18 มีนาคม 2560 เป็นวันที่วงการดนตรีโลกได้สูญเสีย Chuck Berry นักร้อง มือกีตาร์ นักแต่งเพลง หนึ่งในผู้กลั่นกรองและพัฒนาดนตรีที่เรียกว่า rythm and blue ที่โลกต่างลุ่มหลงและใช้ปลดปล่อยตัวเองสู่อิสระภาพทางอารมณ์อย่าง rock’n roll
ศิลปิน ดาราฮอลลีวูด และแฟนเพลงต่างร่วมไว้อาลัย รวมไปถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง Bill Clinton เองก็กล่าวชื่นชม Chuck Berry “เขาทำให้เท้าของเราก้าวขยับและทำให้หัวใจของเราเบิกบาน เขาได้เปลี่ยนประเทศของเรา และประวัติศาสตร์ของดนตรียอดนิยมตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา” พลังแห่งดนตรีนั้นไม่ได้แค่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีเท่านั้น แต่มันยังเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในมิติอื่นๆ อีกด้วย
ไปดูกันว่ามีเพลงอะไรอีกบ้างที่ถูกใช้เพื่อขับเคลื่อนโลกให้หมุนไปและให้น่าอยู่ต่อ
What’s Going On – Marvin Gaye
ย้อนกลับไปที่ปี 1960 อันเป็นจุดกำเนิดความคิดแรกเริ่มของ What’s going on ตอนนั้น Obie Benson อยู่ในซานฟรานซิสโก เขากำลังนั่งรถบัสเพื่อเดินทางทัวร์กับวงของตัวเองที่ชื่อ Fours Top ในขณะนั้นเอง เขาเห็นกลุ่มประท้วงต่อต้านสงครามอยู่บนถนน และภาพต่อมาคือตำรวจกำลังทำร้ายเหล่าเด็กหนุ่มกลุ่มนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าทำให้ Benson เกิดความสงสัยอย่างมาก “มันเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ทำไมพวกเขาถึงถูกส่งมาอยู่ห่างไกลบ้านขนาดนี้ ทำไมตำรวจต้องทำร้ายเด็กหนุ่มบนถนนอย่างนั้นด้วย” Benson นำสิ่งที่เห็นมากลั่นและกรองออกมาเป็นเพลง ร่วมกับเพื่อนของเขาผู้เป็นนักแต่งเพลงของ Motown ชื่อ Al Clelevand เพื่อนำไปร้องกับ Four Tops
แต่ทว่า Four Tops ไม่สนใจเพลงที่เป็นการประท้วงหรือเสียดสีสังคม เพลงนี้จึงตกมาเป็นของ Marvin Gaye ที่รักเพลงนี้มาก แม้เพลง What’s going on จะไม่ได้ทำให้โลกสงบสุข แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่ฟังอย่างตั้งใจได้ฉุกคิดและกลับมาทบทวนถึงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก
จงภูมิใจ – ชัยภูมิ ป่าแส
ปัญหาการเรียกร้องสิทธิ์ของคนไร้สัญชาติเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามายาวนาน การที่ไม่สัญชาติไทย ทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ์หลายๆ อย่าง ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เด็กหนุ่มชาวเผ่าลาหู่ จึงแต่งเพลง ‘จงภูมิใจ’ ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้ทั้งตัวเองและคนไร้สัญชาติคนอื่น และเพื่อสื่อสารว่าคนไร้สัญชาตินั้นไม่ใช่คนที่ไร้ตัวตน แต่เป็นคนที่มีชีวิตเหมือนกัน ซึ่งนอกจากการแต่งเพลงนี้แล้วนั้น ตัว ‘ชัยภูมิ’ ยังเป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนต้นกล้า และเรียกร้องเรื่องสิทธิ์ของคนไร้สัญชาติ
“เรื่องสถานะส่วนบุคคล ต้องยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายแดนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสถานะส่วนบุคคล ผมเองขณะนี้ก็ยังไม่มีสถานะบุคคล ทั้งที่เกิดในประเทศไทย เมื่อไม่มีสัญชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตทางอำเภอ เวลาจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้สิทธิเหมือนคนไทย ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง ส่วนแรงจูงใจในการเรียนสูงๆ ก็ไม่มี เนื่องจากจบมาสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้าทำงานในหน่วยงานของราชการได้ จึงอยากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย”
Imagine – John Lennon
เมื่อเกิดวิกฤติทางสังคมขนาดใหญ่จนทำให้ผู้คนรู้สึกเรียกร้องหาสันติภาพ เพลง Imagine ของ John Lennon มักถูกนำมาเปิดเสมอ ด้วยเนื้อหาของเพลงที่จินตนาการถึงสันติภาพและโลกแบบยูโธเปีย เพลงนี้ที่สร้างชื่อในฐานะนักร้องเดี่ยวให้กับ John ถูกแต่งขึ้นในปี 1960 เป็นยุคของสงครามเย็น มีการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เหตุการณ์วิกฤติขีปนาวุธในคิวบา หรือสงครามเวียดนาม และการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา
เพลง Imagine ลองให้ผู้คนจิตนาการถึงโลกที่น่าอยู่ ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน ไม่มีการเข่นฆ่ากัน โลกที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โลกนั้นน่าจะน่าอยู่แค่ไหน แต่ก็มีบางคนบอกว่าเพลงนี้เป็นแนวคิดของพวกคอมมิวนิสต์ บ้างก็บอกว่าเป็นแนวคิดของพวกโลกสวย แต่นั่นเป็นเพียงจินตนาการของ John Lennon แล้วคุณล่ะ จินตนาการโลกของเราไว้แบบไหน?
แสงดาวแห่งศรัทธา – จิตร ภูมิศักดิ์
แม้ชีวิตจะไร้ความหวัง แต่เราก็ยังต้องมีความหวัง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เป็นเพลงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย ที่มีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด แต่งไว้ในสมัยที่เขาอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหาสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักร และกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับความหวังและความศรัทธา โดยในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้นเขายังมีความหวังว่าสุดท้ายแล้วจะสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อีกครั้ง เขาเปรียบดาวกับความหวัง และพายุเป็นอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต
แสงดาวแห่งศรัทธาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน กลายเป็นเพลงที่มักนำมาร้องปลุกใจมื่อเกิดความผันผวนและความอยุติธรรมในสังคม เพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกมีความหวัง
Where is the love? – Black eye peas
หากถามว่า timeline ประวัติศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เคยผ่านเหตุการณ์อะไรที่ลืมไม่ลงบ้าง 9/11 ก็จะคงติดโผนี้อย่างไร้ซึ่งข้อกังขาใดๆ Where is the love? คือคำถามจากบทเพลงชื่อเดียวกัน จากกลุ่มศิลปิน hip-hop ทรงอิทธิพลวงหนึ่งของโลกอย่าง Black eye peas ที่แต่งเพลงนี้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้า ด้วยความหวังให้ความรักเกิดขึ้นบนโลกอีกครั้งนึง “เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา มีคนตาย เด็กเล็กร้องไห้ ความรักอยู่ที่ไหน”
ล่าสุดในปี 2016 Where is the love? กลับมาทำหน้าที่ของมันอีกครั้งในบริบทที่ต่างออกไป ซึ่งได้มีการแก้ไขเนื้อร้องใหม่และมีศิลปินมาร่วมขับร้องกันหลายคน อะไรเกิดขึ้นกับโลกของเราอีกครั้ง คำตอบชวนน่าเศร้าใจของคำถามนี้ก็คือประเด็น ‘ผู้อพยพ’ ที่หลายชีวิตต้องจากไปในการเดินทางสู่ดินแดนที่พวกเขาคาดหวังที่จะได้มีชีวิตใหม่
‘Strange Fruit’ – Billie Holiday
Strange Fruit หรือผลไม้อันแปลกประหลาด เป็นที่รู้จักจากการขับร้องและบันทึกเสียงโดย Billie Holiday นักร้องแนวแจ็สผิวสีในตำนาน เป็นเพลงที่ต่อต้านการเหยียดผิวและพูดถึงภาพการแขวนคอคนผิวดำที่ทำกันอย่างกว้างขวางทางตอนใต้ของสหรัฐฯยุคค้าทาส ในเพลงกล่าวถึง ‘ผลไม้อันแปลกประหลาด’ เกรอะกรังไปด้วยเลือดที่ห้อยอยู่บนต้นไม้ ผลไม้ประหลาดคือภาพคนผิวดำที่ถูกแขวนคออย่างทารุณ บทเพลงดังกล่าวดัดแปลงมาบทกวีของ Abel Meeropol ที่เขียนขึ้นในปี 1937 เพื่อต่อต้านการแขวนคอคนผิวดำ ก่อนที่จะถูกนำมาขับร้องและบันทึกเสียงโดย Billie Holiday ในปี 1939
ด้วยพลังเสียงของเขาทำให้บทเพลงดังกล่าวทรงพลัง และเต็มไปด้วยความรู้สึกหลอกหลอนลึกลับ จากนั้น Strange Fruit ได้กลายเป็นเพลงสำคัญที่มีความหมายทางการเมืองของคนผิวสี มีนักร้องระดับตำนานเช่น Nina Simone นำกลับมาร้องใหม่ และบทเพลงดังกล่าวได้รับการจารึกไว้ใน Grammy Hall of Fame และอยู่ในรายชื่อเพลงแห่งศตวรรษ (Songs of the Century) Ahmet Ertegun โปรดิวเซอร์ผู้บันทึกเพลงบอกว่า Strange Fruit ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ (civil rights movement)
We Shall Overcome
We Shall Overcome เป็นเพลงที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นเพลงประจำของการเรียกร้องสิทธิของชาวผิวดำในสหรัฐฯ ดั้งเดิมมาจากเพลงสรรเสริญในโบสถ์ (Gospel) แต่งโดย Charles Albert Tindley ต่อมาถูกปรับไปใช้เป็นเพลงเพื่อใช้ในการต่อสู้แรกเริ่มโดยกลุ่มคนงานในโรงงานบุหรี่ที่เมือง Charleston รัฐ South Carolina ในปี 1947 ฉบับที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางการในระดับชาติคือการถูกนำมาร้องอีกครั้งโดย Joan Baez ในปี 1936 ที่อนุสรณ์สถาน Lincoln Memorial ในครั้งนั้น Joan Baez ร้องเพลง We Shall Overcome เพื่อนำมวลชนกล่าว 300,000 คนในขบวนการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนผิวสี
หลังจากวลีและบทเพลงดังกล่าวได้กลายเป็นหัวใจและเพลงปลุกใจของการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐ ล่าสุดในปีที่ผ่านมามีการประท้วงของคนผิวดำต่อกรณี Black Lives Matter ก็มีการรวมตัวกัน ณ ถนนเส้นเดิมและขับร้องเพลง We Shall Overcome เพลงเดิม เพื่อต่อสู้ในประเด็นเดิม ด้วยความศรัทธาที่ว่า เราจะเอาชนะความเกลียดชังและการกีดกันทั้งหลายให้ได้สักวันหนึ่ง บทเพลงและถนนสายประวัติศาสตร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่สำคัญของคนผิวสี ที่อาจจะคงต้องเล่นซ้ำต่อไป จนกว่าจะเอาชนะได้
Bob Dylan – Master Of War
ภายหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1947 – 1991 โลกต้องบันทึกหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งในชื่อ ‘สงครามเย็น’ ผู้คนในยุคนั้นต่างรู้สึกต่อต้านและแสดงออกมาในหลายๆ รูปแบบ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘บทเพลง’ Bob Dylan ศิลปิน นักแต่งเพลง นักกวี ได้บันทึกความรู้สึกโกรธอย่างน่าประหลาดของตัวเองต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เป็นบทเพลงที่ต่อต้านสงครามเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นบทลงโทษแก่ผู้ที่สร้างสงครามขึ้นมาและไม่ยอมทำให้มันจบลงเสียที โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม
“ผมไม่เคยเขียนเพลงแนวนี้มาก่อน ไม่ได้ร้องเพลงเพื่อหวังให้ผู้คนไปตาย แต่มันก็ช่วยไม่ได้กับเพลงนี้ มันเป็นเพลงที่น่าประทับใจมาก และมันทำให้ผมรู้สึกว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง”
Til it happen to you – Lady gaga
เรื่องบางเรื่อง คุณไม่มีทางรู้สึกจนกว่าคุณจะเจอกับมันด้วยตัวเอง Lady Gaga จึงแต่งเพลง Til it happen to you ขึ้นร่วมกับนักแต่งเพลงชาวแคนาดา เพื่อมอบให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศทั่วโลก หลังจากที่ปล่อยเพลงออกมาในปลายปี 2015 Lady Gaga ได้บอกผ่านทวิตเตอร์ของเธอว่า “เราหวังว่าคุณจะรู้สึกถึงความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเราผ่านบทเพลง และอาจเป็นสุขได้เมื่อรู้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว” รายได้จากเพลงนี้ส่วนหนึ่งเธอมอบให้กับองค์กรที่ทำงานร่วมกับผู้รอดชีวิตจากการข่มขืนและทำร้ายทางเพศ
เพลงนี้ยังมีความสำคัญในแง่ของการต่อต้านการข่มขืนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ตอนท้ายของมิวสิควิดีโอยังระบุว่า ผู้หญิงหนึ่งในห้าของมหาวิทยาลัยจะถูกทำร้ายจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นสำคัญจนมีการนำมาสร้างสารคดีชื่อว่า The Hunting Ground อีกด้วย
เราจะทำตามสัญญา – คสช.
จะมีสักกี่เพลงที่สร้างความสุขให้กับคนไทย เพลงนี้สื่อความหมายว่าต้องการคืนความสุขให้กับประชาชน จากใจของหัวหน้าคณะ คสช. เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน เพื่อให้แผ่นดินที่งดงามกลับคืนมา ขอเพียงแค่ประชาชนไว้ใจและศรัทธา ด้วยเนื้อหาที่ตรงใจ ดนตรีติดหูง่าย ไพเราะ ทำให้ปีนี้คนไทยมีความสุขเป็นอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ
เป็นเพราะเพลงแหละ เนาะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/Chuck_Berryhttp
www.rollingstone.com/music/news/chuck-berrys-family
en.wikipedia.org/wiki/What’s_Going_On
en.wikipedia.org/wiki/Where_Is_the_Love
en.wikipedia.org/wiki/Strange_Fruit