“เห้อ โปรเจ็กต์นี้มันเหนื่อยจัง”
“โอ๊ย แค่นี้บ่นเหนื่อย ของพี่ยิ่งกว่านี้อีก”
จะดีใจไหมนะ ในวันที่เราเหนื่อยแล้ว ยังมีคนเหนื่อยกว่าเราเสมอ ไม่ว่าจะพูดอะไรไป บ่นงานขิงข่า ฝนตกรถติด หงุดหงิดเครื่องถ่ายเอกสาร ก็ยังต้องมีเสียงแว่วมาแต่ไกลว่าความลำบากที่เราเผชิญนั้น ช่างเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เขาได้เจอ ฟีลว่าอย่ามาบอกว่าของเรามันที่สุด ของเขาน่ะของจริง
แม้จะเป็นเรื่องดีๆ ก็ตาม ถูกเลขท้าย 2 ตัว ซื้อน้ำหอมมาใหม่ ตื่นเต้นกับวันหยุดที่ได้ไปต่างประเทศ เสียงตามสายก็ไม่ลดละ ตามมาจอยในวงสนทนาจนได้ อันนั้นฉันก็มี อันนี้ฉันก็เคยไป น้อยหน้าใครไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งที่ยังไม่มีใครเอาเขาไปเปรียบกับใคร ทำไมคนแบบนี้ถึงของสไลด์ตัวเองมาอยู่ในเรื่องราวของคนอื่นกันนะ
มาจอยวงสนทนานั่นไม่เท่าไหร่ แต่มาแล้วชอบมีพฤติกรรมยกตนข่มท่าน ยกย่องตัวเองพอทน ยกมาเพื่อข่มคนอื่นพอเลย ราวกับเป็นผู้ร่างพ.ร.บ.เหนือกว่าใครในทุกด้าน
แม้จะฟังดูขำขัน เขาก็แค่คนน่ารำคาญคนหนึ่ง ปล่อยให้เสียงเขาลอยไปตามลมก็คงหมดปัญหาแล้ว แต่คนโดนเข้ากับตัวอาจจะไม่ขำด้วย ยิ่งเป็นคนในที่ทำงานที่ต้องเจอกันอยู่บ่อยๆ ข่มเรื่องงานบ้างล่ะ เรื่องส่วนตัวบ้างล่ะ ความขำขันในช่วงแรก อาจก่อตัวเป็นความรำคาญ เกิดเป็นความขุ่นข้องหมองใจจนไม่อยากจะคุยด้วยเข้าสักวัน
เชื่อไหมว่าคนประเภทนี้กลายเป็นหนึ่งในนิสัยที่เพื่อนร่วมงานเอือมระอาที่สุด ผลสำรวจจาก Resumelab เกี่ยวกับพฤติกรรมที่แย่ที่สุดเท่าที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งจะเป็นได้นั้นคืออะไรบ้าง ชาวออฟฟิศก็ลิสต์ออกมาได้หลายข้อเหลือเกิน แต่พฤติกรรมที่น่าสนใจจนเราอยากหยิบมาพูดคุยมี ดังนี้ 27% มองทุกอย่างแง่ลบ 24% โกหกเป็นเรื่องเป็นราว 22% เล่าแต่เรื่องของตัวเอง 22% ขี้บ่น และ 18% รู้ไปหมดทุกเรื่อง
แม้จะไม่ได้มีเรื่องของการข่มกันโดยตรง แต่เมื่อนำพฤติกรรมหลายอย่างมาประกอบกัน ก็เข้าเค้าในเรื่องที่เราคุยกันในวันนี้ และใครที่กำลังเป็นคนนั้นอยู่ระวังหลังไว้ให้ดี เพราะจากผลสำรวจเดิมมีเสริมต่อว่า พนักงานกว่า 82% ใส่เดี่ยวกับพวกคนแสนน่ารำคาญเหล่านี้มาแล้ว
บางครั้งก็เกิดคำถามในใจ ทำไมพี่เขาถึงอยากเป็นที่หนึ่งในทุกสนามขนาดนั้นนะ หากมีใครเหนื่อย ก็ต้องเหนื่อยที่สุด หากมีใครเก่งก็ต้องเก่งที่สุด หากมีใครเคยไปไหนสักที่ มีอะไรสักอย่าง ก็ต้องทำมาก่อนใครเขา จะด้านดีด้านแย่พี่เขาเหมาหมดทุกสนาม ไม่รู้ว่าเหรียญทองเต็มบ้านที่เขาหรือยัง ว่าแต่พฤติกรรมเหล่านี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังกันนะ
จะดีหรือแย่ ทำไมเห็นคนเด่นกว่าไม่ได้?
เรามาฟังคำอธิบายในเรื่องนี้จาก โชอาคิม ไอ ครูเกอร์ (Joachim I. Krueger) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก Brown University ได้พูดถึงลักษณะนิสัยของคนชอบเบ่ง คุยโม้เนี่ย สิ่งที่ทำไปเพื่อยกระดับตนเอง ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาทำไปก็เพราะอยากสร้างความพึงพอใจให้กับตัวเองเท่านั้น และไม่ได้ต้องการอะไรกลับมาด้วยซ้ำ เสียงชื่นชมไม่ต้อง เสียงปรบมือไม่เป็นไร แค่อยากบอกว่าฉันก็อยู่ในระดับเดียวกับพวกเธอเฉยๆ แต่นี่หมายถึงการคุยโวโอ้อวดทั่วไป ที่อยู่ในเลเวลแรกๆ อย่างการพูดชมตัวเอง พูดอวดถึงสิ่งที่ตัวเองมีนะ พฤติกรรมพวกนี้ยังไม่ถูกนับว่าเป็นปัญหาในเชิงจิตวิทยา (แม้จะสร้างความรำคาญในการสนทนาบ้างก็ตาม)
แต่ความรู้สึกนี้มันเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่แม้จะแสดงออกมาเล็กน้อยเพียงใด เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าใต้นั้นมันซ่อนความรู้สึกมากมายเอาไว้อยู่ หากพฤติกรรมนี้มันมากไปถึงขั้นส่งผลต่อการเข้าสังคม เกิดการโกหก แต่งเรื่องราว สิ่งนี้อาจหมายถึงความรู้สึกยังไม่พอใจในตัวเอง ยังไม่มีความสุขกับตัวเองมากพอ จึงอยากเป็นที่ชื่นชอบมากเกินไป จนกลายเป็นปมในใจ อยากให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของความสนใจได้เช่นกัน โดยพวกเขาไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองพูดนั้นคือการโอ้อวด และเริ่มขาดความตระหนักรู้ต่อสายตาที่ผู้อื่นมองเข้ามา
รวบรัดตัดตอนกันสั้นๆ อีกครั้งว่า การโอ้อวดในระดับทั่วไปนั้นไม่นับว่าเป็นปัญหาอะไร เป็นเพียงความชื่นชมในตัวเอง ความมั่นใจในตัวเอง ที่อยากให้ทุกคนได้เห็นว่าเราและเขาอยู่ในระดับเดียวกันเท่านั้นเอง แต่เมื่อพฤติกรรมนี้เลยเถิดไปถึงการแต่งเรื่องเพื่อโอ้อวด มันอาจจะสะท้อนไปถึงปมในใจบางอย่าง ว่าพวกเขาขาดความพอใจในตัวเอง จึงต้องการความสนใจจากผู้อื่นมาทดแทน
แล้วจะรับมือยังไงกับพี่เบอร์ 1 ในที่ทำงานดีนะ?
ถ้าเจอบางครั้งบางคราวก็คงไม่เครียดแบบนี้ แต่ต้องเจอ ต้องร่วมงานกันบ่อยๆ นี่สิ มันหนักใจ เพราะในที่ทำงานมักมีเรื่องของระดับอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อยากไฝว้ใจจะขาด แต่พี่เขาดันเป็นผู้อาวุโส เบอร์ใหญ่ อยากจะเถียงกลับเพราะอยู่ในระดับเดียวกัน คิดว่าน่าจะสู้ไหว แต่ดันเป็นคนที่เราต้องพึ่งพาในการทำงานทั้งวันนี้และวันหน้า
ถ้าไม่อยากฟังคำโม้นี้ตลอดไป ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างแล้วล่ะ งั้นเรามาลองดูคำแนะนำบางส่วนจาก คริส มิกเซน (Chris Miksen) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญสารพัดเรื่องราวเกี่ยวโลกการทำงานดูแล้วกัน
- ปล่อยเบลอ
มาเริ่มกันในระดับเบสิก เอาแบบไม่มีใครบาดเจ็บจากเรื่องนี้ หากความเห็นที่ไม่ได้รับเชิญลอยมา ลองปล่อยให้มันเป็นคำที่ไม่ได้รับเชิญแบบนั้นต่อไป เราอาจเงียบเพื่อฟังคำโปรย พยักหน้าเพื่อส่งสัญญาณว่าได้ยินแล้ว ขอบคุณที่แจ้งให้ทราบ และรีบกลับมาที่บทสนทนาเดิมให้ได้ไวที่สุด คุยเรื่องไหนไว้ เลี้ยวเข้าโค้งเดิมแบบด่วนๆ เอาแบบไม่มีพื้นที่ให้กลับมาแทรกได้ทัน
- ขัดไม่ไหวก็ฉีดยาให้สุด
จังหวะไม่เอื้ออำนวยให้เราปล่อยเบลอ หรือเผลอพูดด้วยสักคำแล้วฝั่งนั้นไม่มีทีท่าจะหยุด งั้นเราก็ต้องลองตามน้ำไปก่อน หากฝั่งนั้นมีความสุขที่จะเล่า ก็ให้เขาเล่าให้สุด เติมเชื้อไฟให้เรื่องราวยิ่งใหญ่สมใจเบอร์หนึ่งในออฟฟิศ ว้าว จริงหรอ เก่งจัง เยี่ยมมาก กล้าหาญที่สุด เมื่อหยุดเขาไม่ไหวก็ฉีดยาให้สุด จนกว่าเจ้าตัวจะพอใจแล้วจากไปเอง
- เตือนความจำกันสักหน่อย
มีครั้งแรก ก็อย่ามีครั้งที่ 2 มีครั้งที่ 2 ก็อย่ามีครั้งที่ 3 แต่ไม่ว่าจะครั้งที่เท่าไหร่ พูดอะไรไปก็ไม่เคยมีใครเก่งกว่าพี่เขาสักที หากอยากลองแก้เผ็ดให้สิ่งที่เขาพูด กลับไปรัดคอเขาสักครั้ง ลองหาจังหวะดีๆ ใครพูดเรื่องไหนขึ้นมา หากพี่เบอร์ 1 นั้นเคยพูดไว้ เราลองพูดแทนเขาดูสักครั้งในจังหวะที่พี่คนนั้นอยู่ด้วย เหมือนช่วยเตือนความจำว่าพี่น่ะเคยคุยโวเรื่องนี้ไว้แค่ไหน แต่วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีวาทะศิลป์เสียหน่อย เพราะควรพูดหาทางหนีทีไล่ไม่ให้เหมือนประชดได้จะเก่งมาก
แต่ยังไงเราเองก็ต้องพิจารณาร่วมด้วยว่า ความขี้โม้ของเขานั้นส่งผลเสียแค่ไหน เขาอาจพูดเพื่อชื่นชมตัวเอง หรือหยิบเรื่องนี้มาดูถูกคนอื่น จนเกิดความรำคาญขึ้นในสภาพแวดล้อมออฟฟิศ มีตัวเลขที่น่าสนใจจาก Kickresume เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมแสนน่าเบื่อของเพื่อนร่วมงาน พบว่า เหล่าคนทำงานกว่า 58% กล่าวว่า เพื่อนร่วมงานที่ทำตัวน่าเบื่อ ส่งผลกับประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรงเลยล่ะ จะบอกโม้เฉยๆ ไม่เดือดร้อนใครไม่ได้แล้วนะ เพราะอีก 41% เขาเบื่อจนหวังว่าสักวันยัยตัวต้นเรื่องคนนั้นจะออกไปให้พ้นเสียที
สุดท้ายไม่ว่าจะอยากประลองฝีมือกับพี่เบอร์หนึ่งด้วยวิธีไหน ก็ลองเลือกให้สาสม เอ้ย เหมาะกับระดับความโม้สักหน่อย ลองดูว่ากว่าพี่เขาจะโม้จบกับงานพี่เขาเสร็จสักที อะไรมันจะเกิดขึ้นก่อนกัน
อ้างอิงจาก