เคยมีสักแวบไหมที่เวลาเรื่องซวยๆ เกิดขึ้นกับเรา เรามักจะรู้สึกว่า เออ ไม่แปลกใจเลยทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดแต่กับกูว์ เพราะเรามันคือคนที่โลกใบนี้ไม่รักอยู่แล้ว
หรือคุณอาจจะเคยดูคลิปเด็กชายกาเบรียลที่ชีวิตนี้ไม่ว่าจะเล่นเกมไหนกับครอบครัว น้องกาเบรียลก็จะต้องได้ฟักแม้วเป็นรางวัลทุกครั้งไป น้องกาเบรียลหรือเด็กชายชูชู เป็นอีกหนึ่งตัวแทนซึ่งแสดงให้เห็นว่า นี่ไง คนที่โชคร้ายที่สุดในโลกอาจมีอยู่จริงๆ นะ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่แค่กาเบรียลหรอก เพราะหลายคนก็คงจะรู้สึกอยู่บ่อยครั้งเหมือนกันว่า ให้มันซวยแต่กับเรานี่แหละ
ทว่า การรู้สึกว่าเป็นคนซวยๆ ก็มีหลายระดับ จากความซวยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการอยากกินของอร่อยแล้วร้านปิด ไม่เอาร่มมาแล้วฝนตก ทำขนมส่วนที่ชอบที่สุดตกพื้น ไปจนถึงความรู้สึกโชคร้ายในชีวิต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นบ่อยจนรู้สึกว่า เรานี่มันโชคร้ายจริงๆ และพาลไม่อยากทำอะไร ใช้ชีวิตไม่สนุกสนาน หรือไม่มั่นใจก็มี
ถ้าเรามองเรื่องความเป็นไปได้ในความโชคร้าย การเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ นอกจากเรื่องการตัดสินใจ หรือบริบทพื้นฐานชีวิตที่ทำให้เข้าถึงโอกาสได้ออกไป เรื่องโชคก็น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่น่ามีคนที่ถูกสาป หรือได้พรตลอดไป
ดังนั้น ในแง่ตัวตนความรู้สึก การมองโชคดีและโชคร้ายอาจเป็นเรื่องของจิตใจที่เราตีความเหตุการณ์ต่างๆ หรืออาจเป็นแง่มุมทางจิตวิทยาแบบย้อนกลับ (Psychological reversal) คือสุดท้ายแล้วเราก็ทำอะไรที่ไม่ควรทำและกลับมาทำร้ายตัวเอง แล้วพอรู้ตัวก็มักจะบอกตัวเองว่า นี่ไงเรามันซวยจริงๆ โดยในแง่งานศึกษาเองก็พบว่า ความรู้สึกโชคร้ายนั้นส่งผลกับแรงจูงใจต่างๆ ของเราด้วย
ประวัติศาสตร์ความซวยส่วนบุคคล
ชีวิตของคนเรา รวมถึงประวัติศาสตร์มนุษย์ คือเหตุการณ์นับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นทั้งแบบสุ่มและเกี่ยวเนื่องกัน แต่การเล่าเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์ส่วนตัวในที่นี้ คือประวัติศาสตร์การเป็นคนสุดซวย เป็นการที่เราเลือกหยิบบางเหตุการณ์ขึ้นมาร้อยเรียง และเน้นย้ำว่านี่ไง ชีวิตฉันมันเป็นอย่างนี้จริงๆ
ในแง่ของความรู้สึกว่าเราเป็นคนโชคร้าย แง่หนึ่งการมองอดีตและบอกว่าเรื่องร้ายๆ มักเกิดขึ้นกับเรานั้น มีมิติในการให้คำอธิบายชีวิตของเราทั้งในแง่บวกและแง่ลบ การอธิบายความรู้สึกเรื่องความซวย เช่น การรู้สึกว่าตัวเราเป็นโชคร้ายคนหนึ่ง การเกิดเรื่องซวยๆ แบบนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราเองก็อาจจะไม่คิดอะไรกับเหตุการณ์ต่อเนื่องนั้น
ความซวยที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งความซวยที่เข้ามาแล้วเราก็ก้าวเดินต่อ ด้วยการมองความซวยที่ผ่านมา โดยที่ลึกๆ ก็คิดว่าเดี๋ยวคงมีโชคดีกับเขาบ้าง การดูน้องกาเบรียลได้ฟักแม้วตลอดเวลาก็เป็นเรื่องขำๆ ได้ เหมือนชีวิตเราที่เจอเรื่องซวยๆ ว่าทำไมถึงเกิดแต่กับกู แต่สุดท้ายแล้วอาจมีคนที่ซวยกว่าเรา หรือซวยร่วมกันกับเรา จนเป็นความขำต่อชีวิต ต่อความซวยที่ทำให้เดินต่อได้
ทว่า บางครั้งการเกิดความซวยขึ้นซ้ำๆ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทำให้เราเริ่มคิดว่าความซวยนี้มันสถิตถาวร จนเรากลายเป็นคนที่โลกไม่รักจริงๆ เริ่มมองโลกหม่นๆ ในฐานะคนที่ซวยที่สุดคนหนึ่งของโลก ซึ่งถ้าเรามองความซวยในฐานะมุมมอง การไฮไลต์ความซวยและนิยามตัวเองให้เป็นคนซวย ด้านหนึ่งต้องอย่าลืมว่าเราเองอาจจะตีความอดีตที่ผ่านไปแล้ว กลับมาเป็นภาพตายตัวว่าเราเป็นคนโชคร้าย และจะโชคร้ายตลอดไป ซึ่งในแง่หนึ่ง การคิดแบบนี้ก็ไม่แฟร์นัก
กรณีน้องกาเบรียลอาจเป็นตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเรามองเห็นน้องเป็นเด็กชายฟักแม้ว ในมุมหนึ่ง น้องอาจจะเล่นเกมอื่นๆ แล้วชนะได้ของอย่างอื่นอีกมากมาย แต่เหตุการณ์เหล่านั้น รวมถึงรีแอคของน้องที่มีต่อรางวัลอาจจะไม่สนุก ไม่น่าจดจำ ภาพของน้องเลยถูกคัดมาแค่บางส่วน ซึ่งก็คือตอนที่ได้ผักเป็นรางวัล แต่ในแง่อื่นๆ ของชีวิต น้องเองอาจจะมีความสุขดี มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นมากมาย แค่เราไม่เห็นหรือไม่จดจำ
ในทำนองเดียวกัน ชีวิตเราอาจมีแนวโน้มแบบเดียวกัน เรามักจดจำในสิ่งที่เรามีอารมณ์ร่วม เราจะจำวันดีๆ ได้ และเราจดจำวันที่เกิดเรื่องร้ายๆ ได้ แต่สุดท้ายเรื่องร้ายๆ อาจจะเป็นที่จดจำในใจของเรามากกว่า เพราะความสุขเล็กๆ น้อยๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่การตกน้ำ ตกท่อ ของหาย เหยียบขี้หมา มักติดอยู่ในใจเรามากกว่าจนเราสามารถจับมันมาต่อกันได้
จิตปรุงแต่ง คิดว่าซวยก็ทำให้ซวย
คำอธิบายเรื่องความซวยและความรู้สึกซวยอาจสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องจิตวิทยาย้อนกลับด้วย พฤติกรรมย้อนกลับทางจิตวิทยา Psychological reversal คือความรู้สึกลึกๆ ในจิตใจ แรงจูงใจ หรือพฤติกรรมต่างๆ ของเราสวนทางกับสิ่งที่เราคิด จนมีพฤติกรรมบ่อนเซาะตัวเอง (self-sabotage)
พฤติกรรมจิตใจย้อนกลับเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมประหลาดของจิตใจ บางคำอธิบายนิยามว่า เป็นลักษณะของคนที่รู้สึกว่า ชีวิตตัวเองดี กำลังมีความสุขในแง่มุมสำคัญๆ เช่น ความรัก การงาน ชีวิต การเงิน จนสุดท้ายในจิตใจของเราจะเลือกทำอะไรต่างๆ ที่ทำให้เหตุการณ์ที่มีความสุข หรือไปได้ดีนั้นสะดุดลง-บ้าง
ลักษณะทางจิตวิทยานี้เป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนและน่าสนใจ แง่หนึ่งอาจสัมพันธ์กับความรู้สึกลึกๆ ว่าเราไม่สมควรได้รับ หรือมีความสุขมากเกินไป เช่น ถ้าเรามีการเงินดี เราก็มักหาทางเอาเงินไปทิ้งให้มันเปลืองๆ หรือถ้ามีความรักดีๆ ก็คิดไปไกล หรือเคยรักคนท็อกซิกมากๆ ก็จะหาคนใหม่ที่แย่ๆ แบบเดิม
สุดท้ายก็บอกว่า นี่ไง เราโชคร้ายจริงๆ ทั้งๆ ที่บางครั้งการตัดสินใจผิดพลาดอาจมาจากแรงขับในใจที่เรารู้สึกว่าตัวเองกำลังโชคดี เลยเลือกทิศทางที่โน้มเอียงไปสู่ความโชคร้าย หรือเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับเป้าหมาย (งานมั่งคง ร่ำรวย มีรักราบรื่น)
รู้สึกโชคร้ายก็อาจทำร้ายตัวเอง
สุดท้ายเราอาจจะกลับมายังแนวคิดที่ดูเป็นหลักการสะกดจิตนิดหน่อยคือ การคิดว่าเราโชคดีก็จะโชคดี คิดว่าซวย บอกว่าซวยก็จะซวย ในแง่งานศึกษานั้นพบว่า การคิดว่าตัวเองโชคดีหรือโชคร้ายนั้นอาจเกี่ยวกับพฤติกรรมของเราจริงๆ
การรู้สึกว่าโชคดีหรือโชคร้ายเป็นประเด็นศึกษาทางจิตวิทยาที่ค่อนข้างจริงจัง ความเชื่อเรื่องดังกล่าวมีทฤษฎีจริงจังมาร่วมอธิบาย ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมของคนเราในความเชื่อเรื่องการเป็นคนโชคดี ผ่านการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตัวเองโชคดี 38% ไม่ได้คิดอะไร และ 14% คิดว่าตัวเองเป็นคนโชคร้าย
ความรู้สึกเป็นคนที่โลกรักไม่รักยังเป็นความเชื่อแบบที่ไม่สมเหตุผล (Irrational Beliefs) ซึ่งความเชื่อแบบนี้ค่อนข้างมีอิทธิพลกับการมองโลก เพราะเป็นความเชื่อที่ค่อนข้างตายตัว ดังนั้น ความเชื่อว่าเป็นคนโชคดีหรือร้ายจึงไปเกี่ยวข้องกับแง่มุมของชีวิต คือการมีหรือไม่มีโอกาสและโชค ซึ่งอันที่จริงเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องภายนอก เป็นเหตุการณ์ที่ทำนายไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ แต่มุมมองโลกจากมุมของโชคนั้นจะกลับมาสัมพันธ์กับความกดทันทางความรู้สึกในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญคือ ทฤษฎีเรื่องคนที่คิดว่าตัวเองโชคร้ายอาจส่งผลในเชิงศักยภาพ ซึ่งสัมพันธ์กับพัฒนาการ หรือการทำงานในสมองส่วนที่เรียกว่า executive functioning โดยส่งผลในระดับกายภาพและการสั่งการ เมื่อสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมตัวเอง ความคิด อารมณ์ และสิ่งต่างๆ เพื่อให้บรรลุไปยังเป้าหมายได้ ความคิดเชิงลบอย่างการคิดว่าตัวเองโชคร้ายจึงเป็นงานศึกษาระดับการทำงานของสมองในระดับกายภาพ
สรุปแล้ว ความรู้สึกว่าเราเป็นคนโชคร้าย จึงนับเป็นอีกหนึ่งมุมมองต่อโลกและการนิยามตัวเอง ซึ่งสัมพันธ์อย่างสลับซับซ้อนกับจิตใจ และการตีความสิ่งต่างๆ รวมถึงการอธิบายตัวเอง ความรู้สึกโชคร้ายอาจเป็นกระบวนการที่ทำให้เราผ่านเรื่องร้ายๆ ได้ บางครั้งการเกิดโชคร้ายอาจเป็นความตั้งใจของจิตใจเรา หรือบางกรณีก็เป็นความรู้สึกที่กลับมาบ่อนเซาะมุมมองต่อโลกของเรา จนนำไปสู่พฤติกรรมที่อาจทำให้เราจัดการ หรือก้าวไปสู่เป้าหมายได้ยากขึ้น เพราะความไม่มั่นใจที่เกิดจากความรู้สึกต่อโชคของตัวเอง
อ้างอิงจาก