ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา มีคดีเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย ทั้งการฟอกเงิน การฉ้อโกงประชาชน และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยผู้กระทำผิดและผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักหน้าค่าตาของสังคม
ด้วยจำนวนของผู้เสียหายนับไม่ถ้วน ทำให้นักกฎหมายหรือทนายได้กลายมาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในช่วยเหลือประชาชน ผ่านหน้าสื่อมวลชนหรือช่องทางออนไลน์ ทำให้ทนายจำนวนหนึ่งกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จนถูกตั้งฉายานามว่า ทนายเซเลป ทนายโซเชียล ทนายฮีโร่ ทนายอเวนเจอร์ส ทนายหน้าสื่อ เป็นต้น
ในปี 2563 พบข้อมูลว่า ทนายความในประเทศไทย มีจำนวนถึง 77,664 คน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นความเฟื่องฟูของวิชาชีพนี้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีทนายกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีเสียเอง กรณีล่าสุดคือ ทนายตั้ม–ษิทรา เบี้ยบังเกิด อดีตที่ปรึกษาทางกฎหมายของมาดามอ้อย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาถึง 4 คดี เช่น ข้อหาฉ้อโกง ร่วมกันฟอกเงินฯ รวมถึงทนายความที่มีชื่อเสียงบางคน ที่มีคดีถูกฟ้องร้องด้วยเช่นกัน
จนเกิดการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณทนาย The MATTER จึงพูดคุยกับ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมธาธิการการเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร และผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA รวมถึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไขกระจ่างข้อสงสัยถึงบทบาทที่แท้จริงของวิชาชีพนี้
ทนายต้องยึดหลักกฎหมาย ไม่ใช่ยึดผลประโยชน์ของตัวเอง
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายที่ทำคดีเรียกค่าเสียหาย อาทิ คดีหุ้นสตาร์ค และ คดีซิปเม็กซ์ ซึ่งมีประชาชนผู้เสียหายหลายหมื่นราย และมูลค่าความเสียหายรวมหลักหมื่นล้านบาท แสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์ทนายเซเลปว่า
“สำหรับผมไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย ทนายความ นักวิชาการด้านกฎหมาย นักรณรงค์สิทธิมนุษยชน หรือผู้ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องศาล ที่จะกลายเป็นบุคคลที่สาธารณะให้ความสนใจ เพราะเราอยู่ในสังคมที่ควรจะยกกฎหมายเป็นใหญ่”
วีรพัฒน์ย้ำว่า การที่ทนายอยู่บนหน้าสื่อควรเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ เพราะไม่ต่างกับกรณีที่สื่อมวลชน หรือนักวิชาการออกมาให้ความเห็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนักกฎหมายก็มีบทบาทที่จะให้ความคิดเห็นตรงนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ที่มีบทบาทในการนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งในทางกฎหมาย ได้รับการรายงานในสื่อ
“แต่คำถามคือ เขารายงานเรื่องอะไร รายงานเรื่องหลักกฎหมาย หรือรายงานเรื่องอื่น ถ้ารายงานเรื่องอื่น เช่น ไปเที่ยวที่ไหน ร่ำรวยมาอย่างไร ใครจะไปทำที่ไหนกับใครอย่างไร มันก็คงไม่ใช่เรื่องทางกฎหมาย เพราะสำหรับผมแล้ว บทบาทที่แท้จริงของทนายคือ การปกป้องผลประโยชน์ของลูกความเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย”
“เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นทนายของใครก็แล้วแต่ คุณต้องยึดหลักกฎหมาย และปกป้องผลประโยชน์ของลูกความของตน แต่ถ้าคุณยึดหลักผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง อันนี้ก็ทำผิดหลัก”
ขณะที่แดน (นามสมมติ) นักศึกษานิติศาสตร์ ปี 3 มองถึงบทบาทและหน้าที่ของทนายจากมุมมองของเขา
“ผมมองว่าทนายต้องยึดกับความตั้งใจในการทำงานแต่แรกว่า ‘คุณจะทำงานเพื่อสังคมหรือผู้อื่นอยู่แล้วหรือเปล่า’ โดยเฉพาะทนายที่มีโอกาสเข้าสู่สื่อ และมีอำนาจทางด้านใดด้านหนึ่งของสังคม
“เมื่อคนๆ หนึ่งกลายเป็นผู้มีอิทธิพลและยังมีความรู้ด้านกฎหมาย ก็ควรให้ความรู้ด้านกฎหมายอย่างถูกต้องและตามหลักการ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะรู้เท่าทัน ดังนั้นถ้าใส่อารมณ์หรือความเห็นของตัวเองเข้าไป คนฟังก็อาจคล้อยตาม”
แดน มองว่าสิ่งที่ทนายควรทำเมื่อมีพื้นที่สื่อคือ การยึดมั่นตามหลักการ ไม่ใส่ความเห็นของตัวเอง แม้การแสดงความเห็นมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ตามหลักวิชาชีพ ทนายควรจะเป็นกลางโดยเห็นแก่ทุกฝ่าย ไม่ตัดสิน ไม่ชี้นกเป็นนก ไม่ชี้ไม้เป็นไม้
ขณะที่ เบส (นามสมมติ) นักศึกษานิติศาสตร์ ปี 3 ก็แสดงความเห็นว่า เขาเห็นด้วยที่จะมีทนายความ คอยให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนบนหน้าสื่อ เพราะถือเป็นการกระจายความรู้ทางกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ
“แต่ในปัจจุบัน เราจะสังเกตเห็นได้ว่าการอธิบายข้อกฎหมายของทนายบางท่าน อาจจะมีการพาดพิงถึงบุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรืออาจมีการพูดที่เป็นการดูหมิ่น และไม่ให้เกียรติผู้อื่น” เบส กล่าว
“ฐานบทบาทอาชีพทนายความ หน้าที่หลักๆ เท่าที่ผมรับรู้มาด้วยตัวเองคือ การให้ข้อมูลบนหลักการพื้นฐานของกฎหมาย พูดอิงหลักการโดยไม่อาศัยอารมณ์หรืออคติส่วนตัว รวมทั้งไม่ควรไปพาดพิงทนายความของอีกฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย”
แสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมไทยพึ่งพาไม่ได้
วีรพัฒน์ ระบุถึงปรากฏการณ์ทนายชื่อดังว่า “เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบกฎหมายบ้านเรา อาจทำให้ประชาชนรู้สึกจำเป็นต้องไปพึ่งคนดังในทีวีมากกว่าตำรวจหรือระบบราชการ”
ดังนั้น ระบบกฎหมายต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกสบายใจ ที่จะแจ้งความ โดยไม่ต้องไปพึ่งคนดัง ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ระบบกฎหมาย ระบบราชการ จำเป็นต้องทำให้คนเข้าถึงง่าย ไปแจ้งความแล้วต้องมีความคืบหน้า ไม่ใช่ต้องให้ทนายไปแถลงข่าว คดีถึงจะคืบหน้า
“สื่อต้องช่วยรายงานข่าวเกี่ยวกับทนายความที่มีฝีมือและตั้งใจทำงานบ้าง ถึงแม้คดีที่พวกเขาทำอยู่จะไม่ได้น่าตื่นเต้น เช่น คดีเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยาวชน คดีสิทธิมนุษยชน และคดีการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง”
วีรพัฒน์ กล่าวปิดท้ายถึงบทบาทสำคัญที่ทนายต้องพึงกระทำว่า คือการรักษาผลประโยชน์ของลูกความให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย แม้ลูกความจะเป็นพ่อค้ายาเสพติด ทนายความก็ต้องช่วยให้พ่อค้ายาเสพติดรู้ว่าสิทธิในการต่อสู้คดีของเขาคืออะไร ไม่ใช่ไปช่วยซ้ำเติมความผิด แต่ต้องช่วยให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้
“เพราะกระบวนการยุติธรรมต้องมีทั้งผู้ที่กล่าวหาและผู้ที่แก้ต่าง ถือเป็นสิ่งสำคัญมากของระบบทนายความ ถ้าทุกคนต่างตัดสินใจเรียบร้อยแล้วว่าคนผิดคือคนนี้ ไม่มีใครช่วยเขาเลย มันก็ไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ถูกกล่าวหา”
ส่วนนักศึกษานิติศาสตร์อย่าง เบส มีความเห็นที่คล้ายคลึงกับวีรพัฒน์ว่า ปรากฏการณ์ทนายหน้าสื่อ เกิดจากที่ประชาชนไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม จึงต้องไปพึ่งพาคนที่มีชื่อเสียงหรือมีฐานเสียงในสื่อ
อย่างไรก็ดี เบสคิดว่าแต่เมื่อทนายเหล่านี้มีโอกาสไปให้ความเห็นในสื่อ ก็ควรที่จะดำรงตนเป็นกลาง ไม่เพียงเท่านั้น ต้องอธิบายช่องทางขอความช่วยเหลือหรือข้อมูลที่จำเป็น เมื่อพวกเขาได้รับการละเมิดสิทธิ เช่น หากประสบปัญหาอย่างนี้ สามารถไปร้องเรียนที่ไหนหน่วยงานไหนได้บ้าง
ส่วนแดนระบุว่า ตัวระบบกฎหมายมีปัญหามั้ยมีแน่นอน มันดูค่อนข้างเยอะ เข้าใจยาก จนไม่เข้าถึงประชาชน นอกเหนือจากนี้ก็เกิดจากที่ประชาชนไม่ไว้กระบวนการยุติธรรม ไม่ไว้ใจแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าจะได้รับการปกป้องสิทธิที่พึงมีของตนอย่างแท้จริง
“ผู้คนจึงหันเข้าหาสิ่งที่ตอบรับเขาได้ดีกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่ทนายที่มีชื่อเสียงบนหน้าสื่อ แต่ยังรวมถึงดารา กลุ่มคนที่ออกตัวเพื่อประชาชนได้ ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมมีปัญหามากที่สุด จนทำให้คนธรรมดาต้องไปพึ่งพาคนกลุ่มนี้”
ตัวแทนเสียงจากคนเรียนกฎหมาย ต่อความยุติธรรมที่อ่อนแรง
แนน (นามสมมติ) นักศึกษานิติศาสตร์ ปี 3 เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ร่วมพูดคุยกับ The MATTER โดยเธอกล่าวว่า “ในฐานะคนที่เรียนนิติฯ ก็หวังว่าตัวเองจะสามารถรักษาหลักการพื้นฐานของนิติศาสตร์ไว้ได้ นั่นก็คือการช่วยเหลือผู้คน แต่ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาความรู้ทางด้านวิชาการ และกฎหมายให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน”
ถัดมาที่ เบส ซึ่งเขาระบุว่า “หากประชาชนสามารถไว้เนื้อเชื่อใจระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมได้มากกว่านี้ ก็จะไม่เกิดการสถาปนาบุคคลที่อ้างว่าให้ความช่วยเหลือ แต่อาจเรียกรับผลประโยชน์ในภายหลังขึ้นมาได้
และเขายังเสริมความคาดหวังอีกอย่างหนึ่งว่า อยากให้หน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ถึงหน่วยงาน ที่คอยให้ความช่วยเหลือกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่กำลังดำรงอยู่ ก็คือการที่ประชาชนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม
ท้ายที่สุดแล้ว แดนกล่าวปิดท้ายว่า อย่างน้อยอยากให้ยึดถือและเคารพในสิ่งที่เรียนมาว่า ต้องให้ความสนใจหรือเคารพกับสิ่งไหน เพราะคนธรรมดามักจะมองคนที่รู้กฎหมายว่าเป็นคนที่ช่วยเหลือเขาได้ อาชีพนี้จึงเปรียบเสมือนหมอ พยาบาล ที่ไม่ได้มีหน้าที่รักษาร่างกาย แต่เป็นการรักษาสิทธิของพวกเขา
“รักษาจิตวิญญาณของความรู้ที่คุณพยายามพากเพียรเรียนมาให้มากที่สุด” แดน ระบุ