‘พรรคก้าวไกล’ เป็นพรรคที่ 112 ที่ถูกยุบ นับตั้งแต่จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 – ในระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา ภารกิจหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำมาโดยตลอด ก็คือการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่หมดสภาพไปด้วยตัวเองอยู่แล้ว หรือเป็นการยุบพรรคในเชิง ‘ธุรการ’ หรือการยุบพรรคที่ยังคงดำเนินการอยู่โดยไม่สมัครใจ
ก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว 111 พรรค – ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 7 สิงหาคม ‘พรรคก้าวไกล’ จึงกลายเป็นพรรคที่ 112 ที่ถูกยุบ
The MATTER ชวนดูสถิติการยุบพรรค 27 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมพูดคุยกับ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ
อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 16.10 น.
การยุบพรรค ‘ทางธุรการ’ vs. การยุบพรรคที่ยัง ‘แอ็กทีฟ’ อยู่ โดยไม่สมัครใจ
นับตั้งแต่ปี 2540 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบแล้ว ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวม 111 พรรค แบ่งเป็น
- 81 พรรค ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
- 4 พรรค ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549
- 18 พรรค ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
- 4 พรรค ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
- และ 4 พรรค ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
เข็มทองชี้ว่า ทั้งหมด พอจะแบ่งการยุบพรรคได้เป็น 2 แบบ หนึ่ง การยุบพรรค ‘ทางธุรการ’ ซึ่งหมายถึงการยุบพรรคที่หมดสภาพหรือไม่เคลื่อนไหวไปก่อนแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และ สอง การยุบพรรคที่ยัง ‘แอ็กทีฟ’ อยู่ หรือยังอยากทำงาน แต่ถูกบังคับให้ยุติการดำเนินการโดยไม่สมัครใจ อย่างหลังจะเป็นที่สนใจของนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญมากกว่า
การยุบพรรค ‘ทางธุรการ’ สะท้อนให้เห็นได้ในกรณีของพรรคการเมืองจำนวนมากที่ถูกยุบตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีตัวอย่างสาเหตุของการถูกยุบยอดฮิต เช่น
- สมาชิก/สาขา พรรค ไม่ครบ ตามมาตรา 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เช่น พรรคประชาชาติไทย สันติภาพไทย และรวมพลังไทย
- รายงานการดำเนินกิจการในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 35 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และ มาตรา 42 วรรคสอง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 เช่น พรรคชีวิตที่ดีกว่า พลังแผ่นดินไท และบำรุงเมือง
- รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 62 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เช่น พรรคชาติประชาธิปไตย พลังธรรม และธรรมชาติไทย
- การประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ตามมาตรา 26 พ.ร.ป .ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เช่น พรรคแรงงานไทย รู้แจ้งเห็นจริง และไทยช่วยไทย
- ที่ประชุมใหญ่พรรคมีมติยุบ ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 26 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เช่น พรรคสร้างสรรค์ไทย เสรีไท และรักษ์ถิ่นไทย
ส่วนในกรณีของการยุบพรรคโดยไม่สมัครใจ เข็มทองชี้ว่า พรรคไทยรักไทยคือจุดเริ่มต้น “เป็นเคสแรกเลย ตั้งแต่ปี 2540 ที่เป็นการยุบพรรคตามนิยามนี้เลย จะเห็นว่ามันต้องมีข้อหากระทำการเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”
อย่างไรก็ดี กรณีอย่างพรรคไทยรักไทย รวมถึงพลังประชาชน ก็ยังเกี่ยวเนื่องมาจากการทำผิดกติกาการเลือกตั้ง เช่น พรรคไทยรักไทยที่ถูกวินิจฉัยในเรื่องการจ้างพรรคเล็กให้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2549 หรือพรรคพลังประชาชน ที่มาจากการที่ ยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคขณะนั้น ถูกวินิจฉัยว่าทุจริตเลือกตั้ง สส. เชียงราย
“แต่พอมาถึงหลังปี 2560 ก็จะเห็นว่า การยุบพรรคมีลักษณะเป็นการยุบเพื่อลงโทษอะไรบางอย่าง คือมันไม่ใช่เรื่องของการพิทักษ์การเลือกตั้งแล้ว แต่เป็นเรื่องของการพิทักษ์อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตัวอย่างในกรณีนี้ก็คือ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคก้าวไกล
มาตรฐานสากลของการยุบพรรค
“คำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นคนพิจารณา [ในการยุบพรรค] ไหม คำตอบคือ ใช่ ตามหลักสากล คุณต้องยุบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ”
อย่างไรก็ดี เข็มทองชวนตั้งคำถามต่อมาว่า ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไทยได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้วยหรือเปล่า
‘มาตรฐานสากล’ ที่ว่านี้คืออะไร? เข็มทองยกตัวอย่างมาตรฐานของคณะกรรมการเวนิส (Venice Commission) หรือคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย (European Commission for Democracy through Law) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับสภายุโรป (Council of Europe)
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1999 คณะกรรมการเวนิสได้ออก แนวปฏิบัติว่าด้วยการสั่งห้ามและยุบพรรคการเมืองและวิธีการที่ใกล้เคียง (Guidelines on Prohibition and Dissolution of Political Parties and Analogous Measures) เป็นหลักการ 7 ข้อ ซึ่งเข็มทองได้ยกบางประการที่สำคัญๆ คือ
“ข้อที่หนึ่ง มันยังต้องเคารพสิทธิมนุษยชนอยู่นะ” เขาระบุ “ข้อที่สอง ต้องใช้ได้เฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองสนับสนุนความรุนแรงในการล้มล้างระบอบการปกครอง เช่น ก่อการร้าย การสู้รบด้วยอาวุธ องค์กรลับ การรณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยสันติไม่ถือว่าเป็นการกระทำในข้อนี้
“ข้อต่อไปก็คือ พรรคการเมืองต้องไม่ควรรับผิดในการกระทำของสมาชิกเพียงคนใดคนหนึ่ง ก็คือพูดง่ายๆ มันต้องเป็นการกระทำของพรรคนะ พรรคต้องมีการรับรอง สนับสนุน มีการออกตัวว่าเป็น ทำในนามของพรรคต่างๆ [ถึงจะยุบพรรคได้]” เข็มทองอธิบาย
“และผู้ที่จะยุบได้จะต้องเป็นองค์กรตุลาการ ซึ่งคดีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ จะต้องผ่านกระบวนการที่เคารพหลักประกันสิทธิ ความโปร่งใส และการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
“ตามสากล ใช่ครับ ศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นคนดูแลเรื่องนี้ อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำถามคือ ศาลรัฐธรรมนูญเราทำได้ตามมาตรฐานสากลหรือเปล่า และทำถึงหรือเปล่า” เข็มทองตั้งคำถามทิ้งท้าย