนเจอร์ของหนังสือเด็กจากญี่ปุ่นที่น้อยแต่มากในเวลาต่อมา
ในแง่ของเรื่องราว จริงอยู่ว่าญี่ปุ่นเองก็เหมือนหลายประเทศคือก็มีนิทาน มีเรื่องเล่าที่เล่าให้เด็กๆ ฟัง กระทั่งมีงานนิทาน หนังสือภาพอยู่แล้ว แต่คำว่าวรรณกรรมเยาวชนและวรรณกรรมสำหรับเด็กอย่างจริงจังเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นช่วงที่ความรู้สมัยใหม่เริ่มสถาปนาขึ้น นักวิชาการญี่ปุ่นเองก็เริ่มมีการถกเถียงในประเด็นเรื่องวรรณกรรมสำหรับเด็ก มีการกลับไปทบทวนพวกเรื่องเล่าหรือนิทานของเด็กๆ พร้อมกับมีการรวบรวมและตีพิมพ์วรรณกรรมสำหรับเด็กที่รวบราวงานจากต่างประเทศทั้งระดับคลาสสิกและงานร่วมสมัยขึ้นในปี ค.ศ.1950 นั้นเอง ตรงนี้ทำให้มองเห็นว่า มีงานสำหรับเด็กอ่านโดยเฉพาะ พร้อมๆ กันนั้น วรรณกรรมสำหรับเด็กที่เขียนโดยคนญี่ปุ่นเองเป็นงานร่วมสมัยก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
รวดร้าวอย่างมีความหวัง เรียบง่ายอย่างแน่นหนัก
ดังนั้นตามไทม์ไลน์ทั้งการเกิดขึ้นของการเขียนอ่านสมัยใหม่ การนำเข้าประเภทวรรณกรรมแบบใหม่คือวรรณกรรม และแน่นอนการแพ้สงคราม ทำให้งานเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กของญี่ปุ่นนั้นทั้งเกิดขึ้นในภาวะบาดแผลของสงคราม และเขียนขึ้นให้เด็กๆ ที่กำลังอยู่ในบรรยากาศทั้งสูญเสียและสิ้นหวังจากสงคราม และสับสนกับการอยู่ในระหว่างการเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ภาวะที่มีการปะทะกันของความเชื่อดั้งเดิมและความรู้แบบโลกสมัยใหม่
ตรงนี้เองเราอาจพออนุมานได้ว่า คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของวรรณกรรมเด็กของญี่ปุ่น ที่แน่นอนว่าเขียนขึ้นโดยมีภาวะรอบด้านที่ทั้งหม่นเศร้าคือได้รับผลกระทบจากสงคราม ผู้เขียนหลายคน เช่น ซาคาเอะ ทสุโบอิ ผู้เขียนเรื่องยี่สิบสี่ดวงตา หรือ ฮิเดะโอเอะ ผู้เขียน ความทรงจำเดือนสิงหา ที่ทั้งสองเล่มคืองานวรรณกรรมเยาวชนชิ้นสำคัญของญี่ปุ่นล้วนเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์สงคราม หรือรู้จักพูดคุยกับเหยื่อสงครามทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเรื่องที่เราคุ้นๆ ก็ เช่น สุสานหิ่งห้อย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเรื่องราวที่ว่าด้วยความเลวร้ายของสงคราม ที่ในที่สุดแล้วถูกเล่าออกมาอย่างอ่อนหวาน งดงาม
ส่วนหนึ่งนั้น ด้วยบริบทแม้ว่าจะเลวร้ายแค่ไหน วรรณกรรมเยาวชนที่มักเล่าเรื่องของเด็กๆ และเขียนให้เด็กๆ อ่านนั้น ในที่สุดผู้เขียนก็ย่อมต้องเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างงดงาม ซึ่งในกระบวนวรรณกรรมญี่ปุ่นนั้นนอกจากจะเล่าถึงมุมมองต่อสงคราม ผลกระทบของสงครามแล้ว บางส่วนก็ยังพูดถึงเรื่องมหัศจรรย์ที่ยังดำรงอยู่แม้ว่ามีมุมมองและวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และโลกสมัยใหม่เข้ามากำกับแล้ว
ความพิเศษที่น่าประหลาดใจของวรรณกรรมของญี่ปุ่นคือการอยู่ตรงกลาง ตรงกลางระหว่างความหนักแน่นของเรื่องราว และความหนักหนาของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดโดยเรียบง่าย แต่ก็ยังทรงพลัง โต๊ะโตะจังเองก็ป่วยไข้ หลายเรื่องวรรณกรรมเยาวชนเต็มไปด้วยความสูญเสียและความตาย แต่ทั้งหมดนั้นถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการเรียนรู้ และการกำชับให้มีชีวิตต่อไป
นอกจากนี้ อาจารย์ผุสดีเคยให้สัมภาษณ์ถึงแก่นบางประการที่น่าสนใจของวรรณกรรมญี่ปุ่นอีกประการว่า งานเขียนของญี่ปุ่นนั้นสั่งสอน แต่ไม่ได้เน้นสั่งสอนจนมากเกินไป บางเรื่องสอนเพียงจุดเล็กๆ เช่นการช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า เป็นการสอนที่อยู่กับความจริง เน้นความน้อยแต่ให้ผลมาก
อ้างอิงข้อมูลจาก