เค้กสตรอว์เบอร์รี่เนื้อนุ่มเจ้าดังที่ตั้งใจจะเก็บไว้กินช่วงบ่าย พอมาเปิดตู้เย็นส่วนกลางของออฟฟิศอีกที จู่ๆ ก็หายไป แถมยังเหลือแค่เศษครีม กล่องเปล่า และโพสต์อิทชื่อตัวเองให้ดูต่างหน้าอีก
ปัญหาน่าปวดหัวอีกอย่างของคนทำงาน นอกจากเรื่องงานแล้ว คงเป็นเรื่องการถูกขโมยอาหารในออฟฟิศ เราคงรู้สึกไม่ดีแน่ๆ หากต้องมาทำงานด้วยความรู้สึกระแวงว่าจะมีใครแอบแซ่บอาหารของเราไปหรือเปล่า
ถ้าเป็นการเข้าใจผิดแล้วซื้อมาคืนก็คงไม่เป็นไร แต่หลายครั้งที่เรามักหาตัวคนร้ายไม่ได้ ถามไปก็ไม่มีใครยอมรับ การแปะชื่อบนโพสต์อิทดูเหมือนเป็นแค่กระดาษเช็ดปากให้เจ้าหัวขโมยหลังกินเสร็จ นอกจากจะต้องเสียใจที่ไม่ได้กินอาหารที่อุตส่าห์เก็บไว้แล้ว ยังต้องเสียเงินซื้อไปเปล่าๆ อีก
เมื่อการถูกขโมยอาหารในออฟฟิศกลายเป็นปัญหาที่ชวนหงุดหงิดรำคาญใจให้คนทำงานไม่น้อย วันนี้ The MATTER เลยชวนไปดูเบื้องหลังว่าพฤติกรรมนี้เป็นปัญหาเล็กๆ ที่ส่งผลกับกับเรื่องงานจริงไหม แล้วถ้าเจอเหตุการณ์นี้เรารับมือยังไงดีนะ
ทำไมบางคนถึงชอบแอบแซ่บกับอาหารของคนอื่น
“ใครแอบกินแซนด์วิชในตู้เย็นไป!” พอมีใครทวงถามอาหารที่หายไปในตู้เย็นไปเมื่อไหร่ ต้องกลายเป็นเรื่องตลกสำหรับคนอื่นๆ ในออฟฟิศทุกที และลงเอยด้วยการหาคนร้ายไม่ได้ หรือไม่ก็จบลงที่คนแอบกินไปมาขอโทษให้แล้วๆ กันไป เพราะเรื่องอาหารเล็กแค่นี้เอง
แต่สำหรับคนถูกแอบกินอาหารเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และรู้สึกหงุดหงิดใจไม่น้อย ที่รู้ว่ามีใครบางคนแอบหยิบไปกินโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ตั้งใจเตรียมมา หรือซื้อจากร้านโปรด ก็ย่อมเป็นอาหารที่เราตั้งตารอคอยจะได้กินอย่างมีความสุข ยิ่งรู้ว่าคนร้ายเป็นคนใกล้ตัวในออฟฟิศ ก็ทำให้บรรยากาศในออฟฟิศไม่น่าทำงานด้วยอีกต่อไป
แม้ว่าการขโมยอาหารจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนร่วมงาน แต่พฤติกรรมนี้ก็ยังคงอยู่ในที่ทำงานเกือบทุกที่ ดร.อาร์ท มาร์กแมน (Art Markman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาด้านมนุษย์ขององค์กรและการตลาด อธิบายเหตุผลที่ทำให้บางคนขโมยอาหารคนในออฟฟิศไว้ ดังนี้
คนที่คิดถึงผลลัพธ์ระยะสั้น: ปกติแล้วพฤติกรรมมนุษย์มักโฟกัสไปที่สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีขณะนั้นมากกว่าคิดถึงผลที่ตามมาในระยะยาว คนที่ขโมยอาหารจึงมักรู้สึกว่าสามารถหยิบได้เลยหากมีอาหารอยู่ในตู้เย็น แม้ว่าจะเป็นอาหารของคนอื่นก็ตาม เพราะหากหยิบตอนนี้พวกเขาจะได้ลิ้มลองของอร่อย และอิ่มท้องตอนนั้นเลยนั่นเอง
เชื่อว่าจะไม่ถูกจับได้: ผู้คนมักเลือกทำสิ่งที่ง่าย บวกกับสภาพแวดล้อมก็มีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นง่ายขึ้นด้วย สำหรับตู้เย็นส่วนกลางในออฟฟิศ ส่วนมากมักถูกตั้งไว้ในส่วนห้องครัว หรือพื้นที่คนไม่พลุกพล่าน จึงทำให้คนที่อยากขโมยอาหารอยู่แล้วทำได้ง่ายขึ้น อาจารย์ด้านจิตวิทยาอธิบายเพิ่มว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะโกงหรือขโมยมากที่สุด หากพวกเขาเชื่อว่าไม่มีใครมองอยู่ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า 30-60% ของผู้เข้าร่วมทดลองจะฉวยโอกาสรับเงินมากกว่าที่พวกเขาสมควรได้หากไม่มีใครคอยตรวจสอบ เช่นเดียวกับคนที่ขโมยอาหารในออฟฟิศมีแนวโน้มจะแอบกินมากขึ้นหากไม่มีใครคอยสอดส่องพวกเขา
ดังนั้นต่อให้เราจะปกป้องอาหารของเราดีแค่ไหน แต่ถ้ามีใครสักคนในที่ทำงานขาดความยับยั้งชั่งใจ หรืออยากทำเพราะไม่มีใครจับได้ สุดท้ายอาหารของเราก็คงหนีไม่พ้นการถูกขโมย และคนร้ายก็ยังคงลอยนวลอยู่ในออฟฟิศอยู่ดี
เมื่อการขโมยอาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก
การขโมยอาหารในออฟฟิศแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ห่างไกลจากเรื่องงานที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน แต่ความจริงเหตุการณ์นี้กลับส่งผลกับเราได้มากกว่าที่คิด
มีการสำรวจจาก Peapod ร้านขายของออนไลน์และบริการจัดส่ง ในปี 2016 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 3 ใน 4 หรือคิดเป็น 71% เคยถูกขโมยขนม เครื่องดื่ม หรืออาหารส่วนตัวไปจากห้องครัวส่วนกลางของสำนักงาน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการซื้ออาหารของตัวเอง
ขณะเดียวกันก็มีการสำรวจเกี่ยวกับปัญหาในที่ทำงานจาก American Express ในปี 2017 โดยมีพนักงานที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 1,061 คน พบว่าพนักงาน 1 ใน 5 หรือคิดเป็น 18% ยอมรับว่าแอบกินอาหารของคนอื่นในตู้เย็นของออฟฟิศ ซึ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
จะเห็นว่าปัญหาการขโมยอาหารไม่ใช่เพียงปัญหาเล็กๆ การขโมยอาหารส่งผลกระทบได้หลายประเด็น ทั้งเรื่องการเงิน ประสิทธิภาพการทำงาน และด้านจริยธรรม รวมไปถึงด้านสุขภาพจิตด้วย
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮุสตันทำการศึกษาเรื่องการขโมยอาหารในที่ทำงาน โดยระบุว่าพฤติกรรมนี้ถูกจัดว่าเป็นการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า (counterproductive work behavior) หรือพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายกับการทำงานในองค์กร เนื่องจากทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังและความวิตกในหมู่พนักงาน
เพราะเมื่อมีการขโมยอาหารเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาอาจส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของเจ้าของอาหารที่ถูกขโมย ต้องเจียดเงินบางส่วนไปซื้ออันใหม่มาแทน รวมถึงอาจต้องเสียเวลาส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อคอยสอดส่องดูว่าใครเป็นคนขโมยอาหาร หรือจะหาทางจับหัวขโมยนี่ยังไงดี สุดท้ายอาจนำไปสู่ความหวาดระแวงเพื่อนร่วมงาน เพราะไม่รู้เลยว่าคนร่วมงานที่นั่งข้างๆ เราจะเป็นตัวการของเรื่องนี้หรือเปล่า
ถึงเวลาจับจอมขโมยอาหาร
เมื่อการติดชื่อบนอาหารไม่ได้ผล และคงไม่มีใครยอมให้คนอื่นมากินอาหารของตัวเองฟรีๆ ตลอดไปแน่ ผู้ประสบภัยด้านการถูกขโมยอาหารจึงคิดหาวิธีจัดการกับหัวขโมยหลากหลายวิธี โดยสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองได้เลย ดังนี้
ทำให้การขโมยยากขึ้น: สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาหารถูกขโมยเพราะสามารถหยิบกินได้ง่าย ไม่ทิ้งร่องรอย ส่วนใหญ่แล้วคนที่ขโมยอาหารในออฟฟิศมักเลือกเป้าหมายที่สามารถแอบกินได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราอาจทำให้ยากขึ้นด้วยการห่อถุงพลาสติดมิดชิดขึ้น หลายชั้นสักหน่อย กะเอาว่าต่อให้มีหัวขโมย อย่างน้อยที่สุดมันก็ต้องลำบากในการแกะออกมากิน เสียเวลาไปกับการพยายามเปิดให้ได้มากที่สุด หรือพยายามเก็บไว้ในที่พ้นสายตา อย่างช่องด้านล่างสุดหรือวางไว้ลึกๆ ในตู้เย็นเพื่อปกป้องอาหารให้ปลอดภัยที่สุด
แก้เผ็ดหัวขโมย: หากแก้ที่ตัวเองแล้วยังไม่ได้ผล วิธีนี้เป็นการสั่งสอนให้หัวขโมยไม่กล้ามายุ่งกับอาหารของเราอีก เช่น แกล้งพูดดังๆ ในออฟฟิศว่า ใครหยิบน้ำหวานที่เราแช่ในตู้เย็นไว้ไปกินมั้ย มันหมดอายุแล้วว่าจะเอาไปทิ้งอยู่พอดี หรืออาจจะปรุงรสอาหารให้แซ่บจี๊ดถึงทรวง น้ำปลา พริก เกลือ คลุกเคล้าให้เข้มถึงใจ เหมือนในรายการวาไรตี้ที่ชอบดู แล้วรอสังเกตผลลัพธ์ต่อไปใครจะกระดกน้ำอึกใหญ่ล้างปาก หรือจะแอดวานซ์ขึ้นหน่อยด้วยการผสมอาหารที่ไม่น่าเข้ากันลงไปในเมนู อย่างน้อยถ้าเราไม่ได้กิน หัวขโมยมันก็ต้องไม่ได้กินด้วย!
ป้ายสีลงบนภาชนะ: หากวิธีด้านบนยังไม่ได้ผล ก็อาจถึงเวลาที่ต้องจับตัวคนร้ายให้ได้แบบคาหนังคาเขา มีกรณีตัวอย่างการจับโจรปล้นธนาคารด้วยการใช้ Dye pack หรือถุงระเบิดสี ซึ่งทำให้สีติดมือเจ้าหัวขโมยจนตำรวจสามารถตามจับได้ เราอาจใช้วิธีเดียวกันด้วยการหยดสีผสมอาหาร หรือยาม่วงลงบนภาชนะหรือถุงใส่อาหารของเรา หากมือใครมีสีแปลกๆ ก็เตรียมตัวเข้าไปเคลียร์ให้รู้เรื่องได้เลย
แจ้งหัวหน้า: วิธีที่ประนีประนอมและสมเหตุสมผลที่สุด ก็คือการแจ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะหัวหน้า แผนก HR ให้รีบมาจัดการ แต่หากยังไม่รู้ตัวคนทำ หัวหน้าก็อาจเป็นคนที่หยิบประเด็นมาพูดคุยอย่างจริงจัง หรือส่งอีเมลเตือนพนักงานทุกคนให้เคารพข้าวของ และอย่าแอบกินอาหารของคนอื่นในตู้เย็นโดยไม่ขอก่อน เพื่อให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แม้การแอบกินอาหารอาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็ถือเป็นการขโมยของซึ่งเป็นความผิดที่อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในอนาคต
อย่าลืมคิดถึงผลที่ตามมา: เมื่อเกิดการขโมยอาหารหลายคนอาจรู้สึกโกรธจนอยากแก้แค้นให้หายเจ็บใจ อย่างการตั้งกล้องถ่ายหรือวางยาที่รุนแรงในอาหาร แม้อาจดูเหมือนสะใจในช่วงแรกที่ได้เอาคืน แต่ก็อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราเดือดร้อนภายหลังได้ เพราะอาจต้องโดนแจ้งจับจากการถ่ายภาพโดยไม่ยินยอม หรือการวางยาอาจอันตรายถึงชีวิตได้หากคนขโมยอาหารมีอาการแพ้ยาตัวนั้น จากค่าอาหารไม่เท่าไหร่ อาจทำให้เรากลายเป็นคนตกงานโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเอาคืนด้วยวิธีไหน ยังไงต้องอย่าลืมนึกถึงตัวเองให้มากที่สุดนะ
หากทำทุกทางแล้วอาหารของเราก็ยังถูกขโมยซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมยังมีภาระที่ไม่สามารถโบกมือลาสังคมออฟฟิศนี้ไปได้ การเก็บอาหารไว้กับตัวเองหรือใช้ตู้เย็นเท่าที่จำเป็นก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความท็อกซิกนี้ไปได้ ก็เพราะเราเปลี่ยนนิสัยคนอื่นไม่ได้นี่นา เศร้าจัง
อ้างอิงจาก